xs
xsm
sm
md
lg

SIAM.AI Cloud ขยี้ปมเซิร์ฟเวอร์ AI จัดการยาก จูง Dell ผ่าทางตันไทยขาดมือออกแบบโครงสร้างพื้นฐาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


รัตนพล วงศ์นภาจันทร์ ประธานกรรมการฝ่ายบริหาร สยาม เอไอ คอร์ปอเรชั่น (ขวา) และ ฐิตพล บุญประสิทธิ์ กรรมการผู้จัดการประจำประเทศไทย เดลล์ เทคโนโลยีส์ (ซ้าย)
ผ่าทางตันประเทศไทยขาดแคลนหัวกะทิด้านออกแบบและจัดการโครงสร้างพื้นฐานระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) ด้าน "สยาม เอไอ คลาวด์" ยอมรับพบเจอปัญหาทุกวันจากความหินของการเอาเซิร์ฟเวอร์มาเชื่อมต่อกันผ่านหน่วยประมวลผลเกิน 1,000 การ์ดขึ้นไปเพื่อรันให้ AI เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ชี้นำเข้าบุคลากรต่างชาติราคาแพง-เสี่ยงไม่แน่นอน ขณะที่ "เดลล์ เทคโนโลยีส์ ประเทศไทย" ขานรับพร้อมแบ่งปันองค์ความรู้ให้สถาบันการศึกษาไทย เร่งเครื่องดันโครงสร้างพื้นฐาน AI ยั่งยืน

นายรัตนพล วงศ์นภาจันทร์ ประธานกรรมการฝ่ายบริหาร สยาม เอไอ คอร์ปอเรชั่น ผู้ให้บริการคลาวด์คอมพิวติ้งประสิทธิภาพสูง กล่าวในงานประกาศความร่วมมือกับเดลล์ เทคโนโลยีส์ ประเทศไทย เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้าน AI ว่าการทำโครงสร้างพื้นฐาน AI นั้นมีความท้าทายต่างจากโครงสร้างพื้นฐานไอทีดั้งเดิม ดังนั้นการมีบุคลากรเพื่อสนับสนุนจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก ซึ่งหากไทยสามารถพัฒนาบุคลากรส่วนนี้ได้เอง จะสามารถเสริมแกร่งระบบนิเวศ หรืออีโคซิสเต็ม AI ในประเทศได้อย่างยั่งยืน

"การทำโครงสร้าง AI นั้นไม่ง่ายเหมือนเดิม เพราะการเอา GPU server 1,000 การ์ดขึ้นไปมาเชื่อมกันแล้วรันให้ AI เกิดประสิทธิภาพสูงสุดเป็นสิ่งที่ยาก เราพบเจอปัญหาทุกวัน และเมื่อลองใช้เซิร์ฟเวอร์หลายเจ้า เราพบว่าบุคลากรที่คอยสนับสนุนให้มีการดาวน์ไทม์น้อยที่สุด เป็นเรื่องที่สำคัญมาก ซึ่งที่ผ่านมา เดลล์ช่วยเราได้ตลอด แต่เรามุ่งพัฒนาต่อไป เราเอาคนไปเรียนที่สิงคโปร์ เพื่อศึกษาการพัฒนาโครงสร้าง แต่เมื่อคุยและต้องทำโครงการ เราจึงอยากคุยกับมหาวิทยาลัยไทย เพื่อให้กลุ่มอาจารย์ได้สอนอาจารย์และนำมาสอนนักเรียน หรือสอนทุกคนที่อยากใช้ AI การลงทุนนี้จะคุ้มค่า เชื่อว่าการเรียนนี้จะช่วยสนับสนุนทุกฝ่ายในประเทศไทย และจะเร่งความเร็วในการเพิ่มศักยภาพ AI ของประเทศ"

บรรยากาศงานประกาศความร่วมมือระหว่างสยาม เอไอ กับ เดลล์ เทคโนโลยีส์ ประเทศไทย เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้าน AI
ปัจจุบัน SIAM.AI Cloud นั้นเป็นลูกค้าของ Dell โดยเลือกใช้เซิร์ฟเวอร์จากเดลล์เทคโนโลยีส์เป็นโครงสร้างหลักของแพลตฟอร์มคลาวด์ AI เพื่อรองรับการประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่ โดยแทนที่จะเก็บองค์ความรู้ไว้กับตัว สยาม เอไอ วางกลยุทธ์การพัฒนาบุคลากรผ่านความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาใน 3 รูปแบบ ได้แก่ การพัฒนาหลักสูตร AI สำหรับสถาบันทั่วไป การสนับสนุนด้านเทคโนโลยีและองค์ความรู้สำหรับสถาบันที่มีการเรียนการสอนด้าน AI อยู่แล้ว และการส่งเสริมงานวิจัยและนวัตกรรมสำหรับสถาบันที่มุ่งเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์

นอกจากนี้ บริษัทยังจะจัดตั้ง AI Community Hub เพื่อเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้าน AI พร้อมจัดกิจกรรม AI Meet Up อย่างสม่ำเสมอ เพื่อสร้างเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญและผู้สนใจด้าน AI ในประเทศไทย

"เราจะจัดกิจกรรม AI for you จะทำโชว์เคส มีแฮกกะธอน มีคอนเสิร์ต ให้เยาวชนรู้ว่ามีเพื่อน และมีคนที่อยากร่วมพัฒนา AI มากกว่าที่คิด และอยากร่วมทำกับ Dell สำหรับปีนี้ เราจะจัดกิจกรรมทุกปี และจะเริ่มส่งคนไทยไปอบรมที่สิงคโปร์ช่วงไตรมาสหน้า เพื่อเรียนรู้กฏเกณฑ์การสร้าง AI infrastructure ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีสำหรับปีนี้ ที่จะเรียนรู้เพื่อให้เกิด Agentic AI ในประเทศ"

รัตนพลย้ำว่าสิ่งที่ประเทศไทยขาดแคลนมากที่สุด และเป็นสิ่งที่ Dell ถนัดมาก คือการออกแบบโครงสร้างและเน็ตเวิร์ก จุดนี้จึงเป็นพื้นฐานที่ทำให้ SIAM.AI Cloud ต้องโฟกัสก่อน และเมื่อได้พื้นฐานที่จำเป็นแล้ว จึงสามารถต่อยอดได้สู่การสร้างทักษะด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูล เพื่อการเก็บข้อมูลในการเทรน ซึ่งเชื่อว่าต้องมีการพูดคุยกันอีกครั้ง เพื่อให้ตกผลึกว่าอะไรที่เหมาะสมกับประเทศไทยมากที่สุด

"เรามีการอิมพอร์ตคนเข้ามาอยู่ แต่เราก็ต้องพึ่งพาตัวเองให้ได้ การอิมพอร์ตคนเข้ามา บอกได้เลยว่าค่าตัวสูงมาก และบางครั้งยังมีช่องว่างในการทำงานกับคนในองค์กรบ้านเรา ผมเชื่อว่าอะไรที่ทำเองได้ และเรียนรู้เพื่อนำองค์ความรู้มาถ่ายทอดต่อได้นั้นเป็นสิ่งที่ดีที่สุด หรือถ้ามีเหตุการณ์ที่ปิดกั้นไม่ให้อิมพอร์ตคนได้ แล้วเราจะทำอย่างไร นี่ก็คือเป้าหมายของเรา"

***เดลล์ชี้ทุกที่มีปัญหาบุคลากร

นายฐิตพล บุญประสิทธิ์ กรรมการผู้จัดการประจำประเทศไทย เดลล์ เทคโนโลยีส์ กล่าวว่าในฐานะที่ Dell อยู่ในธุรกิจโลกยาวนาน 41 ปี และทำธุรกิจครบรอบ 30 ปีในประเทศไทย บริษัทพบว่าปัญหาเรื่องการขาดแคลนบุคลากรนั้นเกิดขึ้นทุกที่ไม่ใช่แค่ Dell ดังนั้นบริษัทจึงรับรู้ว่าต้องช่วยกันพัฒนาบุคลากร Dell จึงร่วมมือกับ SIAM.AI Cloud เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ต้องการ


"หลายประเทศให้ความสำคัญกับการควบคุมและรักษาความปลอดภัยระบบนิเวศ AI ในขณะที่พัฒนาความก้าวหน้าด้านนวัตกรรมในประเทศ Dell ภูมิใจที่ได้ร่วมมือกับ SIAM.AI ในการนำโซลูชัน GenAI ของเรามาใช้ในการขับเคลื่อนการวิจัย ส่งเสริมนวัตกรรม และเสริมความมั่นคงให้บทบาทของประเทศไทยในเวที AI ระดับโลก"


ฐิตพลย้ำว่า Dell จะเน้นเรื่องแบ่งปันองค์ความรู้ด้านโครงสร้างพื้นฐาน AI โดยครอบคลุมการฝึกสอนอาจารย์ในด้านการออกแบบและการจัดการโครงสร้างพื้นฐาน เบื้องต้นไม่มีการให้ทุนและไม่มีการออกแบบหลักสูตร แต่จะมุ่งจัดเตรียมบุคลากรที่เหมาะสมสำหรับการเข้าไปพูดคุยกับมหาวิทยาลัย เช่น บุคลากรที่สามารถสื่อสารภาษาไทยได้ หรือการมอบโอกาสในการฝึกสอนจากชั่วโมงการทำงานจริง



"ก้าวใหม่ของความร่วมมือนี้คือการเน้นพัฒนาบุคลากรที่จะให้ประโยชน์กับระบบอีโคซิสเต็ม AI ไทย"

***คน AI ไม่เพียงพอ


นายพนัส จิระวัฒนานันท์ ผู้จัดการทั่วไป SIAM.AI Cloud เผยว่าในช่วง 1 ปีที่ SIAM.AI Cloud เริ่มให้บริการ บริษัทมีพนักงานราว 30 คน โดยทำงานร่วมกับบุคลากรเอาต์ซอร์สจากบริษัทพันธมิตรรวม 70 คน ซึ่งมีความชำนาญในส่วนงานเฉพาะทางที่ต่างกัน เบื้องต้นมองว่ายังไม่เพียงพอเนื่องจากมีพื้นที่ทำงานที่ต้องการความรับผิดชอบอีกมาก 



ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีความตื่นตัวเรื่องการพัฒนาบุคลากรด้านปัญญาประดิษฐ์อย่างต่อเนื่อง เห็นได้ชัดจากการก่อตั้งสถาบันวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์หรือ AIEI (AI ENGINEERING INSTITUTE) เมื่อปี 2565 สถาบันดังกล่าวเกิดจากมหาวิทยาลัยซีเอ็มเคเเอล ร่วมกับ 5 มหาวิทยาลัยชั้นนำ ได้แก่ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) มหาวิทยาลัยมหิดล (มม.) และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ลงนามความร่วมมือจัดตั้งสถาบันวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์ สู่การสร้าง A.I. Sandbox 

การจัดการศึกษาที่แตกต่างด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลและ AI พร้อมร่วมมือในหลักสูตรด้านวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์ (A.I.Engineering) ล่าสุดความร่วมมือได้ขยายสู่ 11 มหาวิทยาลัย คาดว่าแต่ละมหาวิทยาลัยมีนักวิจัยด้าน AI ราว 10 คน รวมแล้วอาจมีจำนวนเกิน 100 คน

รายงานแนวโน้มความต้องการบุคลากรในอุตสาหกรรม AI พบว่าในปี 2570 ภาคอุตสาหกรรมดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ จะมีความต้องการบุคลากรจำนวนสูงเกิน 34,500 ตำแหน่ง โดยข้อมูลจากสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พบว่านักศึกษาในสาขาเทคโนโลยีดิจิทัลและคอมพิวเตอร์ของประเทศไทย ปี 2560-2564 นั้นมีจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยในปีการศึกษา 2564 พบจำนวนนักศึกษาใหม่ 17,485 คน และลดลงกว่าปี 2560 ราว 7.6%


กำลังโหลดความคิดเห็น