ต.กื้ดช้าง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ดินแดนแห่งปางช้าง 418 เชือก ยิ่งใหญ่ที่สุดในไทย ครั้งหนึ่งเคยสร้างรายได้ทะลุ 1 ล้านบาทต่อวันก่อนโควิด-19 แม้หลังวิกฤตโรคระบาด ยังคงดึงดูดนักท่องเที่ยวจากสหรัฐอเมริกา จีน และเกาหลี สร้างรายได้ 6-8 แสนบาทต่อวัน และในช่วงซบเซายังสร้างรายได้ 3-4 แสนบาทต่อวัน ด้วยเสน่ห์ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ให้ผู้คนปรับตัวเข้าหาธรรมชาติ
ดัสกร ศรีดวงแก้ว นายกองค์การบริหารส่วนตำบลกื้ดช้าง เล่าว่า อุทกภัยครั้งใหญ่ในรอบ 50 ปี เมื่อเดือน ต.ค.67 ท่วมทับ 188 ครัวเรือนบ้านเมืองกื้ด ซึ่งประกอบด้วย 8 หมู่บ้าน 5 ชาติพันธุ์ จมบาดาล 'AIS' พลิกบทบาทจากผู้ให้บริการเครือข่ายสู่สะพานชีวิต หล่อเลี้ยงสัญญาณสื่อสาร ให้ชุมชนสามารถร้องขอความช่วยเหลือจากโลกภายนอก แม้ไฟฟ้าดับ สายไฟเบอร์ออปติกเสี่ยงขาด และการเข้าถึงพื้นที่แทบเป็นไปไม่ได้
◉ ลุยน้ำซัด-ฝนถล่ม กู้สัญญาณชีวิต
อาทยา หยู่เย็น หัวหน้างานปฏิบัติการภูมิภาค-ภาคเหนือ AIS บอกต่อว่า เสาสัญญาณ 6 ต้น ในพื้นที่ และเพียง 1 ต้นในปางช้าง กลายเป็นความหวังของชุมชนในช่วงอุทกภัย ช่วงวันที่ 6-10 ต.ค.67 ไฟฟ้าดับทั้งพื้นที่ ชาวบ้านไม่สามารถโทรศัพท์หรือขอความช่วยเหลือได้ ขณะที่ช้างในปางก็ต้องเผชิญกับน้ำท่วมฉับพลัน
แม้ไฟเบอร์ออปติกยังใช้งานได้ ทีมงาน AIS ต้องนำแบตเตอรี่ฝ่าน้ำหลากและฝนตกหนักเข้าเปลี่ยนทุก 2-3 ชั่วโมง เพื่อรักษาสัญญาณให้ใช้งานได้ต่อเนื่อง พร้อมใช้ AI บริหารจัดการระบบดาต้าให้เหมาะสม เน้นการโทร.เป็นหลักเพื่อลดการใช้พลังงาน ขณะเดียวกัน ยังส่งรถสัญญาณดาวเทียมเคลื่อนที่เข้าเสริมในพื้นที่ที่เข้าถึงได้ยาก ช่วยให้ชุมชนกลับมามีสัญญาณสำหรับร้องขอความช่วยเหลือ และช่วยชีวิตทั้งคนและช้างจากสถานการณ์ฉุกเฉินได้สำเร็จ
"วันนี้โครงข่ายสื่อสาร AIS ภาคเหนือไม่ได้ทำหน้าที่เพียงส่งสัญญาณโทรศัพท์ แต่คือเส้นเลือดหลัก ที่ยืนหยัดท่ามกลางขุนเขาและพายุฝนที่โหมกระหน่ำ เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าทุกกลุ่ม ตั้งแต่นักเดินที่ชอบท่องโลกออนไลน์ไปพร้อมกับวิวภูเขาอันยิ่งใหญ่ ไปจนถึงชนเผ่าพื้นเมือง แรงงานต่างชาติ หรือธุรกิจท้องถิ่น โรงแรม และร้านอาหารที่ตั้งอยู่ตามมุมเขาอันห่างไกล แหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ อย่างอุทยานแห่งชาติศรีลานนา อุทยานแห่งชาติแม่ปิง ห้วยกุ๊บกั๊บ ทุ่งเกี๊ยะ บ้านป่าข้าวหลาม และดอยม่อนล้าน ล้วนถูกเชื่อมต่อเข้ากับโลกดิจิทัล ให้ทุกการเดินทางเต็มไปด้วยความสะดวกสบาย พร้อมถ่ายทอดความงดงาม ผ่านคอนเทนต์ออนไลน์ได้แบบไร้พรมแดน" อาทยา กล่าว
◉ อุทยานดัง เขื่อนปัง คนเที่ยวทะลัก
อานนท์ กุลนิล หัวหน้าอุทยานแห่งชาติศรีลานนา ระบุว่า อุทยานแห่งชาติศรีลานนา ครอบคลุมพื้นที่กว่า 920,000 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ใน อ.พร้าว 600,000 ไร่ อ.แม่แตง 120,000 ไร่ และ อ.เชียงดาว 160,000 ไร่ โดยแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ได้แก่ เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล ซึ่งประกอบด้วยร้านค้าสวัสดิการ การนั่งเรือชมทิวทัศน์ เส้นทางศึกษาธรรมชาติ และแพพักผู้ประกอบการ 10 ราย ที่เปิดให้นักท่องเที่ยวทั้งเดินทางแบบไปกลับและพักค้างคืน
อีกหนึ่งจุดไฮไลต์คือ ลานกางเต็นท์ดอยม่อนล้าน ยอดดอยที่สูงที่สุดในเขตติดต่อเชียงใหม่และเชียงราย เหมาะสำหรับนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบความเงียบสงบ โดยเฉพาะในช่วงหน้าหนาวที่มีผู้มาเยือนจำนวนมาก
นอกจากนี้ ยังมีเส้นทางศึกษาธรรมชาติ ป่าตึงงาม ในเชียงดาว ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างอุทยาน และกลุ่มวิสาหกิจชุมชน โดยมีโฮมสเตย์ และเส้นทางเดินป่าที่จัดระเบียบเพื่อความสะอาดและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ส่วน น้ำตกม่อนหินไหล ซึ่งมีความงดงามและขนาดใหญ่ อยู่ในขั้นตอนการสำรวจและทดลองเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชม
จากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวเชียงใหม่หลังโควิด-19 พบว่า นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาต่อเนื่องตลอดทั้งปี โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาวและสงกรานต์ อุทยานสามารถสร้างรายได้ประมาณ 3 ล้านบาท จากจำนวนนักท่องเที่ยว 30,000-50,000 รายต่อปี
เพื่อเพิ่มศักยภาพการบริหารจัดการพื้นที่ AIS ได้ติดตั้งระบบเครือข่ายที่ช่วยปรับปรุงการสื่อสารในพื้นที่ ซึ่งเคยมีปัญหาในช่วงฤดูไฟป่า ส่งผลให้เจ้าหน้าที่สามารถติดต่อกันได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
◉ ขึ้นแท่นผู้นำ เครือข่ายอัจฉริยะโลก
กิตติ งามเจตนรมย์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านเทคโนโลยี AIS ระบุว่า AIS กำลังเดินหน้าพลิกโฉมองค์กร เพื่อก้าวสู่การเป็นองค์กรโทรคมนาคมเทคโนโลยีอัจฉริยะ หรือ Cognitive Tech-Co ที่มีลูกค้าเป็นศูนย์กลาง โดยใช้ข้อมูลจากทุกส่วน ทั้งในองค์กรและพื้นที่ต่างๆ มาวิเคราะห์ เพื่อสร้างบริการที่ตอบโจทย์ลูกค้าทั้งโมบาย บรอดแบนด์ โซลูชันสำหรับองค์กร หรือดิจิทัลโซลูชัน
ปัจจุบัน AIS มีโครงข่าย 5G และ 4G ครอบคลุมพื้นที่กว่า 95% ของประชากรไทย แต่ยังพัฒนาโครงข่ายต่อเนื่อง ด้วยการใช้ AI และระบบ Autonomous Network ซึ่งช่วยให้เครือข่ายฉลาดขึ้น ทำให้ AIS มีคะแนนระดับความฉลาดของเครือข่ายอยู่ที่ 3.2 ซึ่งสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก เทียบกับค่าเฉลี่ยของ Indosat ในอินโดนีเซียที่ 2.7 และตั้งเป้าจะเพิ่มเป็น 3.5 ภายในปีนี้
◉ สัญญาณแรง ทะลุป่า ฝ่าดอย
วสิษฐ์ วัฒนศัพท์ หัวหน้าหน่วยธุรกิจงานปฏิบัติการและสนับสนุนด้านเทคนิคทั่วประเทศ AIS เล่าว่า ในพื้นที่ท้าทายอย่างภาคเหนือ ซึ่งเต็มไปด้วยภูเขาสูงและข้อจำกัดทางธรรมชาติ AIS ยังคงเป็นผู้นำด้านการเชื่อมต่อที่เข้าถึงทุกพื้นที่ ไม่ว่าจะอยู่ลึก สูง กว้าง ไกลแค่ไหน โดยใช้เทคโนโลยี Super Cell LINK ในการเชื่อมโยงสัญญาณจากจุดต่อจุด แม้ในพื้นที่ที่ถูกบดบังหลังทิวเขา และยังนำพลังงานหมุนเวียนอย่างโซลาร์เซลล์ กังหันลม และไฮโดรเจนมาใช้แก้ไขปัญหาแหล่งพลังงาน เพื่อให้โครงข่ายสื่อสารในพื้นที่ห่างไกลสามารถทำงานได้ต่อเนื่อง
ปัจจุบัน AIS มีสถานีฐานสัญญาณทั่วประเทศกว่า 40,000 ต้น โดยในจำนวนนี้ 13,384 ต้น ใช้พลังงานโซลาร์เซลล์ และในพื้นที่ภาคเหนือมีสถานีฐานโซลาร์เซลล์ 1,600 ต้น ซึ่งออกแบบให้ผสมผสานพลังงานธรรมชาติที่เหมาะกับภูมิประเทศ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ ลม น้ำ และยังนำ AI มาบริหารจัดการเครือข่ายเพื่อความมั่นคงและประสิทธิภาพ แม้ในช่วงวิกฤตอย่างน้ำท่วม โครงข่ายยังคงทำงานเพื่อรองรับการสื่อสารและช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่
"การขยายเครือข่ายของ AIS ไม่ได้หยุดแค่การเชื่อมต่อ แต่ยังสนับสนุนการพัฒนาสังคมในพื้นที่ห่างไกล เช่น การติดตั้งอินเทอร์เน็ตในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) การร่วมมือกับ GULF และ สวพส. ในโครงการ Green Energy Green Network For Thais เพื่อสร้างโครงสร้างพลังงานและเครือข่ายดิจิทัลที่ยั่งยืน เพราะงานของเราไม่ใช่แค่การวางเสาสัญญาณ แต่คือการเชื่อมโยงชีวิตทุกชีวิตเข้ากับโลกดิจิทัล" วสิษฐ์ กล่าว
ใดๆ เบื้องหลังความสำเร็จนี้ สะท้อนให้เห็นว่า เมื่อเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า ผสานกับการทำงานอย่างไม่ย่อท้อของทีมงาน AIS สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลง และช่วยเหลือสังคมได้อย่างยั่งยืนแท้จริง