xs
xsm
sm
md
lg

OTT ครองเกม! ประธาน กสทช. ชงรัฐชูวาระแห่งชาติ แก้เกมก่อนวิกฤต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



OTT ป่วนวงการ! ประธาน กสทช. รับไร้อำนาจควบคุม ชงรัฐดันเป็นวาระแห่งชาติ รวมพลังอาเซียน ออกกฎหมายใหม่คุมแพลตฟอร์มยักษ์ต่างชาติ ก่อนธุรกิจทีวีดิจิทัล-โทรคมนาคมล่มสลาย

อิทธิพลของแพลตฟอร์ม OTT (Over-The-Top) ส่งผลกระทบต่อหลายอุตสาหกรรมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ตั้งแต่การค้าขายสินค้าผ่านอีคอมเมิร์ซ การโทร.ผ่านแอปพลิเคชันแทนเบอร์โทรศัพท์ ไปจนถึงการรับชมคอนเทนต์ที่เปลี่ยนจากทีวีดิจิทัลไปสู่แพลตฟอร์มออนไลน์ ในขณะที่ค่ายมือถือยังคงต้องลงทุนโครงข่ายอินเทอร์เน็ตอย่างหนักเพื่อรองรับการใช้งาน

การกำกับดูแล OTT ถูกพูดถึงมานาน แต่ยังไม่มีความชัดเจนเรื่องหน่วยงานที่รับผิดชอบ โดยประเด็นแรกที่เคยเป็นปัญหาคือการเก็บภาษี ซึ่งกระทรวงการคลังได้ออกกฎหมายบังคับให้ OTT จดทะเบียนนิติบุคคลในไทยแล้ว นอกจากนี้ ETDA ภายใต้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ได้ผลักดันกฎหมาย DPS (Digital Platform Service) เพื่อควบคุมคุณภาพการขายสินค้าในแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ รวมถึงการใช้งานพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คอมพิวเตอร์ สำหรับจัดการคอนเทนต์ที่ไม่เหมาะสมบนโซเชียลมีเดีย

อย่างไรก็ตาม การที่ OTT เข้ามาดิสรัปชันธุรกิจโทรคมนาคมและทีวีดิจิทัลยังคงเป็นประเด็นสำคัญ เนื่องจาก OTT ใช้แบนด์วิธมหาศาลแต่ไม่ลงทุนในโครงข่ายเอง ขณะเดียวกัน ประชาชนสามารถเข้าถึงคอนเทนต์ได้ผ่านอุปกรณ์หลากหลาย คำถามที่เกิดขึ้นคือ กสทช. ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลด้านกิจการกระจายเสียง โทรทัศน์ และโทรคมนาคมจะมีบทบาทอย่างไร

นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ระบุว่า OTT เช่น YouTube และ Facebook ไม่อยู่ภายใต้การกำกับของ กสทช. เนื่องจากนิยามตามกฎหมายปัจจุบันกำหนดให้ กสทช. ดูแลกิจการที่เป็นการแพร่ภาพและกระจายเสียงแบบดั้งเดิม แต่ OTT เป็นการนำเสนอคอนเทนต์แบบ "Narrowcasting" หรือการเลือกดูเฉพาะเจาะจงตามอัลกอริทึม

"การกำกับดูแล OTT ควรผลักดันเป็นวาระแห่งชาติ โดยรัฐบาลต้องพิจารณาออกกฎหมายใหม่หรือปรับปรุงกฎหมายเดิมผ่านกระบวนการในรัฐสภา พร้อมทั้งต้องประเมินความเป็นไปได้ของการเจรจาระหว่างประเทศ โดยเฉพาะกับแพลตฟอร์มที่มีฐานในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา เป็นต้น ตัวอย่างจากประเทศฝรั่งเศส แสดงให้เห็นว่า การออกกฎหมายกำกับ OTT อย่างมีประสิทธิภาพสามารถบังคับให้แพลตฟอร์มมีเนื้อหาโลคอล 25-30% เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมในประเทศ ขณะเดียวกัน ยังมีอำนาจการต่อรองสูง เนื่องจากอาศัยความร่วมมือในระดับภูมิภาค เช่น สหภาพยุโรป" นพ.สรณ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ประเทศไทยยังขาดความร่วมมือในระดับเดียวกัน ทำให้การกำกับดูแล OTT ยังไม่เข้มแข็ง หากต้องการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว รัฐบาลต้องเร่งสร้างความชัดเจนในเชิงนโยบายและกฎหมาย พร้อมประสานความร่วมมือระดับอาเซียน เพื่อเพิ่มอำนาจการต่อรองและการกำกับดูแลในอนาคต


กำลังโหลดความคิดเห็น