ไม่มีข้อไหนธรรมดาเลยสำหรับ 5 แนวโน้มที่ MD คนใหม่ของไอบีเอ็มประเทศไทย (IBM) เลือกหยิบมาขยายความ และไฮไลท์แรงกระเพื่อมที่พร้อมเขย่าโลกของการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือ AI ในปี 2568
หากไล่ดูเร็ว ๆ “อโณทัย เวทยากร” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย เชื่อว่า AI ในปี 68 จะกลายเป็นผู้ช่วยที่สามารถทำงานได้อย่างอิสระ (Agentic AI) และองค์กรจะให้ความสำคัญกับโครงการ AI ที่สามารถเพิ่ม ROI หรือผลตอบแทนจากการลงทุนได้มาก
สปอตไลท์ของ AI ปีงูยังฉายไปที่โมเดลขนาดเล็กแต่มีประสิทธิภาพสูง เพราะโมเดล AI ขนาดเล็กและเฉพาะทางจะมีบทบาทสำคัญแทนที่โมเดลขนาดใหญ่ที่ต้องใช้ข้อมูลการฝึกฝนจำนวนมาก และมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่า ตัวอย่างเช่นโมเดลภาษาขนาดใหญ่หรือ large language model (LLM) ที่องค์กรอาจพัฒนาเป็น smaller language model (SLM) แทน
เมื่อถามว่าเทรนด์ AI ใดจะมาแรงที่สุดในประเทศไทยช่วงปี 68 อโณทัยยกให้ Unified AI หรือกรอบการทำงาน AI ที่รวมเป็นหนึ่งเดียว เพื่อการจัดการและการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพ โดยมั่นใจว่า Unified AI จะถูกพูดถึงอย่างมากเพราะไม่ว่าองค์กรจะมีกี่ AI แต่สุดท้ายจะต้อง Unified หรือวางกรอบการทำงานเพื่อจัดระเบียบชุดข้อมูลที่เหมือนกัน กลายเป็นไบเบิลที่ช่วยลดความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติตามกฎหมาย ความเป็นส่วนตัวของข้อมูล, และทรัพย์สินทางปัญญา ทำให้องค์กรแน่ใจว่าทุก AI ได้รับการควบคุมอย่างดีตั้งแต่แรกเริ่ม
ที่สำคัญที่สุดคือ AI ในอนาคตจะเน้นที่มนุษย์มากขึ้น ไม่ใช่แค่ทำให้งานประจำเป็นอัตโนมัติเท่านั้น แต่ยังวิเคราะห์ข้อมูลอย่างเข้าอกเข้าใจความต้องการของนมุษย์ด้วย
***มุ่ง ROI มากกว่าทดลองใช้
สิ่งที่อโณทัยพูดถึงทั้งหมดเป็นเทรนด์ AI ในเอเชียแปซิฟิกที่ไอบีเอ็มระบุไว้ในรายงานเรื่อง "APAC AI Outlook 2025" หลักใหญ่ของรายงานชี้ให้เห็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในการใช้งาน AI ขององค์กรในภูมิภาค APAC ที่กำลังก้าวข้ามช่วงทดลองใช้งานสู่การมุ่งเน้นผลตอบแทนการลงทุนอย่างจริงจัง
จากการสำรวจ 17 ผู้นำอุตสาหกรรมในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค รวมถึงในประเทศไทย พบว่า 54% ขององค์กรในภูมิภาคคาดหวังให้ AI สร้างประโยชน์ระยะยาวทั้งด้านนวัตกรรมและการสร้างรายได้ โดยเกือบ 60% คาดว่าจะเห็นผลตอบแทนจากการลงทุนภายใน 2-5 ปี ขณะที่มีเพียง 11% ที่คาดหวังผลตอบแทนภายใน 2 ปี
ไอบีเอ็มเรียกสถานการณ์ที่ AI กำลังพัฒนาจากขั้นทดลองสู่การนำไปใช้เพิ่มรายได้ว่าเป็นการใช้เชิงกลยุทธ์ ดังนั้น Strategic AI จึงเป็น 1 ใน 5 เทรนด์ที่ส่งสัญญาณขยายตัวรวดเร็วทั่วภูมิภาค โดยประโยชน์ที่องค์กรคาดหวังจาก AI ใน 2 ปีข้างหน้า คือ AI สามารถสร้างบริการหรือโมเดลธุรกิจใหม่ นำไปสู่รายได้ที่เพิ่มขึ้น และช่วยลดต้นทุน
ถัดจาก Strategic AI เทรนด์ที่ 2 ที่ไอบีเอ็มวิเคราะห์ไว้สำหรับ AI ปี 68 คือ Rightsizing AI หรือโมเดล AI ขนาดเล็กกำลังดีที่ออกแบบมาโดยเฉพาะสำหรับภาษาท้องถิ่น หรือมีบริบทเฉพาะภูมิภาค และงานประมวลผลที่ไม่ซับซ้อน ใช้ข้อมูลฝึกฝนน้อยกว่าและสร้างคาร์บอนฟุตพริ้นท์ต่ำกว่า
เทรนด์ที่ 3 คือ Unified AI ซึ่งเมื่อมีการผสานรวมและกำกับดูแล AI ที่ครอบคลุมแล้ว เชื่อว่าองค์กร APAC จะใช้โมเดล AI แบบโอเพนซอร์สมากขึ้น พร้อมเครื่องมือจัดการที่มีประสิทธิภาพ เน้นความยืดหยุ่น คุ้มค่า และความปลอดภัย
เทรนด์ที่ 4 คือ Agentic AI หรือการใช้ระบบผู้ช่วย AI ที่ทำงานได้อย่างอิสระร่วมกับมนุษย์ โดย Agentic AI จะสร้างมูลค่าทางธุรกิจ แต่ต้องมีการกำหนดกรอบการทำงานและประเมินผลอย่างสม่ำเสมอ สุดท้ายคือ Human-Centric หรือ AI ที่เน้นมนุษย์เป็นศูนย์กลาง โดย AI จะเน้นการเพิ่มขีดความสามารถของมนุษย์ ช่วยให้พนักงานทำงานสร้างสรรค์ได้มากขึ้น และสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับลูกค้าได้ดีกว่าเดิม
***ก้าวต่อไปประเทศไทย
สำหรับประเทศไทย ไอบีเอ็มพบว่าองค์กรส่วนใหญ่วางแผนนำ AI มาใช้ใน 3 ด้านหลักปี 68 คือการทำงานอัตโนมัติในระบบแบ็คออฟฟิศ (29%) การเพิ่มประสิทธิภาพด้านไอที (18%) และการบริหารจัดการลูกค้าและระบบขายอัตโนมัติ (16%)
ในปี 2568 การลงทุน AI ขององค์กรไทยจะได้รับแรงผลักดันจาก 3 เรื่องหลัก คือความก้าวหน้าและเข้าถึงได้ง่ายขึ้นของเทคโนโลยี AI (42%) ความกดดันในแง่สิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน (41%) รวมถึงความกดดันจากลูกค้า (39%)
อย่างไรก็ตาม เพื่อบรรลุเป้าหมายเหล่านี้ องค์กรไทยจำเป็นต้องต่อกรกับความท้าทายหลัก อย่างปัญหาเวนเดอร์ล็อคอิน (41%) การขาดเครื่องมือหรือแพลตฟอร์มสำหรับการพัฒนาโมเดล AI (38%) และต้นทุนการติดตั้งระบบหรือค่าใช้โซลูชัน AI ต่างๆ (34%)
“ผมเชื่อว่าในเร็วๆนี้ จะมีแรงกระเพื่อมเรื่องกฏหมายด้าน AI ออกมาแน่นอน จะทำให้ Unified AI โดดเด่นขึ้นมา คนจะเริ่มทำโปรเจ็กต์ AI อย่างจริงจังเพราะหมดกังวลเรื่องความเสี่ยง ขณะเดียวกัน ตัวที่จะไปขนานกันคือ Strategic AI และ Rightsizing AI ตรงนี้สอดคล้องกับสิ่งที่ไอบีเอ็มประกาศทำโครงการพิเศษร่วมกับ 3 มหาวิทยาลัยไทย ในการสร้าง Change Agent เพื่อมอบเครื่องมือโอเพ่นซอร์สให้นักศึกษาได้เรียนรู้การเป็น AI Creator ที่สร้าง AI Agent ของตัวเอง”
3 มหาวิทยาลัยนี้ยังไม่มีการเปิดเผยชื่อ รวมถึงบางสมาคมที่ไอบีเอ็มประเทศไทยกำลังอยู่ระหว่างการร่าง MOU เพื่อแจ้งเกิดโครงการ Change Agent ช่วงต้นปี 68 คาดว่าจะเป็นแรงขับเคลื่อนบุคลากรไทยทั้งที่ยังเป็นนักศึกษาและคนทำงาน ให้สามารถเป็น AI Creator ผู้สร้างที่ไม่ได้ใช้งานอย่างเดียว
ที่สุดแล้ว สิ่งที่ AI จะเขย่าสังคมไทยมากที่สุดอาจเป็นการเร่งสร้างคน ตรงนี้ไม่เพียงเพื่อลบภาพจำว่าประเทศไทยขาดแคลนทักษะด้านการวิจัยและพัฒนาจนทำให้บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของโลกมองข้าม แต่การเร่งสร้างทักษะ AI ของไทยจะมีแรงกระเพื่อมถึงทุกอุตสาหกรรมในประเทศ โดยเฉพาะภาคการผลิตไทยที่จะแข่งขันกับเพื่อนบ้านได้ดีขึ้นหากไม่ผูกติดกับกระบวนการทำงานแบบเดิม แล้วประยุกต์ใช้เทคโนโลยีใหม่อย่างเหมาะสม ซึ่งหากทำได้ วงการ AI จะมีอิมแพคสูงมากต่อประเทศไทยใน พ.ศ. 2568 แน่นอน.