กสทช.สั่งเคโฟร์หยุดแจกซิม พบพิรุธตู้เติมเงินหลอกลงทุน เพิ่มทุนทะลุ 500 ล้านใน 2 ปี แต่ลูกค้าเติมเงินซิมแค่ 38 บาท/เดือน เร่งสอบเชิงลึกด่วน
เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.67 นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ รักษาการแทน เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า สำนักงาน กสทช. ออกคำสั่งให้บริษัท เคโฟร์ คอมมูนิเคชั่น จำกัด (K4) หยุดจำหน่ายและแจกซิมการ์ดในระหว่างรอผลการตรวจสอบจากหน่วยงานต่างๆ หลังพบพิรุธในการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะโครงการตู้เติมเงิน "เคธี่ปันสุข" ที่ถูกประชาชนร้องเรียนว่าเป็นการชักชวนลงทุนโดยอ้างผลตอบแทนสูงและมีการใช้ชื่อ กสทช. เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ
นายไตรรัตน์ กล่าวว่า จากการตรวจสอบพบว่า K4 มีใบอนุญาตเฉพาะการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบโครงข่ายเสมือน (MVNO) ซึ่งได้รับอนุญาตตั้งแต่ปี 2562 ขณะที่ธุรกิจตู้เติมเงินและบริการเติมเงินอื่นๆ ไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กสทช. และต้องขอใบอนุญาตจากหน่วยงานอื่น เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
ข้อมูลล่าสุดระบุว่า K4 ได้รับจัดสรรเลขหมายโทรศัพท์ประมาณ 331,000 เลขหมาย แต่ในช่วงเดือนกันยายนถึงพฤศจิกายน 2567 มีเลขหมายที่ใช้งานจริงเพียง 33,000-46,000 เลขหมายต่อเดือน โดยมียอดเติมเงินเฉลี่ยเพียง 38 บาทต่อเลขหมายในเดือนพฤศจิกายน ทั้งนี้ รายได้จากกิจการโทรคมนาคมของ K4 ในปี 2566 อยู่ที่ประมาณ 5 ล้านบาท และชำระค่าธรรมเนียมเพียง 7,000 บาท แต่กลับเพิ่มทุนจดทะเบียนจาก 5 ล้านบาทในปี 2565 เป็น 500 ล้านบาทในปี 2567
การลงพื้นที่ตรวจสอบศูนย์บริการของ K4 โดยสำนักงาน กสทช. พบความผิดปกติในหลายแห่ง บางแห่งปิดทำการหรือไม่มีตู้เติมเงินตามที่อ้างว่ามีอยู่ 15,000 ตู้ บางแห่งพบตู้เติมเงินที่ไม่พร้อมใช้งาน อย่างไรก็ตาม ผู้ดูแลศูนย์บริการยืนยันว่ายังมีการขายซิมการ์ด
"กสทช. ได้ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ดีเอสไอ สคบ. ปปง. และ ธปท.เพื่อเร่งตรวจสอบการดำเนินธุรกิจของ K4 หากพบการกระทำผิด กสทช. จะพิจารณาพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาต และเตรียมมาตรการเยียวยาผู้ใช้บริการประมาณ 46,000 เลขหมายที่อาจได้รับผลกระทบ เตือนประชาชนให้ระมัดระวังการลงทุนในธุรกิจที่อ้างผลตอบแทนสูง โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเครือข่ายหรือการเติมเงิน หากพบการกระทำผิดเพิ่มเติมจะมีการดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด" นายไตรรัตน์ กล่าว