การเสนอซื้อ "โอเพ่น เอไอ" (OpenAI) มูลค่า 97,400 ล้านดอลลาร์โดยกลุ่มทุนที่นำโดยอีลอน มัสก์ ได้จุดชนวนความขัดแย้งครั้งใหม่ในวงการเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างมัสก์และแซม อัลต์แมน ซีอีโอ OpenAI ผู้ที่เคยร่วมก่อตั้งบริษัทด้วยกันในปี 2015
ในขณะที่ยังไม่แน่นอนว่าที่มาของข้อเสนอนี้คือความขัดแย้งบาดลึกขนาดไหน แต่สิ่งที่ชัดเจนคือมัสก์และพันธมิตร ที่ประกอบด้วยกลุ่ม xAI, Baron Capital Group และ Emanuel Capital ได้ยื่นข้อเสนอซื้อองค์กรไม่แสวงผลกำไรที่ควบคุม OpenAI อยู่ โดยมัสก์อ้างว่าต้องการให้ OpenAI กลับสู่รากฐานเดิม ในฐานะองค์กรโอเพ่นซอร์สที่เน้นความปลอดภัยและประโยชน์สาธารณะ
อย่างไรก็ตาม อัลต์แมนได้ตอบโต้อย่างเผ็ดร้อนบนเวทีงานประชุมที่ตัวเองไปเข้าร่วม โดยไม่เพียงโพสต์บน X หรือทวิตเตอร์เดิมว่าพร้อมซื้อ Twitter คืนในราคา 9,740 ล้านดอลลาร์ แต่ยังให้สัมภาษณ์กับสื่อใหญ่อย่างรอยเตอร์ (Reuters) ที่ปารีสว่าดีลนี้ตลกมาก เพราะ OpenAI ไม่ได้อยู่ในสถานะเปิดขายให้คนอื่นเข้ามาซื้อ นี่จึงเป็นแค่กลยุทธ์หนึ่งของอีลอน มัสก์ ที่พยายามมารบกวนปั่นป่วน OpenAI เท่านั้น
ล่าสุด เจ้าพ่อ OpenAI ได้แจ้งต่อพนักงานแล้วว่า บอร์ดหรือกรรมการบริหาร OpenAI จะปฏิเสธ "ข้อเสนอที่อ้างว่ามี" นี้แน่นอน ซึ่งเป็นการปิดประตูที่อาจมีมุมมองน่าสนในทางธุรกิจซ่อนอยู่
***เรื่องนี้สำคัญตรงไหน?
หนึ่งในความสำคัญของดรามาเรื่อง "มัสก์เสนอซื้อ OpenAI" นั้นอยู่ที่กรอบเวลาในการเป็นข่าว เนื่องจากข้อเสนอของมัสก์ นั้นเกิดขึ้นในจังหวะเวลาที่ไม่ธรรมดา โดย OpenAI นั้นกำลังอยู่ระหว่างการเจรจากับซอฟต์แบงก์ (SoftBank) เพื่อระดมทุนกว่า 40,000 ล้านดอลลาร์ บนราคาประเมินมูลค่าบริษัทที่ 300,000 ล้านดอลลาร์
ดังนั้น ราคาเสนอซื้อของมัสก์จึงต่ำกว่ามูลค่าตลาดปัจจุบันของ OpenAI อย่างมีนัยสำคัญ แถม xAI ของมัสก์ก็เพิ่งระดมทุนได้ 6,000 ล้านดอลลาร์ที่มูลค่า 40,000 ล้านดอลลาร์เท่านั้น
ข้อหาว่ามัสก์ต้องการปั่นป่วน OpenAI จึงฟังขึ้น เพราะนักวิเคราะห์มองว่ามัสก์นั้นแทบจะขยับมาซื้อ OpenAI ไม่ได้ เนื่องจากมัสก์และพันธมิตรจะต้องระดมทุนมหาศาล ซึ่งเพิ่มภาระให้มากขึ้นจากเดิมที่มีการซื้อ Twitter (ปัจจุบันคือ X) มูลค่า 44,000 ล้านดอลลาร์อยู่แล้ว ในอีกด้าน หากดีลนี้เกิดขึ้นก็จะมีประเด็นด้านการต่อต้านการผูกขาด ซึ่งจะถูกวิจารณ์แน่นอนหากมีการควบรวม xAI กับ OpenAI
ที่สุดแล้ว คณะกรรมการ OpenAI มีหน้าที่ต้องพิจารณาข้อเสนอในฐานะองค์กรไม่แสวงผลกำไร แม้จะไม่สนใจก็ตาม ดังนั้น ไม่ว่าผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร เหตุการณ์นี้สะท้อนให้เห็นถึงความขัดแย้งเชิงลึกในวงการ AI ระหว่างแนวคิดการพัฒนาแบบเปิดเผยเพื่อประโยชน์สาธารณะ กับการพัฒนาในเชิงพาณิชย์ ซึ่งทั้ง 2 ด้านล้วนมีโอกาสส่งผลต่อทิศทางการพัฒนาเทคโนโลยี AI ในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้