เปิดปีใหม่ กสทช. เจอวิจารณ์หนัก ดองวาระประชุม 42 เรื่อง อึ้ง! 5 วาระสำคัญค้างเกือบ 2 ปี โครงสร้างองค์กรใหม่ไม่ขยับ กำกับค่ามือถือ-เน็ตห่วยราคาโหด
แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า วันที่ 8 ม.ค.68 การประชุม กสทช. นัดแรกของปีเริ่มต้นด้วยปัญหาหนัก หลังพบระเบียบวาระการประชุมค้างพิจารณามากถึง 42 รื่อง รวมถึงเรื่องสำคัญหลายประเด็นที่ยังไม่ได้ข้อสรุป บางวาระสะสมความล่าช้ามาเกือบ 2 ปี สะท้อนปัญหาความล่าช้าในกระบวนการทำงาน ได้แก่
1.เรื่อง (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง การกำหนดและกำกับดูแลโครงสร้างอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายในประเทศ (ฉบับที่ 2) ซึ่งบรรจุวาระมาตั้งแต่ 26 ก.ค.2566 และได้มีการพิจารณาในที่ประชุม กสทช. เมื่อวันที่ 2 เม.ย.67 เพื่อให้นำข้อคิดเห็นไปปรับปรุง จากนั้นจนถึงปัจจุบันยังไม่ได้รับการพิจารณา
2.เรื่อง การปรับปรุง (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์การสนับสนุนการผลิตรายการที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ และสรุปผลการรับฟังความเห็นสาธารณะซึ่งเสนอขอบรรจุวาระตั้งแต่วันที่ 10 ต.ค.66 แต่ ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. เพิ่งอนุมัติให้บรรจุวาระให้ที่ประชุม กสทช. พิจารณาเมื่อวันที่ 7 ธ.ค.67
3.เรื่องการจัดตั้งคณะทำงานพหุภาคีเพื่อติดตามปัญหาสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และอินเทอร์เน็ตมีคุณภาพต่ำ อัตราค่าบริการสูงขึ้น การเปลี่ยนแปลงแพกเกจ การให้บริการโดยอัตโนมัติ ที่เสนอให้มีการบรรจุวาระตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค.66 และประธาน กสทช. ได้อนุมัติให้บรรจุวาระเมื่อ วันที่ 10 เม.ย.67
4.เรื่อง (ร่าง) โครงสร้างสำนักงาน กสทช. ซึ่งได้รับการบรรจุตั้งแต่การประชุมครั้งที่ 14/2566 เมื่อวันที่ 26 มิ.ย.66 และมีการพิจารณาในการประชุม กสทช. ครั้งที่ 16/2566 วันที่ 9 ส.ค.66 แต่ประธาน กสทช. ปิดประชุมไปก่อนที่จะ กสทช. จะลงมติ
5.เรื่องการปรับปรุงระเบียบ กสทช. ว่าด้วยข้อบังคับการประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคนาคมแห่งชาติ พ.ศ.2555 ซึ่งได้รับการบรรจุตั้งแต่การประชุมครั้งที่ 13/2566 เมื่อวันที่ 9 มิ.ย.66 เป็นต้น
ทั้งนี้ วาระที่ค้างพิจารณาในการประชุม กสทช.ครั้งที่ 1/2567 มีวาระค้างพิจารณาเพียง 34 เรื่อง ซึ่งน้อยกว่าการประชุม กสทช. ครั้งที่ 1/2568 ที่มีจำนวน 42 เรื่อง แสดงให้เห็นว่า ที่ผ่านมายังไม่สามารถดำเนินการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
นอกจากนี้ แหล่งข่าวยังระบุว่า ในวาระแผนการตรวจสอบภายในของคณะกรรมการตรวจสอบภายใน กสทช.เกิดประเด็นร้อน เมื่อมีข้อเสนอให้ตั้งกรรมการตรวจสอบภายในเพิ่มเติมอีก 1 คน หลังจากมีกรรมการลาออก ทำให้เหลือเพียง 4 คน จากที่กฎหมายกำหนดให้มี 3-5 คน
พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการ กสทช. เสนอชื่อ นายประจักษ์ บุญยัง อดีตผู้ว่าการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านการตรวจสอบภายในโดยตรง ให้เข้ามาเสริมทีม แต่กลับถูกประธาน กสทช. ปฏิเสธ พร้อมให้เหตุผลว่า 4 คนก็เพียงพอต่อการทำงานแล้ว และไม่ยอมเปิดโอกาสให้มีการโหวตเสนอชื่อ นายประจักษ์
ปมดังกล่าวก่อให้เกิดข้อสงสัยถึงความโปร่งใสในการบริหารงานของ กสทช. โดยเฉพาะในประเด็นการตรวจสอบด้านการเงิน สืบเนื่องจากแหล่งข่าวในสำนักงาน กสทช. เปิดเผยว่า ในช่วงที่ นายประจักษ์ ดำรงตำแหน่งผู้ว่า สตง. เคยชี้แจงกรณีการกระทำผิดของ นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการรองเลขาธิการ กสทช. ในเรื่องการอนุมัติงบประชาสัมพันธ์บนรถไฟฟ้า BTS ที่มีราคาสูงเกินจริง และการแบ่งซื้อแบ่งจ้างในโครงการ ERP