xs
xsm
sm
md
lg

True พร้อมร่วมตำรวจตั้ง 'วอร์รูม' จัดการแก๊งคอลเซ็นเตอร์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ทรู คอร์ปอเรชั่น ลุยหยุดภัยมิจฉาชีพแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกลวงประชาชน เข้าพบ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หารือแนวทางความร่วมมือในการป้องกันและปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ โดยมีแนวคิดตั้ง “วอร์รูม” ร่วมกันที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

การปรึกษาหารือครั้งนี้ ทั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และทรู คอร์ปอเรชั่น จะร่วมมือกันในแนวทางการจัดตั้ง "วอร์รูม" ณ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อบูรณาการข้อมูลเชิงลึกจากทั้งสองฝ่าย นำมาวิเคราะห์เพื่อป้องปรามและจับกุมแก๊งมิจฉาชีพ โดยเฉพาะการทลายเครือข่ายที่ใช้อุปกรณ์ซิมบ็อกซ์ (Simbox) และการตรวจจับพฤติกรรมการโทร.หรือส่ง SMS ที่ผิดปกติ เพื่อหยุดยั้งแก๊งคอลเซ็นเตอร์และทลายแหล่งมิจฉาชีพในการสร้างความเสียหายและการสูญเสียทรัพย์สินจากการหลอกลวงประชาชน

นายมนัสส์ มานะวุฒิเวช ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กลุ่มทรู ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาอาชญากรรมทางไซเบอร์ที่กำลังสร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนอย่างกว้างขวาง จึงได้มุ่งมั่นดำเนินมาตรการเชิงรุกอย่างเข้มข้น เพื่อต่อต้านภัยคุกคามจากมิจฉาชีพที่สร้างความเสียหายแก่ประชาชน

ทั้งในรูปแบบแก๊งคอลเซ็นเตอร์และการส่งข้อความ SMS หลอกลวง โดยบริษัทได้กำหนดมาตรการคุ้มครองความปลอดภัยของลูกค้าและสังคมอย่างเป็นระบบ มีการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาช่วยคัดกรองและเฝ้าระวังพฤติกรรมที่ผิดปกติ พร้อมทั้งจัดตั้งทีมงานเฉพาะกิจในการตรวจสอบและป้องกันการกระทำผิดอย่างเข้มงวด

ล่าสุด ทรูได้ยกระดับความร่วมมือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการบูรณาการการทำงานเชิงลึก ด้วยการเตรียมจัดตั้งวอร์รูมร่วมกัน เพื่อผสานความเชี่ยวชาญและข้อมูลเชิงลึกจากทั้งสองฝ่าย การร่วมมือครั้งนี้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางไซเบอร์ได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำมากขึ้น โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ยับยั้งและทลายเครือข่ายมิจฉาชีพ เพื่อปกป้องประชาชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของกลุ่มอาชญากรเหล่านี้

นับตั้งแต่ปี 2567 บริษัทได้เพิ่มความเข้มงวดในการลงทะเบียนซิมการ์ดและเลขหมาย พร้อมนำเทคโนโลยี AI มาใช้ในการคัดกรอง มีการยกเลิกความร่วมมือกับคู่ค้าที่มีพฤติกรรมน่าสงสัย และระงับการใช้งานซิมการ์ดที่อาจถูกนำไปใช้ในทางมิชอบ รวมถึงจัดตั้งทีมงานเฉพาะกิจด้านการป้องกันการทุจริต (Fraud Team)

นอกจากนี้ ทรู คอร์ปอเรชั่นยังได้พัฒนาบริการ "ทรูไซเบอร์เซฟ" (True CyberSafe) เพื่อเสริมสร้างความปลอดภัยทางไซเบอร์แก่ผู้ใช้บริการ โดยระบบจะแจ้งเตือนเมื่อพบลิงก์ต้องสงสัย ซึ่งลูกค้าทรู-ดีแทค และทรูออนไลน์สามารถใช้งานได้ทันทีโดยไม่ต้องติดตั้งแอปพลิเคชันเพิ่มเติม


ด้านสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้นำระบบดิจิทัลและเทคโนโลยีทันสมัยมาใช้ในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม โดยล่าสุดได้เปิดตัวแอปพลิเคชัน Cyber Check ที่ช่วยให้ประชาชนสามารถคัดกรองเบอร์โทรศัพท์และตรวจสอบเลขบัญชีธนาคารที่ต้องสงสัยได้ โดยใช้ฐานข้อมูลจากระบบรับแจ้งความออนไลน์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเป็นข้อมูลจากการร้องเรียนและการดำเนินคดีจริง

ความร่วมมือครั้งนี้นับเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในประเทศไทย เพื่อความปลอดภัยของประชาชนและป้องกันการสูญเสียทรัพย์สินที่ถูกหลอกลวงจากกลุ่มมิจฉาชีพ สอดคล้องกับนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาการฉ้อโกงประชาชน รวมถึงการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี




กำลังโหลดความคิดเห็น