xs
xsm
sm
md
lg

เวทีดิจิทัลอาเซียน ปล่อย 6 หมัดเด็ด บิวต์ภูมิภาค ดิจิทัลบูม (Cyber Weekend)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ในเวทีประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านดิจิทัล ครั้งที่ 5 (The 5th ASEAN Digital Ministers' Meeting: ADGMIN) ประเทศไทยรับบทผู้นำเต็มตัว น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ชู 3 ประเด็นร้อนที่โลกจับตา หนึ่งคือการปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ที่ลุกลามทั่วอาเซียน สองคือการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) สร้างโอกาสใหม่ท่ามกลางความท้าทาย และสามคือการจัดการข่าวปลอม ที่กัดกร่อนความมั่นคงข้อมูล

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี หัวเรือใหญ่แห่งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เล่าว่า ชาติสมาชิกจับมือผลักดันเศรษฐกิจดิจิทัล วางหมากความมั่นคงไซเบอร์ เร่งสร้างพลังร่วมเพื่อความยั่งยืนของภูมิภาค ได้แก่

1.ปัญหาหลอกลวงออนไลน์ที่แพร่ระบาดทั่วอาเซียน ที่ประชุมได้รับรองรายงานและข้อเสนอแนะ เพื่อกำหนดแนวทางจัดการอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะการแก้ปัญหาการหลอกลวงที่มีต้นตอจากประเทศแนวเขตชายแดน เช่น กัมพูชา พม่า และลาว ที่มักเกี่ยวโยงกับกลุ่มผู้กระทำผิด การหารือเน้นการแลกเปลี่ยนข้อมูล และพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ในพื้นที่เสี่ยง รวมถึงการพัฒนาระบบเตือนภัยล่วงหน้า

สำหรับประเทศไทยไม่หยุดรับมือปัญหา ด้วยการตั้งคณะทำงานร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านกว่า 1 ปี ความพยายามนี้ยิ่งชัดเจนขึ้น ในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ด้านดิจิทัลระหว่างไทย-กัมพูชา ที่เน้นการป้องกันภัยออนไลน์ข้ามพรมแดน ย้ำความตั้งใจในการรับมือภัยนี้อย่างจริงจัง


◉ ตั้ง CERT สิงคโปร์ รับมือภัยไซเบอร์

2.ที่ประชุมให้ความสำคัญด้านความมั่นคงไซเบอร์ รับทราบการจัดตั้งศูนย์ ASEAN CERT ในสิงคโปร์ เพื่อเป็นศูนย์กลางรับมือภัยไซเบอร์ในภูมิภาค พร้อมรับรองเอกสาร ASEAN Checklist on Cyberspace Norms สร้างมาตรฐานลดความเสี่ยงการโจมตีที่กระทบเศรษฐกิจและประชาชน

ที่ผ่านมา ประเทศไทยส่งตัวแทนสำคัญ พล.อ.ต.อมร ชมเชย เลขาธิการ สกมช. ร่วมประชุม Singapore International Cyber Week (SICW) ต่อเนื่อง สนับสนุนการจัดตั้งหน่วยงานประสานงานเร่งด่วน เพื่อรับมือเหตุการณ์ไซเบอร์แบบทันที

"พร้อมหารือกับสิงคโปร์ ถึงการบังคับใช้กฎหมายให้ธนาคารและค่ายมือถือร่วมรับผิดชอบความเสียหายจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เพื่อเก็บข้อมูลเชิงลึกมาเสริมร่างแก้ไขพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมด้านไซเบอร์ ที่เตรียมเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 28 ม.ค.68 แม้กฎหมายนี้จะไม่แก้ปัญหาทั้งหมด แต่ถือเป็น 1 ใน 5 แนวทางสำคัญที่ต้องทำ" นายประเสริฐ กล่าว

3.ที่ประชุมเร่งเครื่องกรอบความตกลงเศรษฐกิจดิจิทัล (DEFA) เปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลอย่างทรงพลัง ไทยประกาศพร้อมเข้าร่วมทันที หลังมติ ครม.อนุมัติเมื่อ พ.ย.67 กรอบนี้เป็นหัวใจสำคัญทั้งด้านการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัป และเสริมความมั่นคงไซเบอร์

โดยชาติสมาชิกเห็นพ้องในการสร้างภูมิภาคดิจิทัลที่แข็งแกร่ง ผ่านความร่วมมือด้านเทคโนโลยีและการป้องกันภัยออนไลน์ DEFA จึงเป็นกุญแจสำคัญที่อาเซียนใช้ผลักดันเศรษฐกิจให้ก้าวหน้า ขยายโอกาสใหม่ๆ พร้อมสร้างภูมิคุ้มกันในยุคที่เทคโนโลยี คือ สมรภูมิหลักของการแข่งขัน


◉ ปักหมุด AI-5G เสริมแกร่งอาเซียน

4.ยกระดับปัญญาประดิษฐ์ (AI) ขึ้นเป็นวาระสำคัญ รับรองแผนปฏิบัติการ Global CBPR และธรรมาภิบาล AI ครอบคลุม Generative AI สร้างกฎเหล็กเพื่อความโปร่งใส คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และผลักดันการวิจัยนวัตกรรม AI ที่ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชน

"AI ไม่ใช่แค่โอกาส แต่คือความท้าทายที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ทุกประเทศเห็นพ้อง ต้องเร่งสร้างมาตรฐาน จริยธรรม และโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ดาต้าเซ็นเตอร์ คลาวด์ และระบบวิเคราะห์ข้อมูล เสริมแกร่งให้ AI เป็นหัวใจหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม หน่วยงานสำคัญอย่าง สดช. เอ็ตด้า เอ็นที และดีป้า เดินหน้าผลักดัน เปลี่ยน AI ให้เป็นอาวุธ ยุทธศาสตร์ของอาเซียน" นายประเสริฐ กล่าว

5.ก้าวไปอีกขั้นด้วยการผลักดันการใช้งาน 5G และหารือแนวทางลดค่าบริการข้ามแดน ขณะเดียวกันให้ความสำคัญกับการควบคุมซิมการ์ดที่ไม่ได้ลงทะเบียน โดยเฉพาะในพื้นที่ชายแดน เช่น ไทย-กัมพูชา และไทย-พม่า เพื่อตัดวงจรการหลอกลวงข้ามพรมแดนที่ลุกลามทั่วภูมิภาค

"ไทยเปิดโต๊ะเจรจาทวิภาคีกับพม่า ประเทศแรกที่หยิบยกปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ข้ามพรมแดนขึ้นหารือ โดยผู้แทนพม่า ซึ่งเป็นรองนายกรัฐมนตรีและมีบทบาทสำคัญในรัฐบาล รับปากจะผลักดันเรื่องนี้ไปยังรัฐบาล และส่งข่าวกลับมาถึงแนวทางดำเนินการ

แม้ต้องเข้าใจความซับซ้อนของสถานการณ์ในพม่า แต่ไทยไม่อาจนิ่งเฉย จะติดตามความคืบหน้าต่อเนื่อง หากไร้การตอบกลับต้องตามต่อ เพราะผลกระทบจากปัญหานี้สร้างความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อประชาชนและเศรษฐกิจ" นายประเสริฐ กล่าว

6.รับรองปฏิญญาดิจิทัลกรุงเทพ กำหนดอนาคตดิจิทัลอาเซียน เน้นความปลอดภัย ครอบคลุมทุกภาคส่วน ขยายโอกาสสู่พื้นที่ชนบท เพื่อความเท่าเทียมทางดิจิทัลทั่วภูมิภาค


◉ โรดโชว์ดิจิทัล เปิดเกมใหญ่ที่อินเดีย

จับมือคู่เจรจา เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย สหรัฐอเมริกา และสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) ผลักดันมาตรฐานดิจิทัล พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โครงสร้างพื้นฐาน และการแลกเปลี่ยนข้อมูลเชิงลึก ตอกย้ำเป้าหมายสู้ภัยออนไลน์ในเวทีสากล

ยิ่งกว่านั้น ไทยแสดงบทบาทสำคัญด้วยการลงนาม MOU กับกัมพูชาและฟิลิปปินส์ เสริมความร่วมมือด้านดิจิทัลระดับภูมิภาค โดยไทย-กัมพูชาร่วมพัฒนาบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล การเข้าถึงเทคโนโลยี และป้องกันการหลอกลวงออนไลน์ ขณะไทย-ฟิลิปปินส์ผลักดันโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล การใช้ AI และเทคโนโลยีใหม่ เช่น IoT และ Big Data รวมถึงเน้นการส่งเสริมความมั่นคงไซเบอร์ผ่านการแลกเปลี่ยนความรู้และฝึกอบรม

"หลังการประชุมครั้งนี้ และการประชุม World Economic Forum (WEF) ไทยเตรียมโรดโชว์ดิจิทัล เป้าแรกอินเดีย ประเทศที่ประชากรกว่า 2,000 ล้านคน เข้าถึงระบบดิจิทัลถึง 98% แม้จะมีความเหลื่อมล้ำทางรายได้ตามชั้นวรรณะ แต่การเข้าถึงเทคโนโลยีกลับน่าทึ่ง เกินคาดหมาย

อินเดียเสนอให้ไทยศึกษาระบบไปรษณีย์ของพวกเขา ที่พลิกโฉมเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนนโยบายรัฐ เช่น ระบบชำระเงิน (Payment) เปิดมิติใหม่ของการบริหารประเทศ ในขณะที่ไทยยังมีคนจำนวนไม่น้อยที่ไม่มีแม้แต่โทรศัพท์มือถือ โรดโชว์ครั้งนี้จึงไม่ใช่แค่การเรียนรู้ แต่คือโอกาสสำคัญในการยกระดับดิจิทัลไทยให้หลุดจากข้อจำกัดเดิมๆ และเข้าสู่สนามแข่งขันระดับโลก" นายประเสริฐ กล่าว

อีกหนึ่งภาพประวัติศาสตร์ อาเซียนรวมพลัง ปูทางสร้างภูมิภาคดิจิทัลแข็งแกร่ง รอเวียดนามสานต่อการประชุมปี 2569 พลิกอนาคตสู่ความมั่นคงและยั่งยืน










กำลังโหลดความคิดเห็น