ผลสำรวจ ‘เทเลนอร์’ พบคนไทยยอมแลกข้อมูลส่วนตัวเพื่อเข้าถึงสิทธิประโยชน์บางอย่างในการใช้งานบริการดิจิทัล นอกจากนี้ ยังพบว่า คนไทยใช้เวลาออนไลน์เกือบ 5 ชั่วโมงต่อวัน เทียบค่าเฉลี่ยอาเซียนอยู่ที่ 4 ชั่วโมง 35 นาที จากรายงาน Digital Lives Decoded ประจำปี
มานิช่า โดกรา รองประธานอาวุโส ฝ่ายสื่อสารองค์กรและความยั่งยืน เทเลนอร์เอเชีย กล่าวว่า ความก้าวหน้าของการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิทัลในไทยเกิดขึ้นรวดเร็วมาก จากรายงานประจำปีนี้แสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคซึ่งขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีมือถือ และศักยภาพในการสร้างการเปลี่ยนแปลงของ AI
“ผลการวิจัยจากรายงาน Digital Lives Decoded 2024 เน้นย้ำถึงโอกาสที่ AI นำมาสู่ประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มความปลอดภัยส่วนบุคคล ไปจนถึงการเปลี่ยวงการการศึกษาและบันเทิง สิ่งสำคัญคือต้องให้ความรู้และเครื่องมือแก่ผู้ใช้และเสริมเกราะความปลอดภัยด้านดิจิทัลของพวกเขาอีกด้วย”
จากการสำรวจยังพบข้อมูลที่น่าสนใจว่า ผู้คน 3 ใน 4 ยังรู้สึกว่าไม่สามารถควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลทางออนไลน์ได้ สูงกว่าค่าเฉลี่ยของอาเซียนที่ 68% ขณะเดียวกัน การหลอกลวงทางการเงินและการขโมยข้อมูลส่วนตัวยังเป็นปัญหาสำคัญอันดับต้นๆ ในประเทศไทย โดยอย่างน้อย 1 ใน 2 ของกลุ่มคนยังกังวลเกี่ยวกับเรื่องนี้
อย่างไรก็ตาม คนไทยเชื่อใจเว็บไซต์ที่ใช้งานในแง่ของการที่เว็บไซต์เหล่านั้นจะสามารถปกป้องความเป็นส่วนตัวมากถึงกว่า 38% เทียบกับ 21% ในสิงคโปร์ และมีแนวโน้มที่จะอนุญาตให้บริษัทเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลของพวกเขาเพื่อแลกกับข้อเสนอและบริการส่วนบุคค
“สิ่งเหล่านี้เน้นย้ำถึงความย้อนแย้งในด้านของความเป็นส่วนตัวทั่วไป เพราะถึงจะแสดงความกังวลเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัว แต่พวกเขาไม่ยอมที่จะละทิ้งความสะดวกสบายในชีวิตประจำวันโดยที่ยอมจำนนต่อการเสียความเป็นส่วนตัวบางส่วน”
จากข้อมูลยังชี้ให้เห็นว่า กลุ่มคนที่อายุน้อยที่สุดอย่าง Gen Z ที่เข้าถึงดิจิทัล และรับรู้ถึงความเป็นส่วนตัว กับกลุ่มผู้ใช้งานที่อายุเยอะในกลุ่ม Baby Boomer ที่มีข้อมูล ให้ความสนใจกับเรื่องของการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน
โดยในส่วนของการแก้ไขปัญหาเหล่านี้จะต้องเกิดขึ้นจากความร่วมมือของหลายภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นผู้ให้บริการดิจิทัล การให้ทักษะความรู้แก่ผู้ใช้งาน ไปจนถึงหน่วยงานภาครัฐ และภาคการศึกษาที่ต้องให้ความตระหนักรู้เกี่ยวกับไซเบอร์ซิเคียวริตีอย่างต่อเนื่อง
***คนไทยใช้ประโยชน์จาก AI
สำหรับการตื่นตัวของคนไทยต่อ AI มีความน่าสนใจมากตรงที่ 77% ของผู้ตอบแบบสอบถาม ใช้งานเครื่องมือ AI โดยใช้ในแง่ความบันเทิง สำหรับโซเชียลมีเดีย ขณะเดียวกัน 40% มีการใช้งาน AI บนแพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง แม้ว่า 85% จะเชื่อว่า AI จะส่งผลดีต่อการศึกษา แต่ยังไม่ได้มีวิธีการปรับใช้อย่างเป็นรูปธรรม
ปัจจุบัน ประเทศไทยยังตามหลังตลาดอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในการใช้เครื่องมือ AI ในสถานที่ทำงาน โดยมีอัตราเพียง 1 ใน 5 เท่านั้นที่ใช้ AI เพื่อการทำงาน เมื่อเทียบกับประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์ และยังพบว่า คนไทยมีมุมมองต่อคนที่ใช้ AI ว่าขี้โกง ในการมีเครื่องมือมาช่วยทำงาน
โดยผู้ที่ใช้ AI เพื่อทำงานนั้นมีแนวโน้มสูงกว่าผู้ที่ไม่เชื่อว่า AI จะส่งผลบวกต่อความมั่นคงในการทำงานถึงร้อยละ 13 นอกจากนี้ พวกเขายังมีแนวโน้มสูงกว่าร้อยละ 43 ที่จะเชื่อถือในข้อมูลที่สร้างโดย AI โดยเฉพาะจากแชตบอตของ AI รวมถึงผู้มีรายได้สูงมีแนวโน้มที่จะเลือกใช้ AI ในที่ทำงานมากกว่า 21%
นอกจากนี้ AI ยังสามารถช่วยให้รู้ทันโลก และปลอดภัยมากขึ้น แม้หลายคนจะกังวลเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัวของข้อมูล แต่ก็ยังรู้สึกตื่นเต้นกับประโยชน์มากมายของ AI
มานิช่า กล่าวสรุปว่า จากผลสำรวจนี้แสดงให้เห็นความวิตกกังวลเกี่ยวกับอุปกรณ์ที่ขับเคลื่อนโดย AI นั้นลดลงในประเทศไทยมากกว่าในประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์ และความเชื่อมั่นในข้อมูลที่สร้างโดย AI ก็สูงขึ้นในทุกด้านของประเทศไทย