xs
xsm
sm
md
lg

ทรูนำ 5G ช่วย “สาธารณสุขอัจฉริยะ” หยุดยั้ง “โรคหลอดเลือดสมอง” ด้วยการเชื่อมต่อบนรถรักษาอัมพาตเคลื่อนที่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



5G เชื่อมต่อวินาทีของชีวิตในยุคที่โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) กลายเป็นหนึ่งในสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นของคนไทย “ทรู คอร์ปอเรชั่น” บริษัทโทรคมนาคม-เทคโนโลยีชั้นนำอันดับ 1 ของไทย ได้นำศักยภาพของเครือข่าย 5G มาพลิกโฉมวงการสาธารณสุขไทย ผ่านโครงการรถรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ (Mobile Stroke Unit) เพื่อยกระดับการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ขั้นสูงสำหรับผู้ป่วยในพื้นที่ห่างไกลด้วยแนวทาง “สาธารณสุขอัจฉริยะ”

โดยร่วมกับโครงการรถรักษาอัมพาตเคลื่อนที่เฉลิมพระเกียรติเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการรักษาโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลันในพื้นที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช 21 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุข กับมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช กระทรวงมหาดไทย กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และสำนักงาน กสทช. พร้อมนำร่องแล้วที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชปัว จังหวัดน่าน

จากรายงานสถิติสาธารณสุขล่าสุดของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขในปี 2566 พบว่า ประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองสูงถึง 349,126 ราย และมีอัตราการเสียชีวิตร้อยละ 10 และทุพพลภาพถึงร้อยละ 60 โดยที่น่าวิตกคือผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่มีอายุน้อยกว่า 70 ปี ทั้งนี้ โรคหลอดเลือดสมองเป็นสาเหตุการตายของคนไทยอันดับ 2 รองจากมะเร็ง


นายประเทศ ตันกุรานันท์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านเทคโนโลยีและความปลอดภัยระบบสารสนเทศ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า "เครือข่าย 5G ของทรู คอร์ปอเรชั่นมีจุดเด่นทั้งด้านความเร็วสูง ความหน่วงต่ำ ความเสถียร และความสามารถในการเชื่อมต่ออุปกรณ์หลากหลาย ซึ่งเป็นหัวใจการเชื่อมต่อดิจิทัลที่สำคัญสู่ ‘Mobile Stroke Unit’ ให้สามารถดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองได้เสมือนอยู่ในการรักษาของแพทย์อย่างทันท่วงที โดยเฉพาะการส่งภาพสแกนสมองจากเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองที่มีไฟล์ขนาดใหญ่ และสัญญาณชีพของผู้ป่วยแบบเรียลไทม์ด้วยความละเอียดสูง ช่วยให้ทีมแพทย์วางแผนการรักษาได้อย่างแม่นยำและทันเวลา พลิกวิกฤตนาทีชีวิต ก่อนผู้ป่วยจะเดินทางมาถึงโรงพยาบาล ซึ่งลดอัตราการเสียชีวิตและทุพพลภาพของคนไทย"

ความสำคัญของ 5G การเชื่อมต่อความเร็วสูง ความหน่วงต่ำ (Low Latency) สู่ “Mobile Stroke Unit”

▪️การสื่อสารดิจิทัลคุณภาพและความเร็วสูง: อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงช่วยให้การสื่อสารระหว่างแพทย์และผู้ป่วยผ่านวิดีโอคอลมีความคมชัดและไม่สะดุด ทำให้การวินิจฉัยและการให้คำปรึกษามีประสิทธิภาพแม่นยำโดยเฉพาะเวลาที่ทุกวินาทีมีความหมายต่อชีวิต
▪️การรับ-ส่งดาต้า: การส่งและรับข้อมูลทางการแพทย์ เช่น ภาพถ่าย เอกซเรย์ หรือผลตรวจต่างๆ ต้องการความเร็วในการเชื่อมต่อที่สูง เพื่อให้ข้อมูลถูกส่งอย่างรวดเร็วและปลอดภัย
▪️การขยายบริการสาธารณสุข: อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงทำให้บริการทางการแพทย์ ยกระดับสู่ “สาธารณสุขอัจฉริยะ” สามารถเข้าถึงพื้นที่ห่างไกลหรือชนบท ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์

โครงการรถรักษาอัมพาตเคลื่อนที่เฉลิมพระเกียรติเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการรักษาโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลันในพื้นที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช 21 แห่งทั่วประเทศ มีแผนที่จะนำรถ Mobile Stroke Unit จำนวน 21 คัน กระจายสู่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชทั่วประเทศ ครอบคลุมพื้นที่ภาคเหนือ 6 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 9 แห่ง ภาคใต้ 4 แห่ง และภาคกลาง 2 แห่ง ซึ่งเริ่มที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชปัว จังหวัดน่าน เป็นแห่งแรก


รถ Mobile Stroke Unit นี้ได้รับการออกแบบให้เป็นเสมือนโรงพยาบาลเคลื่อนที่ โดยจะไปหาผู้ป่วยอย่างรวดเร็ว จากการที่ได้รับแจ้งจากผู้ป่วยหรือญาติที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล โดยมีหลักการทำงานที่สำคัญต่อชีวิตในภาวะวิกฤตจากโรคหลอดเลือดสมอง ดังนี้

▪️รถพยาบาลเฉพาะทางสำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ทำหน้าที่เสมือนโรงพยาบาลเคลื่อนที่สู่ชุมชน ช่วยลดระยะเวลารักษาและอัตราการเสียชีวิต หรือทุพพลภาพ
▪️เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง (CT Scanner) ให้ภาพสแกนสมองภายในไม่กี่วินาที ช่วยให้แพทย์วินิจฉัยและรักษาได้รวดเร็ว ทั้งกรณีหลอดเลือดอุดตันและเลือดออกในสมอง
▪️ติดตั้งอุปกรณ์ทันสมัย ทั้งเครื่องฉีดสารทึบรังสี เครื่องตรวจเลือด พร้อมระบบปรึกษาแพทย์เฉพาะทางทางไกล (Teleconsultation) และสามารถให้ยาสลายลิ่มเลือดได้ทันที
▪️ระบบกล้องบันทึกภาพและสนทนากับผู้ป่วยขณะอยู่บนรถ ช่วยให้ทีมแพทย์วางแผนการรักษาล่วงหน้าก่อนถึงโรงพยาบาล

นายประเทศ กล่าวเพิ่มเติมว่า “เทคโนโลยี 5G ที่มีความเร็วสูง ความหน่วงต่ำ และความเสถียร ช่วยให้การส่งข้อมูลทางการแพทย์ขนาดใหญ่ ทั้งภาพ CT Scan สมองและสัญญาณชีพของผู้ป่วย สามารถทำได้แบบเรียลไทม์อย่างแม่นยำและรวดเร็ว แม้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะอยู่ห่างไกลหลายร้อยหรือหลายพันกิโลเมตร ช่วยให้การวินิจฉัยและวางแผนการรักษาทำได้ทันที นับเป็นการยกระดับการเข้าถึงการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สำหรับประชาชนในพื้นที่ห่างไกล หรือพื้นที่ที่ขาดแคลนแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหลอดเลือดสมอง”

ทั้งนี้ องค์การโรคหลอดเลือดสมองโลก (World Stroke Organization: WSO) เผยว่าประชากรทั่วโลก 1 ใน 4 คนเคยประสบกับโรคหลอดเลือดสมอง ดังนั้นการดูแลสุขภาพและการป้องกันตั้งแต่เนิ่นๆ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยลดความเสี่ยงจากโรคร้ายนี้ ทั้งนี้ ประชาชนสามารถสังเกตอาการ “โรคหลอดเลือดสมอง” ด้วยตนเอง ตามหลัก B.E.F.A.S.T. เบื้องต้น ได้แก่

▪️Balance: เดินเซ เวียนศีรษะ บ้านหมุนฉับพลัน
▪️Eye: ตามัว มองเห็นภาพซ้อนฉับพลัน
▪️Face: ปากเบี้ยว หน้าเบี้ยวเฉียบพลัน
▪️Arm: แขนขาอ่อนแรงหรือชาครึ่งซีก
▪️Speech: พูดไม่ชัด เสียงเปลี่ยน ลิ้นแข็ง พูดไม่รู้เรื่อง
▪️Time: ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด

ผู้ป่วยที่มีอาการโรคหลอดเลือดสมอง หรือ Stroke จะต้องให้ยาสลายลิ่มเลือดภายใน 4 ชั่วโมง 30 นาที ซึ่งทุกๆ 1 นาทีที่เสียไปนั้น สมองและเซลล์ประสาทจะตาย 1.9 ล้านตัว หากพบแพทย์ล่าช้า อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต หรืออาจจะเป็นโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต กลายเป็นบุคคลทุพพลภาพถาวร ที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ กล่าวคือ หากผู้ป่วยหรือญาติมีอาการเดินเซ มองเห็นภาพซ้อน หน้าเบี้ยว แขนขาอ่อนแรง หรือพูดไม่ชัด ให้รีบโทร.1669 ทันที หากผู้ป่วยมีอาการดังกล่าวทางโรงพยาบาลจะส่งรถฉุกเฉินไปรับผู้ป่วย พร้อมกับแจ้งทีมปฏิบัติการรถรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ (Mobile Stroke Unit) ออกปฏิบัติการเพื่อออกรับผู้ป่วย เมื่อถึงจุดนัดพบ จะย้ายผู้ป่วยเข้ารถรักษาอัมพาตเคลื่อนที่เพื่อเริ่มการรักษาทันที


สำหรับความร่วมมือดังกล่าวในโครงการนี้ นับเป็นการต่อยอดความสำเร็จที่ทางทรู คอร์ปอเรชั่นได้ร่วมมือกับศูนย์โรคหลอดเลือดสมองศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อปี 2563 โดยเป็นโครงการที่ร่วมพัฒนาหน่วยรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ (Mobile Stroke Unit) ในรูปแบบของรถมาจากความคิดริเริ่มของศูนย์โรคหลอดเลือดสมองศิริราช พัฒนารถต้นแบบคันแรกเสร็จในปี 2561

“ทรู คอร์ปอเรชั่น ในฐานะบริษัทโทรคมนาคม-เทคโนโลยีชั้นนำอันดับ 1 ของไทย มีความมุ่งมั่นที่จะนำองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมมาพัฒนาระบบสาธารณสุขอัจฉริยะ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ขั้นสูงของประชาชนไทยในทุกพื้นที่อย่างเท่าเทียม” นายประเทศ กล่าวในที่สุด


กำลังโหลดความคิดเห็น