xs
xsm
sm
md
lg

SIS ลุยขายหุ่นยนต์แขนกลจีน จับ "Dobot" รุกครัวกลางไทย สางปมขาดแคลนแรงงาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดจำหน่ายสินค้าไอทีรายใหญ่ของไทย "เอสไอเอส ดิสทริบิวชั่น" (SIS) คว้าสิทธิเป็นตัวแทนจำหน่าย "ดูบอท" (Dobot) หุ่นยนต์ร่วมปฏิบัติงาน (Collaborative Robot) จากจีน ย้ำไม่เน้นแค่ตลาดอุตสาหกรรมยานยนต์ โลจิสติกส์ และการศึกษาไทย แต่จะมุ่งไปที่ตลาดครัวกลาง ตั้งเป้ายอดขายปี 2568 ที่ 80 ล้านบาท และคาดว่าจะเติบโตเป็น 300 ล้านบาทในปี 2570

นายสมชัย สิทธิชัยศรีชาติ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสไอเอส ดิสทริบิวชั่น (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปัญหาขาดแคลนแรงงานในสังคมสูงวัยกำลังทวีความรุนแรง โดยปัจจุบันไทยมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปถึง 13 ล้านคน หรือ 1 ใน 5 ของประชากรทั้งประเทศ ส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมต้องพึ่งพาหุ่นยนต์มากขึ้น เบื้องต้นเชื่อว่าสินค้ากลุ่มแขนกลเหมาะสมกับครัวกลาง เนื่องจากมีการใช้พนักงานทำงานซ้ำไปมา และต้องการความแม่นยำในการทำงาน ซึ่งจะทำได้ดีขึ้นอีกด้วยเทคโนโลยี

"งานเหล่านี้พลาดไม่ได้ ต้องชั่งตวงแม่นยำ และได้คุณภาพ ครัวกลางเป็นกลุ่มที่ให้ความสำคัญเรื่องนี้มาก เพราะร้านอาหารที่เป็นเชนมีหลายสาขา ซึ่งปัจจุบันให้รสชาติที่สม่ำเสมออยู่แล้วไม่ว่าจะรับประทานที่ร้านไหน แต่เชื่อว่าจะทำได้ดียิ่งขึ้นเมื่อมีเทคโนโลยี”

สมชัย สิทธิชัยศรีชาติ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสไอเอส ดิสทริบิวชั่น (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กับแขนกล Dobot
แม้สถิติชี้ว่าไทยนำเข้าหุ่นยนต์อุตสาหกรรมแล้วกว่า 3,600 ตัวในปี 2566 จัดเป็นอันดับ 15 ของโลก และอันดับ 1 ในอาเซียน (ข้อมูลจากรายงาน World Robotics 2023) แต่ส่วนตัวสมชัยเห็นว่ามีโอกาสเพิ่มขึ้นเร็วกว่านี้ เนื่องจากตลาดไทยมีขนาดใหญ่ขึ้น ซึ่งไม่เพียงสามารถนำมาใช้หยิบจับสิ่งของหน้าสายพานในโรงงานเท่านั้น แต่ยังสามารถนำมาใช้ในร้านอาหารได้ 

ดังนั้น การเติบโตที่เร็วจะเกิดขึ้นได้เพราะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการ ขณะเดียวกันก็ทำงานไม่ผิดพลาด และทำได้ตลอดเวลา ส่งให้ผู้ประกอบการบริหารต้นทุนได้ดีขึ้น และอาจคืนทุนในเวลาเร็วกว่า 1 ปี โดยหลายรุ่นมีราคาหลักหมื่นบาท สามารถช่วยทำงานในวันที่ขาดแคลนแรงงานในตลาดบริการ



ในแถลงการณ์ SIS ตั้งเป้ายอดขาย Dobot ในปี 2568 ที่ 80 ล้านบาท และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 300 ล้านบาทในปี 2570 โดยนอกจากธุรกิจและอุตสาหกรรม SIS ได้ลงทุนร่วมกับ Dobot ที่มาเปิดสาขาในประเทศไทย เพื่อสร้างเวิร์กชอปฝึกอบรมพาร์ตเนอร์ และวางแผนจัดแข่งขันเขียนโปรแกรมตั้งแต่ระดับประถมถึงอุดมศึกษา โดย Dobot รุ่นสำหรับการศึกษาสามารถช่วยเรื่องการเรียนการสอนเขียนโปรแกรม ซึ่งทั้ง SIS และ Dobot มีโครงการตั้งศูนย์วิจัยร่วมกันเพื่อสนับสนุนการเรียนการสอนโดยไม่หวังผลกำไร

เจอรี่ หลิว ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดูบอท
นายเจอรี่ หลิว ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดูบอท เปิดเผยว่า ประเทศไทยนั้นเป็นตลาดสำคัญในเอเชียแปซิฟิก เนื่องจากเป็นฐานการผลิตยานยนต์ใหญ่สุดในอาเซียน ผลิตรถยนต์ 1.83 ล้านคันในปี 2566 โดยแขนกลสามารถทำงานซับซ้อนได้ เช่น ประกอบชิ้นส่วน พ่นสี เชื่อม และตรวจสอบคุณภาพ ซึ่งทำให้ดูบอทตั้งเป้าเติบโต 90% ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกปี 2567 โดยมองไทย มาเลเซีย เวียดนาม ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอินเดียเป็นตลาดสำคัญ

"ไทยเป็นสาขาที่ 4 ของ Dobot หลังจากที่เปิดสาขาในฮ่องกง สหรัฐอเมริกา เยอรมนี และญี่ปุ่น สาขานี้จะไม่ได้มีการตั้งโรงงาน แต่เน้นให้การสนับสนุนด้านเทคนิค บริษัทจะรอดูการเติบโตตลาด ถ้าไทยมีดีมานด์ บริษัทพร้อมจะเข้ามาตั้งโรงงาน เพื่อมอบโซลูชันที่ตอบโจทย์ตลาดร่วมกับพันธมิตร Dobot ไม่กังวลเรื่องการแข่งขันในตลาดแชนกล เพราะมีเข้าไปจำหน่ายที่ญี่ปุ่นแล้วและมียอดขายน่าพอใจ รวมถึงยุโรป เชื่อว่าใน 1-3 ปี Dobot จะเป็นอันดับ 1 ในประเทศไทย"

แขนกลอัจฉริยะ Dobot
แขนกลอัจฉริยะ Dobot นี้มีจุดเด่นด้านเทคโนโลยี "เซฟสกิน" ที่หยุดหุ่นยนต์ก่อนชนวัตถุ 10-15 เซนติเมตร มีการใช้งานแล้ว 72,000 ตัวใน 80 ประเทศ

การเปิดตลาด Dobot ของ SIS ในครั้งนี้ถือว่าสอดคล้องกับทิศทางโลก โดยรายงานจากสหพันธ์หุ่นยนต์นานาชาติคาดการณ์ว่าตลาดโคบอทโลกจะเติบโต 36.6% ต่อปี จาก 1.4 พันล้านดอลลาร์ในปี 2567 เป็น 4.9 พันล้านดอลลาร์ในปี 2571 ดังนั้นในประเทศไทยจึงมีแนวโน้มขยายตัวในทางเดียวกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น