xs
xsm
sm
md
lg

หลักปั้นคนสู่ ‘นวัตกร’ พาทรูมุ่งสู่ Tech Company (Cyber Weekend)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เมื่อเป้าหมายหลักของกลุ่มทรู คือการเป็น ‘Tech Company’ และสิ่งที่จะทำให้เกิดขึ้นได้คือการ ‘ปั้นคน’ การมุ่งพัฒนานวัตกร จึงกลายเป็นหลักใหญ่ที่ ‘ทรู คอร์ปอเรชั่น’ วางไว้ว่าภายในปี 2030 จากบุคลากรกว่าหมื่นคน 50% จะต้องอัปสกิลขึ้นมาเป็นนวัตกร

มนัสส์ มานะวุฒิเวช ประธานคณะผู้บริหาร ทรู คอร์ปอเรชั่น ให้ข้อมูลว่า หลังจากการควบรวมธุรกิจและมุ่งเป้าสู่การเป็น Tech Company ทำให้ที่ผ่านมา ได้มีการเร่งพัฒนา ผลักดันเป็นที่ปรึกษา และสร้างโอกาสให้พนักงานทุกคนสามารถเป็นนวัตกรได้

“การมีทรู อินโนเวชั่น ทำให้ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาทรูพัฒนานวัตกรรมไปแล้วกว่า 600 ผลงาน มีพนักงานที่เป็นนวัตกรแล้วกว่า 4,000 คน มีการยื่นจดสิทธิบัตร และทรัพย์สินทางปัญญาไปแล้วกว่า 100 ผลงาน สร้างเป็นรายได้ และลดต้นทุนกว่า 4,000 ล้านบาท”

โดยที่ผ่านมา ทรูได้มีการสร้างนวัตกรรมออกมาจาก 3 มิติ ไม่ว่าจะเป็น 1.Closed Innovation เน้นสร้างวัฒนธรรมพนักงานทรู คิดสร้างสรรค์ผลงานนวัตกรรม จนไปสู่สินค้าและบริการให้ดียิ่งขึ้นได้

ตามด้วย 2.Open Innovation เน้นสร้างความร่วมมือกับสถาบันการศึกษา พันธมิตรธุรกิจเพื่อต่อยอดนวัตกรรม และ 3.สตาร์ทอัป ด้วยการเข้าไปสนับสนุนผู้ประกอบการรุ่นใหม่ สร้างเยาวชนเพื่อเติบโตเป็นสตาร์ทอัป พัฒนาธุรกิจที่มีศักยภาพให้แก่ประเทศ

ขณะเดียวกัน ทักษะสำคัญที่ ‘มนัสส์’ มองว่าขาดไม่ได้สำหรับบุคลากรรุ่นใหม่ๆ รวมถึงพนักงานที่จะสมัครเข้ามาทำงานที่ทรู คือการเข้าถึง และใช้งานเครื่องมือปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพราะในยุคที่ Gen AI เข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ และประสิทธิผลในการทำงาน การเป็นพนักงานที่ขาดทักษะเหล่านี้จะทำให้แข่งขันได้ยาก

“ทักษะการใช้ AI จะกลายเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดบุคลากรยุคใหม่ที่ต้องใช้เป็น และต้องเป็นการใช้ AI อย่างมีความรับผิดชอบด้วย ซึ่งพนักงานทุกคนจะต้องมีการรีสกิล และอัปสกิลเพื่อให้มีทักษะเหล่านี้เพิ่มเติมในอนาคต”

ปัจจุบัน กลุ่มทรูมีพนักงานอยู่ทั้งหมดราว 1 หมื่นคน ที่คาดว่าจะไม่มีการเพิ่มไปมากกว่านี้ โดยเป้าหมายสำคัญที่ภายในปี 2030 บุคลากรกว่า 5,000 คน จะต้องกลายเป็นนวัตกรที่สามารถช่วยกันผลักดันให้เกิดนวัตกรรมได้

***’Tech for Good’ นวัตกรรมสร้างคุณค่าให้สังคม


แนวคิดสำคัญในการพัฒนานวัตกรรของกลุ่มทรู จะใช้สมการของ ‘Tech for Good’ ที่มีการผสมผสานระหว่าง 1.Empathy เข้าใจชีวิต ใส่ใจทุกมิติ ในการพัฒนาเทคโนโลยีบนพื้นฐานความเข้าใจความต้องการของทุกชีวิต ทั้งมนุษย์และสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศ ผ่านมุมมองที่เน้นมนุษย์เป็นศูนย์กลาง และการรับฟังความต้องการจากทุกชุมชน

2.Insights พลังข้อมูล นำสู่การเปลี่ยนแปลง เพื่อให้ตัดสินใจบนพื้นฐานการวิเคราะห์ข้อมูลแบบองค์รวม โดยบูรณาการข้อมูลจากเครือข่ายพันธมิตรและชุมชน เพื่อพัฒนาโซลูชันที่ตรงจุด และ 3.Technology นวัตกรรมเพื่อทุกชีวิต ในการนำความเชี่ยวชาญด้านโทรคมนาคม ผสาน AI และ Big Data พัฒนาเป็นโซลูชันที่เข้าถึงได้ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน

โดยที่ผ่านมา มีการพัฒนานวัตกรรมที่มาร่วมขับเคลื่อนสังคมจากเทคโนโลยีง่ายๆ ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ ออกมาเป็นแอปเพื่อการศึกษา Autistic ที่จะคอยฝึกทักษะ Daily Tasks, Trace & Share และ Communication เพื่อส่งเสริมพัฒนาการด้านร่างกาย ทักษะการเรียนรู้ การลากเส้น ทักษะภาษาและการสื่อสาร รองรับ 3 ภาษา ได้แก่ ไทย อังกฤษ และจีน พร้อมเปิดให้ดาวน์โหลดฟรี ซึ่ง 10 ปีที่ผ่านมา มียอดดาวน์โหลดแล้วกว่า 19 ล้านครั้งทั่วโลก

รวมถึงการพัฒนาริสแบนด์ ที่มาพร้อมคิวอาร์โค้ด ในการสวมใส่ข้อมือ​ผู้ป่วยหลงลืม (อัลไซเมอร์) หรือกลุ่มผู้สูงอายุ​ที่มีความเสี่ยงพลัดหลงและหายออกจากบ้าน โดย​มีจำนวนผู้ลงทะเบียนแล้วกว่า 3,000 คน ใน 4 ปีที่ผ่านมา มีคนสูญหายได้กลับคืนสู่บ้านแล้วกว่า 40 คน

***ลดความขัดแย้งคน-ช้างป่า


การลดลงของพื้นที่ป่าเพื่อการอยู่อาศัยและเกษตรกรรมส่งผลให้แหล่งอาหารของช้างป่าลดน้อยลง นำไปสู่การที่ช้างป่าออกมาบุกรุกพื้นที่ชุมชนและก่อความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน เกิดเป็นปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้าง (Human-Elephant Conflict: HEC) ในหลายประเทศทั่วโลกที่มีช้างป่า รวมถึงไทย

โดยข้อมูลจากสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พบว่าจำนวนช้างป่ามีอยู่ประมาณ 4,013-4,422 ตัว ซึ่งกระจายอยู่ใน 16 กลุ่มป่า 94 พื้นที่อนุรักษ์ทั่วประเทศ และแนวโน้มมีจำนวนเพิ่มขึ้นแต่พื้นที่ป่าอนุรักษ์มีขนาดเท่าเดิม ส่งผลให้ช้างออกหากินนอกเขตป่า


ทั้งนี้ สถิติ 3 ปีล่าสุด (2564-2566) พบช้างป่าออกนอกพื้นที่มากกว่า 37,000 ครั้ง สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินและพืชผลเกษตรกรรวมกว่า 3,800 ครั้ง และที่น่าวิตกคือในช่วง 12 ปี (2555-2567) มีผู้เสียชีวิตถึง 227 ราย บาดเจ็บ 198 ราย จากการบุกรุกของช้างป่า สะท้อนให้เห็นความจำเป็นเร่งด่วนในการหาแนวทางแก้ไขปัญหาการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับช้างอย่างยั่งยืน

ทำให้กว่า 6 ปีที่ผ่านมา กลุ่มทรูได้เข้าไปทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อคิดค้นโครงการเฝ้าระวังช้างป่าด้วยระบบเตือนภัยล่วงหน้า หรือ True Smart Early Warning System (TSEWS) มาช่วยลดปัญหาที่เกิดขึ้นจากการบุกรุกไร่สวนของช้างป่า

“ปัญหาสำคัญของความเสียหายในพื้นที่ที่ถูกช้างป่าบุกรุก คือ การไม่สามารถระบุตำแหน่งและคาดการณ์การเคลื่อนที่ของช้างได้ทันท่วงที ส่งผลให้ช้างป่าบุกรุกเกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของชุมชน”

การทำงานของ TSEWS เกิดขึ้นจากการทำงานร่วมกันทั้งเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงกับกล้องดักถ่ายสัตว์ป่า (Camera Trap) พร้อมระบบวิเคราะห์ภาพอัจฉริยะเพื่อระบุตำแหน่งช้างได้แม่นยำ สู่การลงมือแก้ปัญหาอย่างทันท่วงที

โดยมีขั้นตอนในการทำงานเพื่อเฝ้าระหว่างช้างป่ากว่า 400 ตัวในเขตอุทยานแห่งชาติกุยบุรี ที่จะติดตั้งกล้องพร้อมซิม ที่เชื่อมต่อเครือข่าย 4G และ 5G ในการระบุพิกัด และแจ้งเหตุแบบเรียลไทม์

เมื่อกล้องตรวจจับพบช้างออกนอกบริเวณพื้นที่ป่า เริ่มบุกรุก ระบบส่งภาพช้างพร้อมพิกัดแจ้งเตือนไปยังระบบคลาวด์ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการพร้อมโดรนเข้าตรวจสอบ หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ดำเนินการผลักดันช้างกลับเข้าป่าลดความสูญเสียที่จะเกิดขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น