xs
xsm
sm
md
lg

กสทช.ดันไบโอเมตริกซ์ สกัดซิมผี สยบแก๊งคอลเซ็นเตอร์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กสทช.เอาจริง! ดันระบบไบโอเมตริกซ์ สแกนหน้า-นิ้วมือ สกัดซิมผี ปิดเกมแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ตัดวงจรอาชญากรรมเทคโนโลยีข้ามชาติ

เมื่อวันที่ 25 ธ.ค.67 นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยถึงการแก้ไขในพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 ว่า กระทรวงดีอีเดินหน้าประสานงานกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อเร่งพิจารณาร่างกฎหมายสำคัญ เพื่อผลักดันให้บังคับใช้โดยเร็วที่สุด โดยร่างกฎหมายฉบับนี้มีเป้าหมายให้ธนาคารพาณิชย์ และผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยี

ทั้งนี้ เนื้อหาร่างดังกล่าวได้รับการพิจารณาในที่ประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีแล้ว โดยไม่มีข้อขัดข้อง หากกฎหมายออกมาบังคับใช้ ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด หากปล่อยปละละเลยจนเกิดปัญหา จะต้องรับผิดชอบร่วมกันตามที่กฎหมายกำหนด

ด้าน พล.ต.อ.ณัฐธร เพราะสุนทร กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านกฎหมาย และประธานอนุกรรมการบูรณาการบังคับใช้กฎหมายความผิดทางเทคโนโลยี กล่าวว่า จากการตรวจสอบซิมการ์ดจำนวน 208,000 ซิมการ์ด พบเบื้องต้นทั้งหมดเป็นเบอร์เติมเงิน และในจำนวนนี้ประมาณ 800 ซิม ลงทะเบียนด้วยชื่อและเลขบัตรประชาชนปลอม คาดว่าซิมเหล่านี้มาจากดีลเลอร์ที่ไม่ปฏิบัติตามสัญญาการเป็นตัวแทนจำหน่ายซิมกับผู้ให้บริการมือถือ

พล.ต.อ.ณัฐธร กล่าวว่า ล่าสุด ผู้ให้บริการส่งเจ้าหน้าที่ช่วยตรวจสอบอีก 15 คน เพื่อดำเนินการตรวจซิมทั้งหมดให้แล้วเสร็จภายในสัปดาห์นี้ พร้อมเสนอแนวทางใหม่ในการป้องกัน โดยเตรียมประกาศใช้ระบบยืนยันตัวตนด้วยระบบไบโอเมตริกซ์ (Biometrics) เช่น การสแกนใบหน้าและลายนิ้วมือ เพื่อลดปัญหาการปลอมแปลงข้อมูลและยับยั้งมิจฉาชีพ หลังพบว่าระบบเดิมมีจุดอ่อนที่เปิดช่องให้ใช้ภาพปลอมหรือรูปคนดังในการลงทะเบียนซิม

การตรวจสอบยังพบกรณีที่มีการจดทะเบียนซิมในชื่อบุคคลเดียว แล้วโอนสิทธิให้ผู้อื่นโดยไม่เปลี่ยนข้อมูลในระบบ หรือขายต่อซิมจดทะเบียนโดยไม่แจ้งเปลี่ยนชื่อ ซึ่งถือเป็นการกระทำผิดกฎหมายตามมาตรา 11 ทาง กสทช. ได้ประสานตำรวจให้เร่งดำเนินการจับกุมผู้กระทำผิดอย่างต่อเนื่อง

ปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ยังคงเป็นความท้าทาย เนื่องจากแก๊งเหล่านี้ตั้งฐานปฏิบัติการในต่างประเทศ ทำให้กฎหมายไทยไม่สามารถบังคับใช้นอกราชอาณาจักรได้ การจับกุมบางกรณีทำได้เพียงผลักดันออกนอกประเทศและขึ้นแบล็กลิสต์ โดยการยกระดับคดีเป็นอาชญากรรมข้ามชาติ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือในระดับรัฐบาลและภูมิภาคอาเซียน เพื่อจัดการปัญหานี้อย่างเป็นระบบ

"ผู้ให้บริการควรเร่งปรับปรุงระบบลงทะเบียนซิมเป็นระบบไบโอเมตริกซ์ เพื่อเพิ่มความปลอดภัยและลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต แต่ที่ผ่านมา มีความกังวลจากผู้ประกอบการบางรายเกี่ยวกับต้นทุนในการปรับปรุงระบบ จึงทำให้มิจฉาชีพฉวยโอกาสสร้างความเสียหายได้" พล.ต.อ.ณัฐธร กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น