xs
xsm
sm
md
lg

Kaspersky ชี้ภัยไซเบอร์ไทยยังน่าห่วง สถิติลดลงแต่ความเสียหายพุ่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การโจมตีทางไซเบอร์ในประเทศไทยแสดงให้เห็นแนวโน้มที่น่าสนใจในปี 2024 จากรายงานล่าสุดของแคสเปอร์สกี้ (Kaspersky) พบแม้จำนวนภัยคุกคามจะลดลง แต่ความซับซ้อนและความเสียหายกลับเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ข้อมูลจากแคสเปอร์สกี้ระบุว่า ในปี 2024 มีการตรวจพบและป้องกันภัยคุกคามบนเว็บที่พุ่งเป้าโจมตีผู้ใช้ไทยกว่า 10.2 ล้านรายการ เฉลี่ยวันละ 28,130 รายการ ลดลง 20.55% จากปี 2023 ที่พบการโจมตี 12.9 ล้านรายการ โดยผู้ใช้ไทย 24.40% ตกเป็นเป้าหมายของภัยคุกคามบนเว็บ

  นายเซียง เทียง โยว ผู้จัดการทั่วไปประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แคสเปอร์สกี้
แม้จำนวนภัยคุกคามจะลดลง แต่ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) เผยว่าในช่วงปี 2022-2024 คนไทยสูญเสียเงินจากการฉ้อโกงออนไลน์สูงถึง 79,569 ล้านบาท หรือเฉลี่ยวันละ 77 ล้านบาท จากจำนวนการร้องเรียนกว่า 773,118 เรื่อง

***เปลี่ยนโฉมรูปแบบการโจมตี

นายเซียง เทียง โยว ผู้จัดการทั่วไปประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แคสเปอร์สกี้ อธิบายว่าการลดลงของจำนวนภัยคุกคามไม่ได้หมายถึงความปลอดภัยที่เพิ่มขึ้น แต่สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงกลยุทธ์ของผู้โจมตีที่หันมาเน้น "คุณภาพมากกว่าปริมาณ" โดยมุ่งเป้าการโจมตีที่ซับซ้อนและเฉพาะเจาะจงมากขึ้น

สถิติการตรวจพบและป้องกันภัยคุกคามบนเว็บที่พุ่งเป้าโจมตีผู้ใช้ไทย ย้อนหลัง 3 ปี
“อาชญากรไซเบอร์ตั้งเป้าหมายโจมตีทุกคนโดยไม่คำนึงถึงอายุหรือเพศของเหยื่อ และให้ความสำคัญกับ ‘คุณภาพมากกว่าปริมาณ’ แคสเปอร์สกี้คาดการณ์และสังเกตการเปลี่ยนการโจมตีครั้งใหญ่เป็นการรุกล้ำเข้าระบบที่เล็กลงแต่มีเป้าหมายและซับซ้อนมากขึ้น ส่งผลให้เกิดเหตุการณ์ที่เป็นข่าวโด่งดังหลายกรณีในหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศไทยด้วย แคสเปอร์สกี้ขอให้ผู้ใช้ทุกคนระมัดระวัง ผู้เชี่ยวชาญของเราได้พัฒนาการป้องกันที่ดีที่สุดจากภัยคุกคามเหล่านี้สำหรับผู้ใช้ชาวไทย และปกป้องผู้ใช้จากการสูญเสียต่างๆ เพื่อให้ผู้ใช้มีประสบการณ์ออนไลน์ที่ปลอดภัยอย่างสมบูรณ์ในแต่ทุกๆ วัน” นายโยงกล่าว

ในปี 2024 มีการตรวจพบและป้องกันภัยคุกคามบนเว็บที่พุ่งเป้าโจมตีผู้ใช้ไทยกว่า 10.2 ล้านรายการ เฉลี่ยวันละ 28,130 รายการ
5 แนวทางป้องกันที่แคสเปอร์สกี้ได้เสนอ สำหรับเป็นมาตรการสำคัญ ได้แก่ 1.สร้างและจัดการรหัสผ่านที่ซับซ้อนด้วยระบบอัตโนมัติ 2.เปิดใช้การยืนยันตัวตนสองชั้น (2FA) สำหรับบริการออนไลน์ทั้งหมด 3.ตรวจสอบลิงก์และไฟล์แนบอย่างระมัดระวังก่อนเปิด 4.เปิดใช้งานการอัปเดตอัตโนมัติสำหรับซอฟต์แวร์ทุกประเภท และ 5.พิจารณาอย่างรอบคอบก่อนแชร์ข้อมูลส่วนตัวออนไลน์

ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้ใช้โซลูชันความปลอดภัยแบบครบวงจรที่รวมฟีเจอร์การป้องกันทั้งหมดไว้ในที่เดียว เพื่อการป้องกันที่มีประสิทธิภาพสูงสุดทั้งบนคอมพิวเตอร์และสมาร์ทโฟน




กำลังโหลดความคิดเห็น