xs
xsm
sm
md
lg

ศิริราชทุ่ม 800 ล้านบาท ย้าย On Prem ขึ้น Cloud อัปเกรดระบบไอทีครั้งประวัติศาสตร์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ประกาศความสำเร็จในการพัฒนาระบบสารสนเทศใหม่ร่วมกับ 3 พันธมิตร ชูเป็นโรงพยาบาลรัฐแห่งแรกในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่ใช้ RISE with SAP Private Cloud Edition แบบครบวงจร ชี้งบ 800 ล้านบาทที่ใช้ไปคุ้มค่าเพราะมีความสำคัญและต่อยอดจากระบบหลังบ้านที่ใช้มานานเกิน 20 ปี มั่นใจระบบที่ได้ในเฟสแรกจะเพียงพอให้งานที่สำคัญต่อการดูแลคนไข้ที่มีการเข้าใช้บริการ 4.8 ล้านครั้งต่อปี


ศ.นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า ”โครงการพัฒนาระบบสารสนเทศ Siriraj EPR Project” เป็นส่วนหนึ่งของแผนกลยุทธ์ด้านไอที 5 ด้าน ได้แก่ 1.สนับสนุนนวัตกรรมการวิจัยทางการแพทย์ 2.พัฒนาการดูแลสุขภาพขั้นสูง 3.สร้างโครงสร้างพื้นฐานด้าน IT ระดับโลก 4.ยกระดับความปลอดภัยของข้อมูล และ 5.พัฒนาศักยภาพบุคลากร โดยโครงการนี้จะรองรับการขยายตัวของศิริราชทั้ง 4 หน่วยงาน ประกอบด้วย คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก ศูนย์วิจัยคลินิก และศูนย์บริการสุขภาพผู้สูงอายุศิริราช-สมุทรสาคร เพื่อมุ่งสู่การเป็นสถาบันการแพทย์ชั้นนำระดับโลก

“เราใช้งบประมาณ 800 ล้านเฉพาะระบบนี้ จำเป็นต้องลงทุนเพราะมีความสำคัญอย่างยิ่ง ต่อยอดจากระบบที่เราใช้มา 20 ปีที่แล้ว และเราเชื่อมั่นว่าจะทำให้การบริหารจัดการงบประมาณ การจัดการเงิน การคลัง พัสดุ และบุคลากรศิริราช มีการบูรณาการได้อย่างราบรื่น เราจะใช้เทคโนโลยีใหม่ที่จะดึงข้อมูลมาใช้งานได้ดีและมีประโยชน์มากขึ้น งบประมาณ 800 ล้านบาทนี้ครอบคลุมระยะเวลา 2 ปี แม้ผลลัพธ์ที่ได้จะไม่ใช่ Agentic AI และยังมีหลายจุดที่ต้องส่งบุคลากรไปเรียนรู้ แต่ระบบที่ได้ในเฟสแรกจะเพียงพอให้งานของเราที่สำคัญกับการดูแลคนไข้ที่มีการเข้าใช้บริการ 4.8 ล้านครั้งต่อปี รวมถึงการดูแลบุคลากรและนักศึกษาเกิน 2 หมื่นคน เช่นเดียวกับการจัดการงบประมาณ คุรุภัณฑ์ รวมถึงเงินเดือน ซึ่งเมื่อมั่นใจแล้วทุกคนจะทำงานได้เต็มที่ เพื่อให้ศิริราขเป็นโรงพยาบาลของประชาชน”



โครงการ Siriraj EPR Project นี้ครอบคลุมการติดตั้งระบบหลักสองส่วน ได้แก่ 1.SAP S/4HANA และ SAP SuccessFactors สำหรับการบริหารจัดการองค์กร ทั้งด้านบัญชี การเงิน งบประมาณ การจัดซื้อ คลังสินค้า และทรัพยากรบุคคล และ 2.SAP Analytics Cloud และ SAP Datasphere สำหรับการวางแผน ติดตาม และจัดการข้อมูลเพื่อการตัดสินใจของผู้บริหาร การดำเนินงานแบ่งเป็น 2 ระยะ ระยะแรกคือการติดตั้ง SAP S/4HANA แล้วเสร็จและเริ่มใช้งานเมื่อ 1 ตุลาคม 2567 และระยะที่ 2 คือพัฒนาระบบวิเคราะห์ข้อมูล คาดว่าจะแล้วเสร็จมีนาคม 2568

สำหรับระยะที่ 2 โครงการจะมุ่งเน้นการปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานด้านการบริหารจัดการด้านการวางแผนและการติดตามและการจัดการข้อมูลสนับสนุนการตัดสินใจของผู้บริหารให้ดียิ่งขึ้นด้วย SAC (SAP Analytic Cloud) ตลอดโครงการต้องใช้ความร่วมมือของทีมงานกว่า 300-400 คนจากศิริราชและ 3 พันธมิตร นั่นคือบริษัท IT One ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างเอคเซนเชอร์ และ SCG ซึ่งได้เข้าทำ Digital Transformation ระบบบริหารจัดการโรงพยาบาล (HIS-Hospital Information System) เพื่อให้การบริหารจัดการระบบคนไข้ มีประสิทธิภาพ ครบวงจร ตามมาตรฐานสากล 



 ศ.นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
ผลลัพธ์ที่เห็นชัดของโครงการพัฒนาระบบสารสนเทศ Siriraj EPR Project ล่าสุด คือการลดงานที่ต้องทำด้วยมือ (Manual) เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของบุคลากร โดยสามารถเข้าถึงข้อมูลได้แบบ Real-time มีความถูกต้องแม่นยำสูง และทำงานได้ยืดหยุ่นมากขึ้นจากการเข้าถึงระบบได้ทุกที่



***หลังบ้านเปลี่ยน หน้าบ้านต้องปรับ

ศ.นพ.อภิชาติ ระบุว่าเป้าหมายจากโครงการนี้ที่ศิริราชตั้งเป้าไว้ในปี 2025 คือการนำมาปรับใช้กับการวางแผนเรื่องงบประมาณ การจัดการบัญชี และการจัดการการคลังได้ตลอดทั้งปีตามที่วางแผนไว้ โดยบุคลากรที่เกี่ยวข้องจะต้องเรียนรู้ระบบไอทีใหม่ทั้งหมด ทั้งส่วนงานนโยบาย งบประมาณ การเงินการคลัง พัสดุ ทรัพยากรบุคคล และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง และนอกจากระบบหลังบ้าน ปัจจุบันศิริราชกำลังพิจารณาหาส่วนที่เหมาะสมกับระบบงานหน้าบ้านด้วย

“แบ็กออฟฟิศที่ดีจะทำให้คนไข้ได้รับผลดี เราใช้แบ็ดออฟฟิศและฟรอนท์ออฟฟิศเดิมมานานมาก ตอนนี้เรากำลังทำระบบฟรอนท์ออฟฟิศคู่ไป ยังต้องพิจารณาหาส่วนที่เหมาะสมกับศิริราชมากที่สุด เพื่อตอบโจทย์การเป็นโรงพยาบาลที่ให้บริการมานานที่สุดในประเทศ”


เบื้องต้น ศ.นพ.อภิชาติไม่เปิดเผยงบประมาณรวมด้านดิจิทัลของศิริราชที่วางแผนใช้จ่ายต่อปี โดยศิริราชคือพื้นที่ส่วนหลักของขอบเขตดำเนินโครงการ ซึ่งจำเป็นต้องมีการลงทุนที่ต่อเนื่องต่อไป โดยโครงการนี้ยังไม่นับรวมเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) รวมถึงไฮบริดคลาวด์ ทำให้ต้องมีที่ปรึกษาและดำเนินงานหลายด้านคู่ไป สำหรับจุดคุ้มทุนหรือ ROI ศ.นพ.อภิชาติย้ำว่าจะไม่ประเมินจากส่วนเม็ดเงินต้นทุนอย่างเดียว แต่จะนับจากองค์รวมทั้งหมด โดยมุ่งคำนึงทั้งเรื่องการได้ช่วยชีวิตผู้คนและการมอบการศึกษาที่เพิ่มโอกาสในสังคมไทย

“เราจึงไม่พูดเรื่องเงินอย่างเดียว แต่ดูประโยชน์ที่เกิดขึ้นรอบด้านในฐานะสถาบันด้านสุขภาพของแผ่นดิน”


น.ส.กุลวิภา ปิยวัฒนเมธา กรรมการผู้จัดการประจำภูมิภาคอินโดจีน บริษัท SAP
น.ส.กุลวิภา ปิยวัฒนเมธา กรรมการผู้จัดการประจำภูมิภาคอินโดจีน บริษัท SAP กล่าวว่าการใช้ RISE with SAP S/4HANA Cloud ของโรงพยาบาลศิริราชถือเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาระบบการดูแลสุขภาพของภาครัฐในประเทศไทยและสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลในวงกว้างของประเทศซึ่งโซลูชันของ SAP จะช่วยปรับปรุงการดำเนินงานและการตัดสินใจที่ต้องขับเคลื่อนด้วยข้อมูลช่วยให้โรงพยาบาลสามารถเข้าใกล้วิสัยทัศน์บริการด้านสุขภาพที่ยั่งยืน



***800 ล้านบาทไม่แพง!


น.ส.ปฐมา จันทรักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ Accenture (Thailand) กล่าวว่า โครงการนี้เป็นอีกก้าวสำคัญในการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลของศิริราช โดยการย้ายระบบ Infrastructure จาก On Premise สู่ On Cloud ด้วย RISE with SAP Private Cloud Edition จะเอื้อให้ศิริราชมีพัฒนาการที่สอดคล้องกับแนวโน้มด้านสาธารณสุขสมัยใหม่ โดย 7 เทรนด์โลกด้านเฮลท์แคร์สมัยใหม่ ประกอบด้วย 1.การมอบการรักษาที่เฉพาะเจาะจงกับคนไข้แต่ละคน ทำให้การรักษาสั้นลง 2.มีข้อมูลที่ระบุได้ถึงการรักษาที่ตรงจุดมากขึ้น 3.การใช้เทคโนโลยีในการดูแลสภาพจิตใจผู้ป่วย 4.อุปกรณ์สวมใส่ได้ที่อ่านคลื่นสมองแล้ววิเคราะห์สุขภาพได้ 5.การวิเคราะห์พันธุกรรมจีโนม 6.การรักษาความปลอดภัยของข้อมูลสุขภาพ และ 7.การแก้ปัญหาขาดแคลนบุคลากรการแพทย์

“800 ล้านบาทถือว่าไม่แพง ถามว่าทำไมไม่แพง? เนื่องจากศิริราชมีการเก็บข้อมูลดิจิทัลมาตั้งแต่ปี 2002 หรือ 20 ปีที่แล้ว เพราะฉะนั้น การนำข้อมูลมาจัดเก็บเพื่อทำให้ ไม่ใช่แค่วิเคราะห์ในระบบหลังบ้านได้ดี แต่การช่วยในเรื่องของการวิเคราะห์และสามารถตัดสินใจได้แบบที่เรียกว่าเรียลไทม์นั้นสำคัญมาก เพราะฉะนั้น การลงทุนของศิริราชที่ทำอย่างต่อเนื่องและมีการนำเอาเทคโนโลยีที่วันนี้ขึ้นไปบนคลาวด์ ยิ่งทำให้การใช้จ่ายหรือการนำเอาระบบข้อมูลต่างๆ มาช่วยผู้บริหารตัดสินใจ มีประโยชน์ต่อการช่วยชีวิตคนไข้ การลงทุนครั้งนี้จึงถือว่าคุ้มยิ่งกว่าคุ้ม เพราะไม่ใช่แค่ทำให้การดูแลคนไข้มีประสิทธิภาพ แต่ทำให้บุคลากรสามารถดูแลผู้ป่วยจำนวนมากขึ้น ได้อย่างแม่นยำและมีประสิทธิภาพ”



  น.ส.ปฐมา จันทรักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ Accenture (Thailand)
ปฐมาทิ้งท้ายว่า ศิริราชสามารถนำเอา AI เข้ามาใช้ รวมถึงคลาวด์ ระบบอัตโนมัติและโรบอตเข้ามาใช้บนโครงการนี้ได้ ดังนั้น 800 ล้านบาทจึงไม่ใช่งบประมาณที่มากเกินไป สำหรับการดูแลคนไทยที่ทำให้การรักษาพยาบาลของศิริราชทำอย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยทำให้แพทย์สามารถดูแลคนไข้ได้จำนวนมากขึ้น




กำลังโหลดความคิดเห็น