ทรู คอร์ปอเรชั่น คว้าโล่เกียรติยศ “องค์กรสนับสนุนการจ้างงานคนพิการ” ต่อเนื่องปีที่ 2 สานต่อความตั้งใจยกระดับคุณภาพชีวิตคนพิการกว่า 12 ปี ในงานวันคนพิการสากล ประจำปี 2567
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานในพิธีเปิดงาน “วันคนพิการสากล” ประจำปี 2567 พร้อมมอบโล่ประกาศเกียรติคุณองค์กรที่ส่งเสริมการจ้างงานคนพิการ ระดับเกียรติยศ ถือเป็นรางวัลระดับสูงสุด ให้แก่ บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น โดยมี ดร.เนตรชนก วิภาตะศิลปิน หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านความเป็นเลิศทางธุรกิจและการศึกษา เป็นตัวแทนรับมอบ ซึ่ง ทรู คอร์ปอเรชั่น ได้รับรางวัลดังกล่าวต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 สะท้อนความตั้งใจในการพัฒนาศักยภาพและคุณภาพชีวิตของกลุ่มคนเปราะบางอย่างจริงจังและต่อเนื่องในทุกมิติตลอด 12 ปีที่ผ่านมา
ทรู คอร์ปอเรชั่น ผู้นำเทคคอมปานีไทย ยังคงมุ่งมั่นสานต่อการส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตของกลุ่มคนเปราะบาง ด้วยการนำศักยภาพเทคโนโลยีสื่อสารครบวงจร ตลอดจนนวัตกรรมดิจิทัล ช่วยลดความเหลื่อมล้ำและเปิดโอกาสให้คนพิการเข้าถึงสิทธิพื้นฐานและมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ครอบคลุมแนวทาง 4 ด้านหลัก ได้แก่
1. การพัฒนานวัตกรรมเพื่อคนพิการ
• พัฒนาแอปพลิเคชันออทิสติก เสริมทักษะการเรียนรู้ การสื่อสาร และสมรรถภาพร่างกายสำหรับเด็กพิเศษโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
• พัฒนาแพลตฟอร์ม Screening Tools for Person with Special Needs (STS) ช่วยคัดกรองภาวะเสี่ยงในเด็กและเข้าถึงสิทธิการรักษาได้อย่างทั่วถึง
• สนับสนุนการจัดตั้ง Autism Digital Learning Center เสริมทักษะดิจิทัลให้บุคคลออทิสติกและผู้ปกครอง
2. การสร้างอาชีพและรายได้ให้คนพิการ
สนับสนุนการจ้างงานคนพิการตามมาตรา 33 และ 35 พร้อมจัดอบรมทักษะอาชีพ เพื่อให้คนพิการสามารถพึ่งพาตัวเองได้อย่างยั่งยืน
3. การพัฒนาบริการและสิทธิประโยชน์เพื่อคนพิการ
• บริการ VDO Chat และ Deaf Call Center สำหรับผู้บกพร่องทางการได้ยิน
• รายงานข่าวภาษามือผ่านช่อง TNN
• แพ็กเกจพิเศษสำหรับคนพิการ เพื่อเพิ่มโอกาสเข้าถึงข้อมูลและสร้างรายได้
• สิ่งอำนวยความสะดวกในสำนักงาน เช่น ลานจอดรถ และปุ่มกดลิฟต์สำหรับผู้พิการ
4. การสร้างการยอมรับในศักยภาพคนพิการผ่านช่องทางการประชาสัมพันธ์ต่างๆ ของทรู
ทรูซีเจ ได้ผลิตภาพยนตร์ซีรีส์ Good Doctor หมอหัวใจพิเศษ ที่มีเนื้อหาสะท้อนอัจฉริยภาพอันโดดเด่นของบุคคลออทิสติก และซีรีส์เรื่องนี้กำลังเป็นกระแสและได้รับการตอบรับอย่างท่วมท้น ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ช่วยให้คนในสังคมเข้าใจ ยอมรับ และเข้ามามีส่วนร่วมพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตกลุ่มคนเปราะบาง