ระอุทุกนาทีสำหรับสงครามแอปวิดีโอในวันที่ครีเอเตอร์ทั่วโลกโดนลูกหลงจากเกมการเมืองสหรัฐอเมริกา โดยที่ผ่านมา เครือข่ายสังคมฮอตจากจีนอย่างติ๊กต็อก (TikTok) นั้นกลับมาให้บริการในช่วง 14 ชั่วโมงหลังถูกระงับบริการ แต่บริการในเครืออย่างมาร์เวลสแนป (Marvel Snap) แคปคัต (CapCut) และเลมอนเอต (Lemon8) นั้นถูกแบนนานกว่า
จุดเริ่มต้นของวิกฤต CapCut ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันแก้ไขวิดีโอจากบริษัทไบต์แดนซ์ (ByteDance) คือการเผชิญความท้าทายครั้งสำคัญ เมื่อสหรัฐอเมริกาออกกฎหมายชื่อ Protecting Americans from Foreign Adversary Controlled Applications Act ซึ่งบังคับให้บริษัทแม่ต้องขายหรือถอนแอปออกจากตลาด
แม้จะมีรายงานว่า CapCut เริ่มกลับมาใช้บริการได้ในวันที่ 24 มกราคม 2025 แต่ก็มีเสียงจากครีเอเตอร์อเมริกันมากมายที่กล่าวถึงความยากลำบากในช่วง 6 วันที่ไร้ CapCut โดย MinniePortable ครีเอเตอร์ YouTube และ Twitch เล่าว่าแม้จะลองหาแอปพลิเคชันอื่นอย่าง Filmora แต่เมื่อต้องส่งออกวิดีโอ ก็ต้องจ่ายเงิน 50 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี หรือมีลายน้ำ ดังนั้นจึงตัดสินใจหยุดพักการตัดต่อวิดีโอและรอให้ CapCut กลับมาให้บริการ
ด้าน Seth Beavers หรือ Seth the Nerfer ผู้สร้างคอนเทนต์บน YouTube ระบุว่าการใช้งานบนหน้าจอสัมผัสของ CapCut มีคุณภาพดีมาก ตอนนี้เขาต้องเรียนรู้โปรแกรมตัดต่อวิดีโอตัวใหม่ และแอปพลิเคชันอื่นส่วนใหญ่ต้องจ่ายเงินเพื่อกำจัดลายน้ำ
***ตั้งเค้า "สงครามแพลตฟอร์ม"
ในขณะที่ CapCut ถูกโทษแบน เมตา (Meta) ซึ่งเป็นพี่ใหญ่ในตลาดเครือข่ายสังคมจึงวางตัวมือดีในเครืออย่างอินสตาแกรม (Instagram) พร้อมติดอาวุธล่าสุดชื่อ "อีดิตส์" (Edits) ให้เป็นคู่แข่งรายใหม่ของ CapCut โดยในช่วงไม่กี่ชั่วโมงหลัง CapCut ถูกแบน Meta ก็ประกาศวางแผนเปิดตัว Edits เพื่อแย่งชิงตลาด โดยสัญญาว่าจะจัดเต็มฟีเจอร์ที่ท้าชน CapCut ได้แน่นอน
ฟีเจอร์เด่นใน Edits จะมีทั้งการรองรับภาพความละเอียดสูง Full HD และ 2K บนเฟรมเรต 60 fps และยังมีเครื่องมือ AI วิเคราะห์ข้อมูลวิดีโอที่ดูประสิทธิภาพคอนเทนต์แบบเรียลไทม์ ขณะเดียวกัน ก็สามารถส่งออกวิดีโอที่ตัดต่อแล้วได้แบบไร้ลายน้ำ เน้นการใช้งานบนอุปกรณ์เคลื่อนที่เหมือน CapCut
นอกจาก Edits การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญใน Instagram ยังมีการยกเลิกรูปแบบแสดงผลวิดีโอและภาพแบบตารางช่องสี่เหลี่ยมจตุรัสแบบดั้งเดิม แล้วเปลี่ยนเป็นพื้นที่แสดงผลแบบแนวตั้งเต็มรูปแบบ ซึ่งสอดคล้องกับพฤติกรรมการบริโภคคอนเทนต์ในปัจจุบัน
การปรับเปลี่ยนครั้งนี้สื่อถึงกลยุทธ์เชิงธุรกิจของ Instagram ที่กำลังวางตำแหน่งตัวเองเป็นแพลตฟอร์มหลักสำหรับครีเอเตอร์คอนเทนต์วิดีโอสั้น โดยเฉพาะในช่วงที่ TikTok เผชิญความท้าทายทางกฎหมายในสหรัฐอเมริกา คาดว่าเป้าหมายหลักของการเปลี่ยนตัวเองครั้งนี้คือการแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดจาก TikTok ด้วยการสร้างระบบนิเวศที่สมบูรณ์สำหรับครีเอเตอร์ และพัฒนาเครื่องมือที่ตอบโจทย์ยุคดิจิทัล
แม้การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ของ Instagram จะถูกมองเป็นกลยุทธ์เชิงรุกเพื่อก้าวขึ้นเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมสื่อสังคมออนไลน์ แต่ Amy Cotteleer จากเอเยนซี Duncan Channon Agency วิเคราะห์ไว้ว่าครีเอเตอร์อาจไม่ได้หันมาใช้ Edits อย่างล้นหลามเนื่องจากรากของ CapCut ที่ฝังลึกในตลาดวิดีโอ ซึ่งจะเป็นไปตามที่คาดหรือไม่ ยังต้องรอดูกันต่อ
*** CapCut ไม่ตาย?
ตัวเลขน่าสนใจที่ฟันธงได้ว่า CapCut จะไม่ตายง่ายๆ คือ CapCut มียอดดาวน์โหลดเกิน 1 พันล้านครั้งบน Google Play Store และครีเอเตอร์กว่า 80% ก็พึ่งพา CapCut ในฐานะแอปตัดต่อวิดีโอที่ส่งไปเผยแพร่นอกระบบ ByteDance ทั้ง YouTube และ Twitch ขณะเดียวกัน ค่าใช้จ่ายรายเดือนสำหรับแอป CapCut แบบพรีเมียมก็อยู่ในระดับเอื้อมถึง โดยมีมูลค่าประมาณ 9.99 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 350 บาทเท่านั้น
ในขณะที่ CapCut มีแววรอด แต่ความท้าทายส่วนหนึ่งกลับตกไปอยู่ที่ตัวประกันอย่างครีเอเตอร์ เนื่องจากวิกฤตครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความเปราะบางของระบบนิเวศดิจิทัล ที่ครีเอเตอร์ต้องปรับตัวอย่างต่อเนื่องท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและการเมือง
ดังนั้น สงครามแอปวิดีโอจะยิ่งระอุขึ้นอีกในวันที่ครีเอเตอร์เลิกพึ่งพาแพลตฟอร์มเดียว แต่จะมองหาแอปทดแทนฉุกเฉิน และเครื่องมือทางเลือกที่ไม่มีข้อจำกัดด้านคุณภาพและค่าใช้จ่าย โดยในส่วนของ CapCut นั้นมีคุณสมบัติพิเศษที่แอปอื่นไม่มี เช่น ลดเสียงรบกวน ซึ่งจุดนี้จะนำไปสู่อิมแพกต์ เรื่องการเร่งให้เกิดการพัฒนาเครื่องมือทางเลือก กลายเป็นแรงกระตุ้นการแข่งขันในตลาดแอปตัดต่อวิดีโอที่จะระอุขึ้นอีกแน่นอน