ดีป้าเปิดเกมรุก! 'OTOD THE SERIES' พลิกเกษตรไทยสู่ยุคดิจิทัล ดันโดรนลุย 500 ชุมชน สร้างมูลค่า 20,000 ล้านบาท ยกระดับชีวิตเกษตรกรทั่วประเทศ
เมื่อวันที่ 11 ธ.ค.67 นายพรรณธนู วรรณกางซ้าย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวในฐานะประธานเปิดงาน OTOD THE SERIES ว่า กระทรวงดีอีเดินหน้าผลักดันแผน The Growth Engine of Thailand ด้วย 3 เครื่องยนต์หลัก ได้แก่ การเพิ่มศักยภาพการแข่งขันด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล การเสริมความมั่นคงของเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล และการยกระดับศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ในยุคดิจิทัล โดยเฉพาะการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในภาคเกษตรกรรม
แผนดังกล่าวเน้นเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุน และเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร โดยใช้เทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ (Agri-Tech) เช่น โดรนเพื่อการเกษตร เพื่อพัฒนาเกษตรกรรมดั้งเดิมสู่เกษตรทันสมัย ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความยั่งยืนให้เศรษฐกิจฐานรากของไทย พร้อมเสริมความสามารถแข่งขันของประเทศในยุคดิจิทัลอย่างเต็มที่
ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) กล่าวว่า การจัดงาน OTOD THE SERIES จะเป็นการนำเสนอผลการดำเนินโครงการ 1 ตำบล 1 ดิจิทัล (ONE TAMBON ONE DIGITAL: OTOD) (ชุมชนโดรนใจ) มุ่งเปลี่ยนแปลงเกษตรดั้งเดิมสู่เกษตรทันสมัยด้วยเทคโนโลยีโดรนการเกษตร โครงการเริ่มต้นตั้งแต่เดือน พ.ย.66 ด้วยความร่วมมือจากภาครัฐและเอกชน มุ่งเน้นพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐาน ระบบนิเวศดิจิทัล และกำลังคน
โครงการนี้สามารถจัดตั้งศูนย์พัฒนาทักษะการบินและออกใบอนุญาตโดรน 5 แห่ง พร้อมพัฒนามาตรฐานโดรนการเกษตรที่ได้รับการรับรองระดับประเทศ ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีโดรนใน 5 ภูมิภาคทั่วประเทศ โดยตั้งศูนย์ซ่อมโดรน 50 แห่ง และสร้างเครือข่ายเกษตรกรผู้ใช้โดรนกว่า 500 ชุมชน พร้อมจัดการแข่งขัน Thailand Agriculture Drone Competition 2024 ชิงถ้วยพระราชทานเพื่อส่งเสริมศักยภาพด้านการเกษตรทันสมัย
โครงการยังพัฒนากำลังคนดิจิทัล โดยฝึกอบรมช่างซ่อมโดรน 100 คน และนักบินโดรนการเกษตรกว่า 1,500 คน สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ พร้อมทั้งช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกร 10,000 ครัวเรือน สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจมากกว่า 20,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ ดีป้ายังเตรียมเดินหน้าผลักดันโครงการใหม่ เช่น OTOD (SMART LIVING) ที่มุ่งเสริมเทคโนโลยีความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมใน 45 ชุมชน 8 จังหวัด และ OTOD (DIGITAL DURIAN) ที่ส่งเสริมเกษตรกรสวนทุเรียน 6,000 ครัวเรือนใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อบันทึกข้อมูลการเพาะปลูก พร้อมรวบรวมข้อมูล Big Data ด้านการเกษตร เพื่อยกระดับภาคเกษตรไทยสู่เศรษฐกิจดิจิทัลอย่างยั่งยืน