AIS ประกาศผลประกอบการปี 2567 รายได้รวม 213,570 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 35,075 ล้านบาท จากกลุ่มธุรกิจหลัก ทั้งโทรศัพท์เคลื่อนที่ อินเทอร์เน็ตบ้าน และธุรกิจบริการลูกค้าองค์กร ย้ำเป้าหมายมุ่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลของประเทศให้แข็งแรง ตามวิสัยทัศน์การเป็นองค์กรเทคโนโลยีโทรคมนาคมอัจฉริยะหรือ Cognitive Tech-Co
นายมนตรี คงเครือพันธุ์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการเงิน AIS กล่าวว่า 2567 ที่ผ่านมา นับเป็นอีกความท้าทายในการดำเนินธุรกิจทั้งสภาวะความผันผวนของเศรษฐกิจโลก สถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์ และอัตราดอกเบี้ย ในขณะที่เศรษฐกิจภายในประเทศยังต้องเผชิญกับหนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูงส่งผลให้ภาพรวมยังไม่ได้เติบโตเท่าที่ควร
AIS พยายามปรับตัวเพื่อสู้กับความท้าทายที่เกิดขึ้น โดยมุ่งส่งประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดให้แก่ลูกค้า ประกอบกับดำเนินธุรกิจด้วยความรอบคอบ ทำให้ในปี 2567 ที่ผ่านมาบริษัทสามารถรักษาการเติบโตของผลประกอบการได้ตามเป้าหมาย
โดยทำรายได้รวม 213,570 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 35,075 ล้านบาท พร้อมเตรียมงบลงทุนในปี 2568 ไว้ที่ 26,000-27,000 ล้านบาท เพื่อยกระดับขีดความสามารถของ Digital Infrastructure ของประเทศไทยไปอีกขั้น ทั้งโครงข่ายมือถือและเน็ตบ้าน ยกระดับการใช้ชีวิตคนไทยให้มีคุณภาพอย่างทั่วถึง เท่าเทียม รวมถึงระบบคลาวด์ และดาต้าเซ็นเตอร์ ที่เป็น Backbone สำคัญของภาคธุรกิจในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
สำหรับธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ ให้บริการรวมอยู่ที่ 45.8 ล้านเลขหมาย เพิ่มขึ้น 1.1 ล้านเลขหมายจากปี 2566 จากความต้องการใช้งานที่เพิ่มขึ้น และการนำเสนอบริการดิจิทัลที่หลากหลายจนสามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้ทุกกลุ่ม
ขณะที่ผู้ใช้งาน 5G เพิ่มขึ้นเป็น 12 ล้านเลขหมาย เติบโต 31% จากปีก่อนหน้า ตอกย้ำความมุ่งมั่นตั้งใจในการขยายโครงข่ายอัจฉริยะ AIS 5G ที่วันนี้มีความครอบคลุมแล้วมากกว่า 95% ของพื้นที่ประชากร และยังได้รับการการันตีเป็นโครงข่าย 5G อันดับ 1 ของไทย กวาด 12 รางวัลยอดเยี่ยมจาก Ookla
ส่วนธุรกิจบรอดแบนด์ ผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ภายใต้ AIS 3BB FIBRE3 มีผู้ใช้บริการรวมอยู่ที่ 5 ล้านราย เติบโตขึ้น 243,000 รายจากปีที่ผ่านมา นับเป็นการเติบโตอย่างแข็งแกร่งจากการรับรู้รายได้ของ 3BB ที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง
ธุรกิจบริการลูกค้าองค์กร มีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 22% จากปีที่ผ่านมา เป็นผลมาจากความมุ่งมั่นนำนวัตกรรมและโซลูชันมาตอบโจทย์ภาคธุรกิจไทย โดยเฉพาะบริการคลาวด์และโครงข่ายข้อมูล สอดคล้องกับการเติบโตดิจิทัลของภาคธุรกิจไทย รวมถึงโครงการ GSA Data Center ดาต้าเซ็นเตอร์ระดับโลกที่เชื่อมต่อด้วยเทคโนโลยีล้ำสมัยอย่างครบวงจร เน้นใช้พลังงานสะอาด และมีระบบการเก็บรักษาข้อมูลที่ปลอดภัยสูงสุด