เปิดใจ “สุพรรณี อำนาจมงคล” ผู้จัดการประจำประเทศไทย เร้ดแฮท (Red Hat) ระบุภารกิจหลักปี 2568 ไม่ได้มีเพียงการคว้าโอกาสจากตลาดเวอร์ชวลไลเซชัน (Virtualization) ที่กำลังเปลี่ยนแปลงเพราะวีเอ็มแวร์ (VMWare) ถูกฮุบกิจการจนทำให้ผู้ใช้บางส่วนรู้สึกกังวลกับความไม่แน่นอน แต่ยังอยู่ที่การผลักดันปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในรูปแบบโอเพ่นซอร์ส ซึ่งเมื่อ AI มีความเปิดกว้างมากขึ้น จะส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือ การเข้าถึง และการพัฒนาที่รวดเร็ว และรองรับแพลตฟอร์มที่หลากหลาย
นอกจากมุ่งมั่นเป็นเบอร์ 1 เรื่อง AI แบบโอเพ่น (Open) สุพรรณียังย้ำเรื่องการให้ความสำคัญกับบุคลากรและการสร้างอีโคซิสเต็ม ทั้งเรื่องการลงทุนในการพัฒนาบุคลากร การอบรมวิศวกร การมอบใบรับรอง และการสร้างระบบสนับสนุนที่แข็งแกร่ง โดยจะต่อยอดจากการลดราคากระบวนการอบรมเพื่อสร้างบุคลากรที่เริ่มไว้แล้วตั้งแต่ปี 2567
วันนี้ เร้ดแฮทประเทศไทยวางหมากขยายธุรกิจด้วยการนำเสนอทางเลือกที่หลากหลาย โดยให้ความสำคัญกับโซลูชันคลาวด์ทั้งเทคโนโลยี Virtualization และคอนเทนเนอร์ (Container) รวมถึงการรองรับแพลตฟอร์มเดิมของลูกค้าที่เป็นองค์กรใหญ่ในไทย ซึ่งจากการพูดคุยกับสุพรรณี ผู้ดูแลและนำทัพงานด้านการพัฒนาธุรกิจและการขายทั้งหมดในประเทศไทย พบว่าเร้ดแฮทในปี 2568 ยังจะมุ่งทำความเข้าใจในความต้องการที่แตกต่างกันของลูกค้า และเน้นไฮไลต์ความยืดหยุ่นในการปรับตัวให้เข้ากับความต้องการเหล่านั้นต่อไป
สำหรับ Red Hat นั้นสร้างชื่อมาจากการเป็นผู้จัดจำหน่ายระบบปฏิบัติการ Linux เชิงพาณิชย์รายใหญ่ที่สุดในโลก ล่าสุด Red Hat Enterprise Linux (RHEL) ได้เปิดตัวแพลตฟอร์ม RHEL AI สำหรับองค์กรที่ต้องการฝึกโมเดล generative AI เพื่อให้มีชุดเครื่องมือสำหรับปรับแต่งหรือเปิดการทำงานโมเดล หนึ่งในเครื่องมือที่โดดเด่นคืออินสตรักแล็ป (InstructLab) ชุดเครื่องมือพัฒนาแชตบอต และโมเดลเกรนิต (Granite) ของไอบีเอ็ม (IBM) ซึ่งซื้อกิจการ Red Hat ไปในปี 2561 ด้วยเงินกว่า 3.4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ
***2 โอกาสหลัก Red Hat
สุพรรณีบอกเล่าถึงภาพรวมธุรกิจเร้ดแฮทในประเทศไทย ว่ากลยุทธ์ขยายตลาดปี 2568 จะยังเหมือนเดิม แต่เพิ่มเติมความสามารถให้ตอบโจทย์กับเทรนด์ที่เร้ดแฮทเห็น โดยเร้ดแฮทจะมุ่งตอบความต้องการของลูกค้าผ่านการยึดมั่นในหลักการโอเพ่นซอร์ส บนโอกาสในตลาด AI และ Virtualization ซึ่งบริษัทเห็นรัศมีสดใสในปีนี้
“การเปลี่ยนแปลงทำให้ปี 2568 เป็นปีที่เร้ดแฮทจะมุ่งแสดงความพร้อมตอบโจทย์ความต้องการตลาด โดยที่ยังเน้นรักษาแก่นแท้ของบริษัทไว้ นั่นคือความเป็นโอเพ่นซอร์ส” สุพรรณีกล่าว “ที่เราเห็นและผลักดันมากในปีนี้ คือ AI และ Virtualization เพราะเราเห็นความต้องการของลูกค้า เราอยากผลักดันโอเพ่นซอร์สจะมาตอบโจทย์ 2 ด้านนี้”
ในส่วน Virtualization นั้นมาจากตลาดไทยมีการเปลี่ยนแปลงสูงหลังบรอดคอม (Broadcom) ซื้อกิจการวีเอ็มแวร์และปรับโครงสร้างธุรกิจ ต้นเรื่องของส่วนนี้คือบริษัทด้านเซมิคอนดักเตอร์และซอฟต์แวร์ของสหรัฐฯ อย่างบรอดคอมนั้นเสร็จสิ้นการซื้อกิจการวีเอ็มแวร์ในเดือนพฤศจิกายน 2566 จากนั้นได้ลงมือปรับโครงสร้างเหลือ 4 แผนก พร้อมประกาศเลิกจ้างพนักงาน และเปลี่ยนแปลงดีลธุรกิจบริการที่วีเอ็มแวร์เคยมี โดยวางกลยุทธ์เน้นไปที่การขายบริการระบบประมวลผล ระบบจัดเก็บข้อมูล และระบบจำลองเครือข่ายเสมือน รวมถึงบริการจัดการอื่นๆ ด้วย
ผลกระทบคือ บรอดคอมประกาศบังคับเปลี่ยนให้ลูกค้าวีเอ็มแวร์ทุกรายต้องใช้บริการในรูปแบบสมาชิก (Subscription) เท่านั้นตั้งแต่ปลายปี 2566 ดังนั้น คู่แข่งในตลาดโซลูชันคลาวด์จึงล้วนเห็นโอกาสเข้าแย่งชิงลูกค้า เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นกับช่องทางจำหน่ายของวีเอ็มแวร์ ซึ่งทำให้บางองค์กรรู้สึกว่ากำลังเผชิญกับความไม่แน่นอน
ท่ามกลางหลายบริษัทที่เห็นโอกาสกรณีของวีเอ็มแวร์ เร้ดแฮท จึงประกาศจุดแข็งว่ามีความสามารถในการรองรับการย้ายระบบได้รวดเร็วและง่าย เพราะ 3 จุดเด่นของโอเพ่นซอร์สนั่นคือ การเป็นแหล่งรวมความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนความเชี่ยวชาญ ความโปร่งใสและการเข้าถึงได้อย่างเสรี และการส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรม
ตัวเลขจากบริษัทวิจัยไอดีซี (IDC) ชี้ว่าเทคโนโลยี Virtualization โดย VM มีการใช้งานในองค์กรราว 75% ในปัจจุบัน โดยที่เหลืออีก 25% นั้นเป็นเทคโนโลยี Container แต่สัดส่วนนี้กำลังพลิกกลับ และสุพรรณีเชื่อว่าจะเห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน ว่า Container จะถูกใช้งานมากขึ้นในช่วง 3-5 ปีข้างหน้า สวนทางกับเทคโนโลยี Virtualization ที่จะลดน้อยลง
***Container ควบ Virtualization
อย่างไรก็ตาม สุพรรณีย้ำว่าเร้ดแฮทจะไม่เน้นที่ Container เท่านั้น เพราะมุ่งตอบความต้องการโดยเน้นช่วยองค์กรมีทางเลือกให้การปรับใช้หรือเปลี่ยนแปลงได้เร็วขึ้น และไม่ว่าจะใช้เทคโนโลยีใด เร้ดแฮทก็จะดูแลได้ ซึ่งในอนาคตเชื่อว่าองค์กรจะมีความเข้าใจและเปิดรับการพัฒนาแอปพลิเคชันบนเทคโนโลยีใหม่มากขึ้น
“สำหรับองค์กรไทย พบว่ามีแนวโน้มไปที่เทคโนโลยี Container มากขึ้น เพราะตอบความต้องการเรื่องความเร็วได้ ซึ่งต้องยอมรับว่าทุกระบบจะไม่ได้ต้องการความเร็ว บางระบบอาจต้องการความง่ายไม่ซับซ้อน เช่น โมบายแบงกิ้งที่ไม่ได้เน้นความเร็ว”
Virtualization และ Container ต่างกันอย่างไร? สุพรรณีอธิบายว่า Virtualization เป็นแนวคิดในการพัฒนาแอปพลิเคชันที่หากองค์กรมีเครื่องเซิร์ฟเวอร์ขนาดใหญ่ Virtualization จะซอยย่อยทรัพยากรออกเป็นเหมือนห้องเล็กที่สามารถนำแอปไปใส่แล้วเปิดให้ระบบทำงานได้ แต่แนวคิดนี้ไม่เอื้อต่อการขยายทรัพยากรเพื่อรับการใช้งานที่เพิ่มขึ้นแบบมหาศาลในเวลารวดเร็ว เนื่องจากกระบวนการพัฒนาแอปพลิเคชันสมัยใหม่ที่มีขนาดเล็กมาก และการนำแอปไปใส่ในห้องนั้นสิ้นเปลืองทั้งพื้นที่และพลังประมวลผล จึงเกิดเป็นแนวคิดการนำแอปพลิเคชันมาใส่ในตู้ Container ขนาดเล็ก ซึ่งจะง่ายและเร็วต่อการขยายทรัพยากรมากกว่า
”เป้าหมายของเร้ดแฮท คือการมุ่งรองรับแพลตฟอร์มที่องค์กรมีอยู่แล้ว โดยจากการพูดคุยกับลูกค้าพบว่า มี 2 กลุ่ม กลุ่มแรกนั้นต้องการปรับใช้เทคโนโลยีใหม่ให้เร็วที่สุด โดยเอาของเก่าออกไปเพื่อใส่ของใหม่เข้ามาแทน โดยที่ลูกค้ายอมรับความเสี่ยงได้ ส่วนกลุ่มที่สองนั้นไม่อยากเปลี่ยน แต่อยากทำให้ระบบเก่าสามารถรันงานใหม่ได้ โดยต้องมีแพลตฟอร์มทางเลือกด้วย”
เมื่อทิศทางตลาดปี 2568 อยู่ที่เทคโนโลยี Virtualization และ Container ซึ่งเป็นส่วนที่เร้ดแฮทเชื่อว่าลูกค้าองค์กรจะให้ความสำคัญสูง ดังนั้น บริษัทจึงมุ่งสร้างทางเลือกให้องค์กรที่ยังใช้เทคโนโลยี Virtualization เพื่อมอบความต่างด้วยการใช้ 3 จุดแข็ง ได้แก่ ความเป็นโอเพ่นซอร์สที่จะไม่ถูกล็อกและสามารถเปลี่ยนแปลงระบบไปใช้เทคโนโลยีใดก็ได้ รวมถึงการมีอีโคซิสเต็มที่พร้อมดูแลลูกค้าได้ และการมีกลุ่มผู้เชี่ยวชาญในลูกค้าที่พิสูจน์คุณภาพของเร้ดแฮทมาแล้ว จากกลุ่มลูกค้า OpenShift ที่ใช้งานมานานเกิน 10 ปี
“ด้วยความต้องการที่เกิดขึ้น ทำให้ลูกค้าหาทางเลือก ทุกคนจึงเสนอตัวเป็นทางเลือก แต่ละรายจึงหวังเข้ามามีบทบาท ซึ่งต้องอยู่ที่ว่าแต่ละรายจะนำเสนอคุณค่าอย่างไร และอีกส่วนที่คิดว่าน่าจะเป็นจุดแข็ง คือเราไม่ได้มองที่การเปลี่ยนหรือ migrate มาเท่านั้น แต่ทำอย่างไรให้แพลตฟอร์มรองรับทั้งของปัจจุบัน และของเก่าที่จะ migrate มา รวมถึงของใหม่ที่จะไปได้ด้วยสกิลเซ็ตและแพลตฟอร์มเดียว เนื่องจากปัญหาที่พบมา คือองค์กรขาดแคลนบุคลากร ทำให้ไม่มีการใช้งานฟีเจอร์ของแพลตฟอร์มที่คุ้มค่า ดังนั้นเราจะให้ความสำคัญกับเรื่องคนและผู้เชี่ยวชาญ โดยช่วงปีที่ผ่านมา เร้ดแฮทโฟกัสที่โซลูชันใหม่กับพาร์ตเนอร์ต่างๆ ค่อนข้างมาก บริษัทจึงหันมาเน้นเรื่องการให้ใบรับรอง เพื่อที่จะให้มีผู้เชี่ยวชาญที่ลูกค้ามั่นใจได้ว่าจะเข้าไปช่วยดูแลระบบ”
ช่วงกรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา เร้ดแฮทมีการประกาศลดราคากระบวนการอบรมเพื่อให้ใบรับรองแก่พันธมิตร ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญให้องค์กรย้ายข้อมูลสู่ Virtualization โดยเป้าหมายของการลดราคาพิเศษเรื่องเทรนนิ่ง คือการสร้างอีโคซิสเต็มในเทคโนโลยีใหม่ ทำให้เร้ดแฮทสามารถผลิตบุคลากรได้มากขึ้น เพิ่มการเข้าถึงเทคโนโลยีขององค์กรไทย
***สร้างคน ต้องทำต่อ
แม้จะไม่เผยว่าลดราคาลงกี่เปอร์เซ็นต์ แต่การสร้างคนและการให้ใบรับรองนั้นมีผลต่อการทำตลาดโซลูชันคลาวด์ ดังนั้น การลดราคาเทรนนิ่งของเร้ดแฮทจึงสามารถถือเป็นสัญญาณที่บอกได้ว่าบริษัทยอมทำทุกอย่างเพื่อให้เกิดอีโคซิสเต็มที่แข่งขันได้ ในช่วงเวลาที่องค์กรไทยมีทางเลือกการทำเวอร์ชันเซชันที่หลากหลายมากขึ้น เห็นได้จากบริษัท SI ไทยที่เริ่มนำซอฟต์แวร์คลาวด์จากจีนมาให้บริการ รวมถึงการเสนอตัวเป็นทางเลือกของอีกหลายแบรนด์
ในขณะที่ลูกค้าองค์กรมีความต้องการต่างกัน แต่ละแห่งมีเวิร์กโหลดที่ต่างกัน เร้ดแฮทจึงวางแผนผลิตผู้เชี่ยวชาญที่ใกล้ชิดกับลูกค้า ขณะเดียวกันก็มีการอบรมวิศวกร มีการมอบใบรับรองมากขึ้น โดยมีการมอบใบรับรองแล้วจำนวน 8 คนในช่วงต้นปี 2567 เป้าหมายคือจะเพิ่มจำนวนผู้ที่จะนำเอาเทคโนโลยีไปใช้งานมากขึ้น คาดว่าจะมีบุคลากรไทยได้รับใบรับรอง 10 คนในช่วงปลายปี 2567 ที่ผ่านมา
“ในช่วงครึ่งหลังปี 2567 เร้ดแฮทเน้นทำเวิร์กชอปมากกว่าสามถึงสี่ครั้งต่อไตรมาส ผลตอบรับดีเพราะลูกค้าต้องการหาทางเลือกตอบโจทย์ทั้งในอนาคตและปัจจุบัน”
ดังนั้น การลงทุนปี 2568 เร้ดแฮทจะเน้นสร้างอีโคซิสเต็ม และมีโครงการรองรับการสร้างบุคลากรของพันธมิตรเร้ดแฮทมากขึ้นอีก เพื่อเป็นมดงานในการเดินหข้าไปในตลาดร่วมกัน พาร์ตเนอร์ที่คาดหวังในปี 68 คือกลุ่มผู้ติดตั้งระบบหรือ SI ที่เข้าถึงตลาดท้องถิ่น และมีความใกล้ชิดกับลูกค้าองค์กรในพื้นที่ โดยเร้ดแฮทยังเน้นเข้าถึงตลาดที่เป็นองค์กรใหญ่ในกรุงเทพมหานครต่อไป
***ผลักดัน AI โอเพ่นมากขึ้น
สำหรับวิสัยทัศน์ด้าน AI ของเร้ดแฮทในปี 2568 สุพรรณีชี้ว่าจะผลักดันให้ AI มีความเป็นโอเพ่นมากขึ้น เพื่อให้เกิดความร่วมมือและมีมาตรฐาน โดยรองรับการพัฒนา AI ทั้งในส่วนของโมเดล แพลตฟอร์ม และฐานข้อมูล เพื่อองรับแพลตฟอร์มที่องค์กรมีอยู่แล้ว ทั้งกลุ่มที่ต้องการปรับใช้เทคโนโลยีใหม่โดยแทนที่ระบบเก่า และกลุ่มที่ต้องการรันงานใหม่บนระบบเดิม
“โอเพ่นซอร์สในโลก AI มี 3 กลยุทธ์ คือการทำให้แพลตฟอร์มเร้ดแฮทสามารถรัน AI เวิร์กโหลดที่ไหนก็ได้ สามารถบริหารจัดการโมเดล AI ได้อิสระ และเป็นโอเพ่นโมเดล”
ปัจจุบัน เร้ดแฮทมีพนักงาน 32 คน ซึ่งเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากที่เริ่มเปิดสำนักงานอย่างเป็นทางการในปี 2559 และในช่วงขวบปีข้างหน้า สุพรรณีสรุปว่าเร้ดแฮทจะยังคงใช้กลยุทธ์เดิมที่เพิ่มความสามารถให้ตอบโจทย์กับเทรนด์ที่บริษัทเห็นต่อไป
"เร้ดแฮทใช้โอเพ่นซอร์สเทคโนโลยีเป็นกลยุทธ์ดั้งเดิมมาตลอด แต่เมื่อ 5-6 ปีที่ผ่านมา เรื่องคลาวด์นั้นมาแรงมากในตลาดไทย เร้ดแฮทจึงเน้นเป็นโอเพ่นไฮบริดคลาวด์เทคโนโลยีที่ไม่ว่าลูกค้าจะใช้คลาวด์ใด ก็สามารถโอเพ่น ย้ายไปมาได้เสรี จนถัดมาปี 2567 ไทยมีกระแส AI เร้ดแฮทจึงวางตัวเป็นโอเพ่นไฮบริดคลาวด์สำหรับยุคสมัยของ AI ที่ตอบโจทย์การใช้งาน AI อย่างยืดหยุ่น และมาปี 2568 มีเรื่อง Virtualization Alternative เพราะฉะนั้น เราจึงเน้นทำให้โอเพ่นไฮบริดคลาวด์ที่เรามี สามารถตอบโจทย์ในการเป็นทางเลือกของ Virtualization จริงๆ ดีเอ็นเอของเรายังคงเป็นเหมือนเดิมคือโอเพ่นซอร์ส”
และสำหรับปี 68 สินค้าเรือธงของเร้ดแฮทจะยังเป็น OpenShift ไม่เปลี่ยนแปลง