กสทช.เร่งปลดล็อกหน่วยตรวจสอบเทคโนโลยีขั้นสูง ลดพึ่งพาต่างประเทศ 'โดรน-เรดาร์' ไม่ต้องรอข้ามปี ขยายใบอนุญาตเป็น 5 ปี หนุนอุตสาหกรรมโตเร็ว
พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านกิจการกระจายเสียง ในฐานะประธานอนุกรรมการด้านคลื่นความถี่และมาตรฐานทางเทคนิค เปิดเผยว่า กสทช.ได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ (Public Hearing) เพื่อปรับปรุงประกาศ กสทช. ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการอนุญาตให้จัดตั้งหน่วยตรวจสอบอุปกรณ์โทรคมนาคม
ปัจจุบัน ไทยยังไม่สามารถจัดตั้ง หน่วยตรวจสอบประเภทที่ 1 ซึ่งจำเป็นสำหรับการทดสอบอุปกรณ์เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น เรดาร์ (Radar) ในรถยนต์, โดรน (Drone) และ อุปกรณ์อัลตร้า-ไวด์แบนด์ (Ultra-wideband) รุ่นใหม่ ซึ่งต้องดำเนินการตามมาตรฐาน มอก.17025-2561 หรือเทียบเท่า ทำให้ภาคอุตสาหกรรมต้องส่งอุปกรณ์ไปตรวจสอบในต่างประเทศ ส่งผลให้เกิดความล่าช้าในการขึ้นทะเบียนนานเป็นปี
◉ ย้อนรอยปัญหา
กสทช.เคยออกประกาศฉบับแรกเมื่อวันที่ 25 ธ.ค.63 เพื่อให้มีหน่วยตรวจสอบ 2 ประเภท ได้แก่ 1.ประเภทที่ 2 (ที่มีอยู่แล้ว) ได้รับการรับรองจากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ศูนย์ PTEC และสถาบัน EEI และ 2.ประเภทที่ 1 (ยังไม่สามารถจัดตั้ง) เนื่องจากหลักเกณฑ์เดิมไม่รองรับเงื่อนไขด้านคุณสมบัติผู้ตรวจประเมิน
◉ แก้หลักเกณฑ์ เพิ่มอายุใบอนุญาต
พล.อ.ท.ธนพันธุ์ ระบุว่า นอกจากการปรับเงื่อนไขด้านคุณสมบัติของผู้ตรวจประเมินแล้ว กสทช.ยังมีแผน ขยายอายุใบอนุญาตจาก 3 ปี เป็น 5 ปี เพื่อให้เหมาะสมกับแนวทางพัฒนาอุตสาหกรรม
หากปรับปรุงหลักเกณฑ์เสร็จสิ้นและมีการประกาศใช้ คาดว่า ไทยจะมีหน่วยตรวจสอบมาตรฐานสากลเพิ่มขึ้น ลดการพึ่งพาการตรวจสอบจากต่างประเทศ และช่วยให้ภาคอุตสาหกรรมสามารถยื่นจดทะเบียนและรับรองอุปกรณ์โทรคมนาคมได้สะดวกและรวดเร็วขึ้น