"Money20/20" ชวนจับตาพัฒนาการปัญญาประดิษฐ์ในอุตสาหกรรมการเงินตลอดปี 2567 พบแนวโน้ม AI ถูกนำมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุน ผลสำรวจชี้ธนาคารเอเชีย 80% แห่ปั้นโอกาสสร้างนวัตกรรมใหม่จากข้อมูลการใช้โทรศัพท์มือถือและโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะ Generative AI ด้านการเงินมีการริเริ่มโครงการแล้ว 29 โปรเจกต์ทั่วภูมิภาค ส่วนประเทศไทยและตลาดเกิดใหม่ยังท้าทายเรื่องคุณภาพข้อมูล
สการ์เล็ตต์ ซีเบอร์ (Scarlett Sieber) หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์และการเติบโต มันนี่ทเวนตี้/ทเวนตี้ (Money20/20) สตาร์ทอัปผู้จัดงานมหกรรมฟินเทคจากสหรัฐฯ ระบุว่าในขณะที่สถาบันการเงินระดับโลกเริ่มมีการใช้ AI ในการพัฒนาธุรกิจ แต่คุณภาพของข้อมูลยังคงเป็นความท้าทายสำหรับการนำ AI มาใช้ในตลาดเกิดใหม่ซึ่งรวมถึงประเทศไทย นอกจากนี้คือเรื่องกฎหมาย ที่ต้องจัดการอย่างดีเพื่อไม่ให้เกิดภาวะขัดต่อกฎระเบียบ
"แอปพลิเคชันและยูสเคสการใช้งาน AI ที่ดีที่สุดคือการมีปริมาณข้อมูลคุณภาพสูง ซึ่งไม่ได้หมายถึงแค่ปริมาณมาก แต่ยังรวมถึงคุณภาพของข้อมูลด้วย ข้อมูลในตลาดเกิดใหม่อาจกระจัดกระจาย ไม่สอดคล้องกัน หรือไม่ได้ถูกดิจิทัลในรูปแบบเดียวกัน ทำให้การฝึกโมเดล AI ที่มีประสิทธิภาพเป็นเรื่องท้าทาย"
นอกจากนี้ การขานรับ AI ที่เกิดขึ้นทั่วโลกแปลได้ว่าตลาดจะมีความต้องการนักวิจัย AI มากขึ้น ขณะเดียวกัน การแข่งขันในช่วงที่ความสามารถยังถูกจำกัด ถือเป็นเรื่องที่ท้าทายมากในตลาดเกิดใหม่ โดยเฉพาะตลาดเช่นประเทศไทยที่โครงสร้างกฎหมายเป็นสิ่งที่สำคัญ ทั้งในแง่ความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยของข้อมูล ซึ่งต้องได้รับการจัดการอย่างดีเพื่อไม่ให้ขัดขวางการลงทุนและนวัตกรรมในพื้นที่
***AI ผงาดโลกการเงิน
Money20/20 นั้นเป็นงานมหกรรมฟินเทคระดับโลกที่เลือกประเทศไทยเป็นสถานที่จัดงานต่อจากลาสเวกัส และอัมสเตอร์ดัมต่อเนื่อง 3 ปี (2567-2569) ทั้งนี้ Money20/20 ได้ทำการวิจัยด้วยการติดตามการริเริ่มโครงการด้าน AI มากกว่า 300 โครงการ จากบริษัทฟินเทคและบริการทางการเงินมากกว่า 200 แห่ง รวมถึงบริษัทภาครัฐและเอกชนที่มีมูลค่ามากกว่า 5 พันล้านดอลลาร์ ครอบคลุมประกาศต่อสาธารณะระหว่างเดือนมกราคมถึงตุลาคม 2567 โดยวิเคราะห์แนวโน้มใน 9 อุตสาหกรรม มุ่งเน้นการใช้ AI ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ประสบการณ์ของลูกค้า การจัดการความเสี่ยง และการดำเนินงานภายใน
Money20/20 ไม่เพียงพบว่าสถาบันการเงินในเอเชียกว่า 80% กำลังเร่งนำ AI มาประยุกต์ใช้งาน โดยเฉพาะด้าน Generative AI ที่มีการริเริ่มโครงการแล้วถึง 29 โครงการทั่วภูมิภาค แต่จากรายงาน "ALL IN ON AI: Financial Services Adoption Index 2024" สะท้อนว่าแม้อเมริกาเหนือจะเป็นผู้นำด้านการใช้ AI แต่เอเชียก็ตามมาติดๆ โดยบริษัทในเอเชีย 25 จาก 32 แห่ง หรือคิดเป็น 78% มีการริเริ่มโครงการ AI แล้ว เฉลี่ย 1.76 โครงการต่อบริษัท
ด้านตลาดอเมริกาเหนือซึ่งครองตำแหน่งผู้นำนั้น มีบริษัท 110 จาก 142 แห่งที่นำ AI มาใช้งาน คิดเป็น 77% โดยมีการริเริ่มโครงการ AI แล้วถึง 279 โครงการ หรือเฉลี่ย 2.5 โครงการต่อบริษัท
ในเอเชีย บริษัท Xero จากนิวซีแลนด์เริ่มโครงการ Generative AI มากกว่า 5 โครงการ ตามมาด้วยบริษัทยักษ์ใหญ่ทางการเงินของญี่ปุ่นอย่าง Mizuho Financial Group และ Rakuten ที่มีโครงการ Generative AI บริษัทละ 3 โครงการ นอกจากนี้ ยังมีผู้นำตลาดรายอื่นๆ เช่น Paytm จากอินเดีย Ant Group จากจีน และ Grab จากสิงคโปร์ ที่กำลังขับเคลื่อนโปรเจกต์ด้วย Generative AI
จากการศึกษา Money20/20 พบว่าธนาคารหลายแห่งกำลังนำ AI มาใช้ในการประเมินความเสี่ยงด้านเครดิตสำหรับ SME ซึ่งเป็นกระดูกสันหลังของเศรษฐกิจ ดังนั้น Money20/20 มองว่ามีกรณีการใช้งานที่น่าจับตามองสำหรับตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะการทำให้องค์กรได้ประโยชน์จาก AI แบบใหม่ที่ไม่ใช่แบบเดิม
"หนึ่งในองค์ประกอบที่น่าตื่นเต้นที่สุดของ AI คือความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูลที่ไม่ใช่แบบดั้งเดิม เช่น การทำธุรกรรมดิจิทัล การใช้โทรศัพท์มือถือ โซเชียลมีเดีย และองค์ประกอบอื่นๆ ที่สร้างรอยเท้าดิจิทัลออนไลน์ของผู้บริโภคหรือธุรกิจขนาดเล็ก AI ช่วยให้สถาบันการเงินประเมินความสามารถในการชำระเงินของประชากรที่ไม่มีบัญชีธนาคาร โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและเล็กในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้"
***AI ช่วยเต็มที่
ซีเบอร์อธิบายว่า AI ยังมีความสามารถในการตรวจสอบการทำธุรกรรมการเงินแบบเรียลไทม์และการจดจำรูปแบบ ซึ่งสำคัญมากสำหรับการชำระเงินดิจิทัล และการป้องกันการฉ้อโกง ในอีกด้าน AI ยังช่วยในการคาดการณ์และประเมินความเสี่ยงด้านการเงินสำหรับธุรกิจตามฤดูกาล เช่น ภาคเกษตรกรรมและการค้าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมื่อถามว่าโซลูชัน AI ด้านการเงินใดมีแนวโน้มถูกนำไปใช้ในประเทศไทยมากขึ้น? ซีเบอร์เชื่อว่าการประเมินความเสี่ยงเป็นโอกาสที่ใหญ่ และการใช้ AI ในการประเมินความเสี่ยงก็ถือเป็นกรณีการใช้งานที่สำคัญ โดยปัจจุบัน ธนาคารสามารถใช้ AI ในการตรวจสอบและเสนอสินเชื่อระยะสั้นให้ลูกค้าโดยอิงจากพฤติกรรมการทำธุรกรรม
"ตัวอย่างเช่น หากพฤติกรรมการทำธุรกรรมของลูกค้ามีการเปลี่ยนแปลง AI สามารถระบุได้ว่าลูกค้าอาจต้องการสินเชื่อระยะสั้น การให้สินเชื่อจึงเป็นอีกหนึ่งโอกาสใหญ่ การใช้ AI ในการอัตโนมัติและเสริมสร้างกระบวนการปฏิบัติตามกฎระเบียบยังเป็นสิ่งสำคัญสำหรับประเทศไทย โดยเฉพาะการฟื้นฟูหลังจากการแพร่ระบาด ธุรกิจหลายแห่งต้องการการสนับสนุน และ AI สามารถแนะนำแผนการชำระเงินตามการคาดการณ์รายได้ของ SME ได้แม่นยำ"
ในภาพรวม เอเชียจะยังคงเป็นตลาดที่เติบโตอย่างต่อเนื่องในด้านการใช้ AI สำหรับธุรกิจการเงิน ซึ่งจะสร้างความท้าทายให้แก่ตลาดอเมริกาเหนือ โดยซีเบอร์ระบุว่าในงาน Money20/20 Asia ที่กรุงเทพฯ เดือนเมษายน 2568 ผู้นำที่มีอิทธิพลมากที่สุดในด้าน AI และฟินเทคจะมาร่วมหารือเกี่ยวกับนวัตกรรมและกรณีการใช้งาน AI แบบใหม่ โดยเฉพาะมุมมองต่อศักยภาพของ AI ในการเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุน ทั้งการนำ AI มาใช้ในการประเมินความเสี่ยงด้านเครดิต และการตรวจสอบการทำธุรกรรมแบบเรียลไทม์มากขึ้น จนสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานและลดต้นทุนในการทำธุรกรรมทางการเงินได้ไม่รู้จบ