xs
xsm
sm
md
lg

กสทช.ลุยประมูลคลื่น 1.2 แสนล้าน เดือน เม.ย.68

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กสทช. ลุยประมูล 6 คลื่น 450 MHz รวม 1.2 แสนล้าน เดือน เม.ย.68 ราคาเริ่มต้นถูกลงแต่ยังแรง กดดันต้นทุน-ค่าบริการ จับตา 2100, 2300 MHz เนื้อหอม ค่ายมือถือชั่งใจ รอ 3500 MHz หรือสู้ศึกรอบนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เดินหน้าแผนประมูลคลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล (IMT - International Mobile Telecommunications) รวม 6 ย่านความถี่ ได้แก่ 850 MHz, 1500 MHz, 1800 MHz, 2100 MHz, 2300 MHz และ 26 GHz

โดยล่าสุด (ร่าง) ประกาศหลักเกณฑ์การอนุญาตฯ ได้ถูกเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ กสทช. เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และเตรียมจัดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ (ประชาพิจารณ์) ในวันที่ 6 ก.พ.68 เพื่อเปิดรับข้อเสนอแนะก่อนเข้าสู่กระบวนการประมูล

มติดังกล่าวสืบเนื่องจากที่ประชุม กสทช. เมื่อวันที่ 14 ม.ค.68 มีมติเห็นชอบในหลักการของ (ร่าง) ประกาศฯ ซึ่งกำหนดแนวทางการประมูล แบบ Simultaneous Ascending Clock Auction โดยมีรายละเอียดเงื่อนไขสำคัญเกี่ยวกับระยะเวลาการอนุญาต การส่งเสริมการแข่งขันในตลาด และมาตรการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของผู้บริโภค

◉ หลักเกณฑ์การประมูล-ใช้ระบบ "Clock Auction" กำหนดราคาเพิ่มขึ้นทุกชุด

กสทช. กำหนดให้ใช้วิธีประมูลแบบ Simultaneous Ascending Clock Auction ซึ่งเป็นการประมูลที่มีการเสนอราคาเพิ่มขึ้นตามรอบเวลา โดยแบ่งเป็น 2 ขั้นตอนหลัก ได้แก่

1.ขั้นตอนการจัดสรรชุดคลื่นความถี่ (Allocation Stage)
◉ ผู้เข้าประมูลเสนอราคาคลื่นความถี่ในแต่ละชุด
◉ ราคาจะเพิ่มขึ้นตามรอบประมูลจนกว่าจะไม่มีผู้เสนอราคาเพิ่มเติม

2.ขั้นตอนการกำหนดย่านความถี่ (Assignment Stage)
◉ กำหนดช่วงความถี่ของผู้ชนะประมูลในแต่ละช่วงคลื่น
◉ มีการปรับเงื่อนไขเพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์สูงสุดของคลื่น

การอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ทั้งหมดจะมีอายุ 15 ปี นับจากวันที่ได้รับอนุญาต ยกเว้นคลื่น 2100 MHz ซึ่งใบอนุญาตจะมีอายุ 13 ปี เนื่องจากใบอนุญาตเดิมสิ้นสุดในปี 2570

เปิดราคาเริ่มต้น! คลื่น 850-26GHz ประมูลรวม 450 MHz มูลค่ากว่า 1.2 แสนล้านบาท

สำหรับการประมูลครั้งนี้ กสทช. ได้กำหนดราคาเริ่มต้นของคลื่นความถี่แต่ละย่าน ดังนี้
850 MHz : 2 ชุด (2x5 MHz) ใบอนุญาตละ 6,609 ล้านบาท
1500 MHz : 11 ชุด (5 MHz) ใบอนุญาตละ 904 ล้านบาท
1800 MHz : 7 ชุด (2x5 MHz) ใบอนุญาตละ 6,219 ล้านบาท
2100 MHz (FDD) : 12 ชุด (2x5 MHz) ใบอนุญาตละ 3,391 ล้านบาท
2100 MHz (TDD) : 3 ชุด (5 MHz) ใบอนุญาตละ 497 ล้านบาท
2300 MHz : 7 ชุด (10 MHz) ใบอนุญาตละ 1,675 ล้านบาท
26 GHz : 1 ชุด (100 MHz) ใบอนุญาตละ 423 ล้านบาท

รวมทั้งสิ้น 450 MHz คิดเป็นมูลค่าขั้นต่ำ 121,026 ล้านบาท


เงื่อนไขสำคัญ-ส่งเสริมการแข่งขัน-คุ้มครองผู้บริโภค

เพื่อป้องกันการผูกขาดและกระจายความสามารถในการให้บริการ (Capacity Allocation) ไปยังผู้ให้บริการรายอื่น กสทช. ได้กำหนดให้ Thailand Independent Market Operator (TIMO) เป็นหน่วยงานกลางที่มีหน้าที่จัดสรรคลื่นบางส่วนให้แก่ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เสมือน (MVNO) เพื่อให้สามารถแข่งขันในตลาดได้

"เงื่อนไขนี้เป็นไปตามแนวทางสากล เพื่อให้ตลาดโทรคมนาคมมีการแข่งขันที่สมดุล และส่งเสริมการให้บริการที่มีคุณภาพในราคาที่เหมาะสม" แหล่งข่าวจาก กสทช. กล่าว

นอกจากนี้ ผู้รับใบอนุญาตจะต้องดำเนินการด้าน Cybersecurity และการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 (PDPA) โดยต้องส่งแผนความปลอดภัยไซเบอร์ต่อ กสทช. ล่วงหน้าอย่างน้อย 3 เดือนก่อนเริ่มให้บริการ

เงื่อนไขชำระเงิน-กำหนดจ่ายเป็น 3 งวด ยกเว้น 26GHz จ่ายเต็ม

กสทช. ได้กำหนดเงื่อนไขการชำระเงินค่าประมูลคลื่นความถี่ให้เป็นไปอย่างเหมาะสมกับศักยภาพของผู้ให้บริการ โดยแบ่งการชำระเงินเป็น 3 งวด ได้แก่

◉ 850 MHz, 1500 MHz, 2100 MHz และ 2300 MHz
งวดที่ 1 : 50% ของราคาชนะประมูลในปีแรก
งวดที่ 2 : 25% ของราคาชนะประมูลในปีที่ 2
งวดที่ 3 : 25% ของราคาชนะประมูลในปีที่ 4

◉ 26 GHz
ต้องชำระ 100% ของราคาชนะประมูลทันที


ราคาคลื่นลดลง แต่ยังสูง-ผู้ประกอบการคิดหนัก

ด้าน นายสมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า หลังการประชาพิจารณ์เสร็จสิ้น เตรียมสรุปผลและนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะอนุกรรมการที่เกี่ยวข้อง ก่อนเสนอเข้าสู่ที่ประชุม กสทช. คาดว่า การประมูลคลื่นความถี่ครั้งใหม่นี้จะมีขึ้นช่วงกลางหรือปลายเดือน เม.ย.68

"มองว่าผู้ให้บริการต้องการคลื่นความถี่ 2100 MHz, 2300 MHz ซึ่งการออกแบบการประมูลรอบนี้เน้นการแข่งขัน โดยเฉพาะคลื่นในกลุ่มเดียวกัน หากผู้ให้บริการรายใดได้รับช่วงความถี่หนึ่ง อาจต้องการควบรวมคลื่นอื่นที่เคยลงทุนไว้แล้ว เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งาน และแม้ราคาเริ่มต้นการประมูลจะถูกลงจากรอบที่ผ่านมา แต่ยังสูงอยู่ ทำให้ผู้ให้บริการต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เนื่องจากต้นทุนที่สูงอาจสะท้อนกลับมาที่ผู้บริโภคผ่านค่าบริการ

อีกทั้งใน 2-3 ปีข้างหน้า ผู้ให้บริการจะต้องเตรียมงบประมาณสำหรับการประมูลคลื่น 3500 MHz ซึ่งเป็นย่านความถี่หลักของ 5G ในระดับสากล ทำให้ต้องพิจารณาว่า ควรเข้าประมูลคลื่นรอบนี้ หรือรอประมูล 3500 MHz ทีเดียว ซึ่งขณะนี้ฝั่งโทรคมนาคมมีความชัดเจนแล้ว แต่ฝั่งกิจการกระจายเสียง ทีวีดิจิทัล ยังไม่มีทิศทางที่แน่นอน" นายสมภพ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น