กสทช.ในฐานะผู้มีอำนาจในการบริหารกิจการสื่อสารโทรคมนาคมระหว่างประเทศ และสนับสนุนการดำเนินการของรัฐเพื่อให้มีดาวเทียมและสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมและประสานงานเกี่ยวกับการบริหารคลื่นความถี่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนการพิจารณาอนุญาต และกำกับดูแลการประกอบกิจการโดยใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมต่างชาติในการให้บริการในประเทศ (Landing Right) และแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ (พ.ศ.2562) และที่แก้ไขเพิ่มเติม ได้กำหนดให้มีการจัดตั้งศูนย์ตรวจสอบคลื่นความถี่แห่งชาติ (National Spectrum Monitoring Center) ที่บูรณาการข้อมูลการตรวจสอบจากทุกหน่วยงานของสำนักงาน กสทช. เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลการตรวจสอบการใช้คลื่นความถี่ต่างๆ สำหรับใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณา กำหนดแนวทางเชิงนโยบายด้านการบริหารคลื่นความถี่ของประเทศ แต่ในปัจจุบัน กสทช. ยังไม่มีเครื่องมือและอุปกรณ์ในการตรวจสอบคลื่นความถี่และติดตามการใช้คลื่นความถี่และวงโคจรดาวเทียมที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) จึงมีนโยบายในการสนับสนุนเพื่อให้เกิดโครงการศึกษาแนวทางการจัดตั้งระบบตรวจสอบคลื่นความถี่สำหรับกิจการดาวเทียม เพื่อให้มีเครื่องมือในการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงป้องกันและแก้ไขปัญหาการรบกวนคลื่นความถี่ระหว่างประเทศ และเพิ่มขีดความสามารถในการตรวจสอบการใช้คลื่นความถี่ที่ครอบคลุมทุกกิจการ เพื่อให้การดำเนินการด้านการบริหารจัดการคลื่นความถี่ของประเทศไทยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อสาธารณะและประชาชน
โดยโครงการนี้ ได้คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มาเป็นผู้ดำเนินโครงการ ในการศึกษาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ โครงสร้างการกำกับดูแล อุปกรณ์ และระบบตรวจสอบคลื่นความถี่สำหรับกิจการดาวเทียมทั้งในส่วนของภาคอวกาศ (Space Segment) และภาคพื้นดิน (Earth Segment) ที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย ทำการสัมภาษณ์เชิงลึกกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เช่น บริษัทที่ประกอบกิจการดาวเทียม หน่วยงานความมั่นคง หน่วยงานภาครัฐที่ใช้คลื่นความถี่ดาวเทียม วิเคราะห์และทดสอบเครื่องมือ อุปกรณ์ระบบ เพื่อกำหนดข้อกำหนดเชิงเทคนิค วิเคราะห์ ตรวจสอบระบบที่มีใช้งานอยู่แล้วในปัจจุบัน เปรียบเทียบกับระบบที่พัฒนาขึ้น ทั้งในมิติความคุ้มค่าทางด้านการเงิน เศรษฐกิจ และความมั่นคง และจัดทำคู่มือเสนอแนะและคู่มือปฏิบัติงาน รวมถึงจัดฝึกอบรมเพื่อเผยแพร่ผลการศึกษาที่ได้กับเจ้าหน้าที่ กสทช. และผู้ที่สนใจ
เพื่อให้ กสทช. สามารถตรวจสอบคลื่นความถี่สำหรับกิจการดาวเทียม และสามารถนำเครื่องมือที่ได้รับจากโครงการมาวิเคราะห์ข้อมูลเชิงป้องกันแก้ไขปัญหาการรบกวนคลื่นความถี่ในกิจการดามเทียม และเพิ่มขีดความสามารถในการตรวจสอบการใช้คลื่นความถี่ที่ครอบคลุมทุกกิจการที่มี เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทยต่อไป