'ดีอี' หนุนเจ้าหน้าที่รัฐทำงานออนไลน์ผ่าน e-Office รับมือฝุ่น PM 2.5 วิกฤตกรุง ค่าเกินมาตรฐาน 60 จังหวัด แนะประชาชนลดกิจกรรมกลางแจ้ง-สวมหน้ากากอนามัยเซฟสุขภาพ
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) สนับสนุนเจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติงานนอกสถานที่ ผ่านระบบ e-Office เพื่อลดผลกระทบจากสถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 ที่กำลังวิกฤตในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล เพื่อการทำงานยังคงประสิทธิภาพ ต่อเนื่อง ไม่สะดุด
ศาสตราจารย์พิเศษ วิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดีอี เปิดเผยว่า นโยบายดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันระบบ e-Office ที่นำเทคโนโลยีเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ (e-Document) เข้ามาใช้งานแทนกระดาษแบบเต็มรูปแบบ ช่วยลดต้นทุนและขั้นตอนการทำงาน พร้อมสร้างความโปร่งใสและตรวจสอบได้ในทุกกระบวนการ
ระบบ e-Office ครอบคลุมฟังก์ชันสำคัญ เช่น การลงนามดิจิทัล การจัดการเอกสาร การบริหารการประชุม และการจัดเก็บข้อมูลแบบครบวงจร โดยปราศจากการใช้กระดาษตั้งแต่ต้นจนจบ ซึ่งขณะนี้มีการขยายความร่วมมือไปยังหน่วยงานต่างๆ รวมถึงกระบวนการยุติธรรม
นอกจากนี้ กระทรวงดีอียังสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านระบบงานภาครัฐสู่ดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ ด้วยบริการคลาวด์กลางภาครัฐ (GDCC) ซึ่งเปิดให้ใช้งานฟรี โดยมุ่งหวังให้การบริการประชาชนสะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ ศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศกรุงเทพมหานคร รายงานสถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 วันที่ 25 ม.ค.68 ประเทศไทย โดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯ ยังคงน่าเป็นห่วง มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 73.4 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งเกินค่ามาตรฐานและมีผลกระทบต่อสุขภาพ พื้นที่ที่มีค่าฝุ่นสูงสุด ได้แก่ เขตหนองจอก (93.6 มคก./ลบ.ม.) เขตมีนบุรี (91.8 มคก./ลบ.ม.) และเขตคันนายาว (91.5 มคก./ลบ.ม.)
ด้าน สำนักข่าวรอยเตอร์ ระบุว่า ประเทศไทยยังติดอันดับ 8 ของเมืองที่มีมลพิษสูงที่สุดในโลก โดยกรุงเทพฯ เผชิญกับหมอกควันหนาทึบ ส่งผลกระทบต่อผู้ที่ทำงานกลางแจ้ง สาเหตุหลักมาจากการเผาในที่โล่ง การปล่อยมลพิษจากอุตสาหกรรม และการจราจรที่หนาแน่น รัฐบาลได้ดำเนินมาตรการต่างๆ เช่น การให้บริการขนส่งสาธารณะฟรีเป็นเวลา 1 สัปดาห์ (25-31 ม.ค.68) และการปิดโรงเรียน 300 แห่งในกรุงเทพฯ
ในระดับประเทศ มีจังหวัดที่ค่าฝุ่น PM 2.5 เกินค่ามาตรฐานถึง 60 จังหวัด รวมถึงจังหวัดปทุมธานี นนทบุรี นครปฐม สมุทรสาคร และสมุทรปราการ ประชาชนในพื้นที่ควรเฝ้าระวังสุขภาพ ลดการทำกิจกรรมกลางแจ้ง และใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเอง เพื่อป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพ ควรสวมหน้ากากป้องกัน PM 2.5 จำกัดเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง และสังเกตอาการผิดปกติ เช่น ไอ หายใจลำบาก หรือระคายเคืองตา หากมีอาการเหล่านี้ควรปรึกษาแพทย์ทันที