ยกเครื่องกฎหมายไซเบอร์ เวอร์ชันใหม่! 'กระทรวงดีอี' เพิ่มโทษขายข้อมูลเป็น 5 ปี บังคับแบงก์-เครือข่ายมือถือรับผิดชอบลูกค้า เร่งคืนเงินผู้เสียหาย จัดการบัญชีม้า-คริปโตฯ
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เดินหน้าแก้ไขกฎหมายเพื่อปราบปรามภัยออนไลน์ โดย ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดีอี เปิดเผยว่า กระทรวงได้เสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติม พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 สาระสำคัญของการแก้ไขครั้งนี้ เน้นการเร่งรัดคืนเงินให้ผู้เสียหายจากการหลอกลวงออนไลน์ โดยเฉพาะในกรณีที่มีการระงับหรืออายัดบัญชีม้าที่มีเงินในธนาคาร พร้อมเพิ่มบทลงโทษกรณีซื้อขายข้อมูลส่วนบุคคล จากโทษจำคุก 1 ปี เป็น 5 ปี เนื่องจากถือเป็นการกระทำที่ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อประชาชน เศรษฐกิจ และสังคม อีกทั้งยังเพิ่มความรับผิดชอบของสถาบันการเงิน ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ ผู้ให้บริการโทรคมนาคม และสื่อสังคมออนไลน์ หากเกิดความเสียหายต่อผู้ใช้บริการที่ถูกหลอกลวง เนื่องจากการละเลยหรือไม่ดูแลระบบอย่างเพียงพอ รวมถึงมีมาตรการป้องกันการโอนเงินผิดกฎหมายผ่านสินทรัพย์ดิจิทัลด้วย
"นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอี ลงนามเสนอร่างกฎหมายใหม่แล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา หากผ่านการตรวจร่างแล้ว จะเร่งเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาและมีผลบังคับใช้ทันที หลังจากนั้น ร่างกฎหมายจะถูกส่งเข้าสภาฯ เพื่อพิจารณาเห็นชอบ หากสภาฯ ไม่เห็นชอบ ร่างดังกล่าวจะไม่มีผลต่อกฎหมายใดๆ อย่างไรก็ตาม คาดว่ากระบวนการทั้งหมดจะใช้เวลาไม่นาน เช่นเดียวกับช่วงการเสนอ พ.ร.ก. ฉบับนี้ในครั้งแรกที่ใช้เวลาเพียง 1 เดือนก่อนประกาศใช้สำเร็จ รัฐบาลมองว่า ปัญหานี้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศอย่างรุนแรง จึงเดินหน้าเร่งรัดให้สำเร็จ เพื่อมอบเป็นของขวัญปีใหม่ให้ประชาชน" นายวิศิษฏ์ กล่าว และว่า
"การแก้ไขปัญหาการหลอกลวงและบัญชีม้าช่วงที่ผ่านมาเริ่มเห็นผลชัดเจน โดยเฉพาะการลดลงของการกระทำผิดในลักษณะดังกล่าวอย่างมีนัยสำคัญ หลังจากที่การติดตามการแจ้งความดำเนินไปอย่างเข้มข้น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบการเปิดบัญชีธนาคารพาณิชย์ หากพบการปล่อยปละละเลยจะต้องรับผิดชอบร่วม กระทรวงเร่งผลักดันให้การดำเนินคดีมีความรวดเร็วมากขึ้น เนื่องจากมีคดีอาชญากรรมออนไลน์ที่แจ้งความสูงถึง 300,000 คดี ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องทำงานหนักและมีคดีค้างจำนวนมาก ถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องจัดการให้ได้โดยเร็ว เพราะอาชญากรรมออนไลน์ ทั้งการหลอกลงทุน เว็บพนันออนไลน์ และแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ถือเป็นภัยร้ายที่ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ โดยดึงเงินจากระบบออกไปสู่ภาคใต้ดิน ทำให้รัฐบาลต้องเร่งจัดการปัญหานี้เพื่อปกป้องความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชน"