xs
xsm
sm
md
lg

กสทช.เข็นประมูล 6 คลื่นมือถือ รวมแบนด์วิดท์ 390 MHz ไตรมาส 2/68

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กสทช. เตรียมลุยประมูล 6 คลื่นความถี่ทั้ง 850 MHz 1500 MHz, 1800 MHz 2100 MHz 2300 MHz และ 26 GHz รวมทั้งหมด 390 MHz ไตรมาส 2/68 หลังปรับเกณฑ์ใหม่ ชี้วัตถุประสงค์จัดสรรคลื่นไม่ชัด เสี่ยงรายได้รัฐหด

ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)เปิดเผยว่า ที่ประชุม กสทช. เมื่อวันที่ 14 ม.ค.68 มีมติเห็นชอบให้สำนักงาน กสทช. ดำเนินการเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากลในย่าน 850, 1500, 1800, 2100, 2300 MHz และ 26 GHz โดยให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน ก่อนเสนอผลต่อที่ประชุม กสทช. พิจารณาอีกครั้ง เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งคาดว่า จะสามารถเปิดการประมูลได้ภายในไตรมาสที่ 2/2568

ด้าน พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการ กสทช.ในฐานะประธานอนุกรรมการด้านคลื่นความถี่และมาตรฐานทางเทคนิค กสทช.กล่าวว่า กสทช. วางแผนจัดสรรคลื่นความถี่ 6 ย่าน รวม 390 MHz แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ Low Band, Mid Band และ Hi Band เพื่อตอบสนองความต้องการด้านการสื่อสารยุคใหม่

Low Band มี 3 ย่านความถี่ ได้แก่ คลื่น 850 MHz ของ NT ที่จะหมดอายุ 3 สิงหาคม 2568 (2x15 MHz), คลื่น 1500 MHz (90 MHz) ที่จะหมดอายุวันเดียวกัน และคลื่น 1800 MHz (35 MHz) ที่เหลือจากการประมูลก่อนหน้า

Mid Band รวมคลื่น 2100 MHz ทั้ง FDD (60 MHz) และ TDD (15 MHz) ซึ่งมาจากการจัดสรรใหม่ รวมถึงคลื่น 2300 MHz (60 MHz) ของ NT ที่ใกล้หมดอายุ

Hi Band คือคลื่น 26 GHz จำนวน 100 MHz ที่เหลือจากการประมูลรอบก่อน

ทั้งนี้ ที่ประชุม กสทช. ยังมีประเด็นถกเถียงเรื่องวัตถุประสงค์ของการประมูล พล.ต.อ.ณัฐธร เพราะสุนทร กรรมการกสทช. ด้านกฎหมาย ตั้งคำถามถึงเป้าหมายหลักของการจัดสรรคลื่นว่า เน้นประสิทธิภาพการใช้งานจริง หรือมุ่งเน้นรายได้เข้ารัฐ ขณะที่ ราคาเริ่มต้นคลื่น 850 MHz สูงกว่าครั้งก่อน แต่คลื่น 2100 MHz กลับมีราคาต่ำลง โดยสำนักงาน กสทช. ชี้แจงว่า การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีมีผลต่อการกำหนดราคา


กำลังโหลดความคิดเห็น