xs
xsm
sm
md
lg

ส่องอินเทอร์เน็ตพม่า "Starlink" เน็ตเสรีหรือเบื้องหลังแก๊งคอลเซ็นเตอร์?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เป็นที่รู้กันว่ารัฐบาลทหารพม่าใช้การปิดกั้นอินเทอร์เน็ตเป็นเครื่องมือควบคุมประชาชนและจำกัดการเคลื่อนไหวของกลุ่มต่อต้าน แต่ท่ามกลางการปิดกั้นเหล่านี้ เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียม "สตาร์ลิงค์" (Starlink) ของอีลอน มักส์ (Elon Musk) ได้กลายเป็นความหวังของประชาชน เพื่อฝันในการเชื่อมต่อและไม่ถูกตัดขาดจากโลกภายนอก

ปัจจุบัน มีรายงานว่าอินเทอร์เน็ตของ Starlink ถูกให้บริการในมากกว่า 60 แห่งในพื้นที่ของฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารพม่า เช่น ซะไกง์หรือสะกาย มัคเวย์ คะเรนนี และคะฉิ่น ซึ่งแม้จะทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้อย่างอิสระมากขึ้น แต่ Starlink ก็กำลังเป็นที่จับตามอง โดยเฉพาะในกรณีของขบวนการหลอกลวงออนไลน์ที่ใช้ประโยชน์จากเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงนี้เพื่อดำเนินธุรกิจผิดกฎหมาย

ในขณะที่ Starlink อาจถูกใช้งานทั้งในเชิงบวกและเชิงลบ แต่ต้นสังกัดอย่าง "สเปซ เอ็กซ์" (SpaceX) ก็ยังคงเดินหน้าขยายเครือข่ายอย่างต่อเนื่อง โดยในต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2025 บริษัท SpaceX มีกำหนดการปล่อยดาวเทียม Starlink เพิ่มอีก 23 ดวงผ่านจรวด Falcon 9 จากฐานปล่อยจรวด Vandenberg Space Force Base เป้าหมายหลักของการขยายเครือข่ายคือการปรับปรุงการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตในพื้นที่ห่างไกลและเพิ่มประสิทธิภาพของบริการ


นอกจากพม่า วันนี้ SpaceX ถูกใช้งานในหลายพื้นที่ทั่วมุมโลก กลายเป็นทางเลือกของการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตที่ไม่ต้องโยงสายให้วุ่นวาย ขอเพียงมีงบประมาณมากพอที่จะติดตั้งระบบรับสัญญาณ ซึ่งประเทศที่ยากจนอาจจะได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มทุน ขณะที่บางประเทศอาจได้รับการสนับสนุนจากผู้ที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับฝ่ายกำกับดูแล

***วิบากกรรมเน็ตพม่า


จากข้อมูลของโครงการ Myanmar Internet Project มีการบันทึกการปิดกั้นอินเทอร์เน็ตมากถึง 329 ครั้ง และองค์กร ATHAN รายงานว่าทั้ง 330 เขตในพม่าล้วนเคยประสบปัญหาการตัดขาดการสื่อสารบางรูปแบบในช่วงปี 2024 ส่งผลให้ประชาชนไม่สามารถติดตามข่าวสารหรือแจ้งเตือนภัยเกี่ยวกับปฏิบัติการทางทหารได้อย่างทันท่วงที


นอกจากนี้ รัฐบาลทหารยังออกกฎหมายความมั่นคงทางไซเบอร์ฉบับใหม่ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2025 ซึ่งห้ามการใช้ VPN ผู้ฝ่าฝืนอาจถูกจำคุกสูงสุด 6 เดือน และเสียค่าปรับ กฎหมายดังกล่าวทำให้ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงโซเชียลมีเดีย ข่าวสารระหว่างประเทศ และบริการทางการเงินออนไลน์ได้

Starlink จึงเป็นเหมือนเส้นทางหลักที่ชาวพม่าใช้เชื่อมโลก โดย Starlink มีข้อดีที่สำคัญ คือการทำงานในวงโคจรต่ำ (Low Earth Orbit – LEO) ซึ่งช่วยลดความหน่วงของสัญญาณ และสามารถให้บริการอินเทอร์เน็ตที่รวดเร็วและเสถียรกว่าระบบดาวเทียมแบบเดิม ทั้งหมดนี้ถือเป็นเหรียญ 2 ด้าน เนื่องจากการขยายตัวของโครงการ Starlink ได้ก่อร่างความกังวลเกี่ยวกับขยะอวกาศและความเสี่ยงจากการชนกันของดาวเทียมที่มีจำนวนมากขึ้นในวงโคจร

ในอีกด้าน มุมมืดของ Starlink ก็กำลังเป็นที่จับตามอง โดยเฉพาะในกรณีของขบวนการหลอกลวงออนไลน์ที่อาจใช้ประโยชน์จากเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงนี้เพื่อดำเนินธุรกิจผิดกฎหมาย จนมีรายงานว่ากลุ่มอาชญากรรมดังกล่าวดำเนินกิจกรรมอยู่ในอย่างน้อยหลายสิบแห่งทั่วพม่า และมีผู้เสียหายจากการหลอกลวงหลายแสนคน

ลักษณะการติดตั้งระบบรับสัญญาณอินเทอร์เน็ตดาวเทียม Starlink
การจับกุมแก๊งคอลเซ็นเตอร์ข้ามพรมแดนไทย-พม่าเมื่อกุมภาพันธ์ 2025 ยังเผยให้เห็นว่าขบวนการเหล่านี้อาจใช้ Starlink เป็นโครงสร้างพื้นฐานหลักในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ทำให้สามารถปฏิบัติการได้อย่างคล่องตัวโดยไม่ต้องพึ่งพาเครือข่ายของรัฐบาล การใช้ Starlink ทำให้เจ้าหน้าที่ปราบปรามอาชญากรรมไซเบอร์ติดตามเส้นทางการเชื่อมต่อและต้นตอของกลุ่มมิจฉาชีพได้ยากขึ้น ทำให้อนาคตของ Starlink ในพม่าถือเป็นเรื่องที่น่าจับตามอง ทั้งในแง่ความท้าทายและแนวทางแก้ไข

***Starlink ยังเด่น


ข่าวล่าสุดเกี่ยวกับ Starlink ยังคงตอกย้ำว่า Starlink จะเป็นทางเลือกสำคัญสำหรับการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตในพื้นที่ห่างไกล โดยเฉพาะในประเทศที่มีโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมที่ล้าหลัง เช่น โมซัมบิก แซมเบีย และซิมบับเว อย่างไรก็ตาม ในแอฟริกาใต้ Starlink ยังไม่สามารถให้บริการได้ เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้บริษัทต่างชาติที่ต้องการดำเนินธุรกิจด้านโทรคมนาคมต้องมีผู้ถือหุ้นเป็นคนท้องถิ่นอย่างน้อย 30% ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่ Elon Musk วิจารณ์ว่าเป็นการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ

แม้ว่า Starlink จะไม่มีใบอนุญาตอย่างเป็นทางการในแอฟริกาใต้ แต่ก็มีรายงานว่าผู้ใช้จำนวนมากนำอุปกรณ์จากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาใช้งาน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการควบคุมอินเทอร์เน็ตดาวเทียมเป็นเรื่องท้าทายสำหรับรัฐบาลท้องถิ่น นี่อาจเป็นตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนถึงสถานการณ์ในพม่า ซึ่งรัฐบาลพยายามจำกัดอินเทอร์เน็ต แต่เทคโนโลยีของ Starlink ทำให้ประชาชนสามารถเชื่อมต่อกับโลกภายนอกได้อยู่ดี

 SpaceX ถูกใช้งานในท้องทะเล เป็นอีดทางเลือกของการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตที่ไม่ต้องโยงสายให้วุ่นวาย
แม้ประเด็นของ Starlink ในแอฟริกาใต้จะสะท้อนให้เห็นปัญหาเรื่องกฎระเบียบและข้อจำกัดทางกฎหมายที่ส่งผลกระทบต่อการให้บริการอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียม ซึ่งอาจไม่มีนัยสำคัญโดยตรงต่อประเด็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่ชายแดนไทย-พม่า แต่ก็มีจุดที่เชื่อมโยงกันได้ โดยเฉพาะเรื่องช่องโหว่ของการให้บริการ Starlink เพราะแม้จะถูกจำกัดในบางประเทศ แต่ก็มีวิธีเลี่ยง เช่น การนำอุปกรณ์เข้ามาใช้อย่างผิดกฎหมาย เหมือนกรณีในแอฟริกาใต้ที่ประชาชนซื้ออุปกรณ์จากประเทศเพื่อนบ้าน และในพม่าเอง ถือว่าเป็นไปได้สูงที่ขบวนการมิจฉาชีพจะใช้แนวทางเดียวกันในการลักลอบใช้งานอินเทอร์เน็ตของ Starlink

ดังนั้น มุมมองที่เราจะต้องติดตามให้ดีนับจากนาทีนี้ คือความท้าทายของการกำกับดูแล Starlink ในหลายประเทศ โดยควรต้องตั้งคำถามว่ารัฐบาลไทยหรือพม่าจะสามารถควบคุมการใช้ Starlink ของกลุ่มอาชญากรรมได้อย่างไร ซึ่งหากทำได้ Starlink จึงจะสามารถรอดพ้นจากข้อหา "เบื้องหลังแก๊งคอลเซ็นเตอร์" ไปได้




กำลังโหลดความคิดเห็น