ช่อง 3 ปลดพนักงาน 30% สะเทือนวงการสื่อ ไร้แผนรองรับ คนเก่งเสี่ยงลอยแพ กูรูสื่อตั้งเดดไลน์ 'กสทช.' ออกแผน บอกทิศทางทีวีดิจิทัลภายในต้นปี 68
จากกรณีสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ปรับโครงสร้างองค์กร ลดค่าใช้จ่ายด้วยการปลดพนักงานทุกระดับ 30% โดยพนักงานที่ถูกเลิกจ้างจะทำงานถึงสิ้นปี 2567 พร้อมรับค่าชดเชยตามกฎหมาย สูงสุด 400 วัน
ผศ.ดร.สกุลศรี ศรีสารคาม รองคณบดีคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความคิดเห็นต่อเรื่องนี้ว่า กระแสการลีนองค์กรสื่อไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทย แต่เป็นเทรนด์ระดับโลกที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ในยุคที่เศรษฐกิจชะลอตัวและเม็ดเงินในอุตสาหกรรมสื่อลดลง โครงสร้างองค์กรที่ใหญ่โตเทอะทะ และลำดับขั้นที่ซับซ้อน จำเป็นต้องถูกปรับให้กระชับเพื่อความอยู่รอด อย่างไรก็ตาม คำถามสำคัญคือ องค์กรเหล่านี้มีแผนรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับบุคลากรอย่างชัดเจนหรือไม่?
เพราะการปรับลดขนาดองค์กร ไม่ควรจบที่การปลดคนออกโดยไร้การดูแล หากเรารู้อยู่แล้วว่า บุคลากรจะได้รับผลกระทบ สิ่งสำคัญที่องค์กรต้องมี คือ แผนเตรียมความพร้อมให้บุคคลเหล่านี้สามารถก้าวต่อในสายอาชีพได้ เช่น การจัดฝึกอบรมเพื่อพัฒนาทักษะใหม่ๆ การเปิดมุมมองสู่การเป็นผู้ประกอบการ หรือการวางเส้นทางความก้าวหน้าในสายอาชีพ (Career Path) สำหรับบุคลากรที่อาจต้องออกจากองค์กร
ด้วยปัจจุบันยังไม่มีการพูดถึงการบริหารความเสี่ยงในลักษณะนี้อย่างจริงจังในอุตสาหกรรมสื่อ หากองค์กรต้องการดูแลทรัพยากรมนุษย์อย่างแท้จริง จำเป็นต้องเริ่มคิดและดำเนินการอย่างเป็นระบบ ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมพร้อมเรื่องการเกษียณก่อนกำหนด (Early Retirement) ที่ชัดเจน หรือการให้โอกาสบุคลากรในการสร้างเส้นทางอาชีพใหม่ โดยไม่ต้องเผชิญกับความเสี่ยงแบบลอยแพ
◉ จี้ 'กสทช.' ชัดเจนใบอนุญาตทีวีดิจิทัล
"การปรับลดขนาดองค์กรในอุตสาหกรรมสื่อยังคงเป็นแนวโน้มต่อเนื่อง เพียงแต่จะปรับให้ลดลงแบบไหน เพราะความไม่แน่นอนในเศรษฐกิจและโครงสร้างทีวีดิจิทัล รวมถึงการต่อใบอนุญาตประกอบการกิจการทีวีดิจิทัล ที่ยังไม่มีความชัดเจน กดดันองค์กรสื่อต้องลีนโครงสร้างและลดจำนวนบุคลากร แต่กลับไม่มีแผนรองรับคนที่มีศักยภาพและประสบการณ์สูง บุคลากรที่ทำงานยาวนาน 10-20 ปี หากไม่ได้รับการสนับสนุนเรื่องเส้นทางอาชีพหรือการพัฒนาทักษะใหม่ อาจต้องออกจากวงการ ส่งผลให้อุตสาหกรรมสูญเสียคนเก่งที่เป็นกำลังสำคัญ การลีนองค์กรแบบไร้แผนชัดเจน อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อศักยภาพและคุณภาพของวงการสื่อในระยะยาว" ผศ.ดร.สกุลศรี กล่าวและว่า
"กสทช.ควรออกแผนการเปลี่ยนผ่านใบอนุญาตทีวีดิจิทัลที่ชัดเจน ภายปี 2567 หรือไม่เกินต้นปี 2568 เพื่อให้องค์กรสื่อมีเวลาวางแผนและปรับตัว การประกาศแบบกระชั้นชิดอาจทำให้ผู้ประกอบการขาดความพร้อมและส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมสื่อ กสทช. ในฐานะผู้กำกับดูแล คำว่าดูแลต้องทำด้วย ดูแลแปลว่าดูแลและสนับสนุนให้อุตสาหกรรมไปต่อได้ ไม่ควรปล่อยให้องค์กรสื่อจัดการทุกอย่างเอง แต่ต้องมีแผนสนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งสำหรับผู้ที่ยังอยู่ในอุตสาหกรรมและผู้ที่ไม่ได้รับใบอนุญาต พร้อมมองไปข้างหน้าอย่างน้อย 5 ปี เพื่อให้ทุกฝ่ายในอุตสาหกรรมสามารถเดินหน้าต่อได้อย่างยั่งยืน หากไม่มีแผนที่ชัดเจน อุตสาหกรรมสื่อจะคลุกฝุ่นอยู่กับปัญหาเดิม ที่ไม่มีใครมองออกเลยว่า เราจะออกจากฝุ่นนี้ไปได้อย่างไร"
◉ เมินหนุนสื่อ ทำ 'Soft Power' ไร้พลัง
ผศ.ดร.สกุลศรี กล่าวว่า ระบบนิเวศสื่อเผชิญความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ จากพฤติกรรมผู้บริโภคที่หันไปเลือกเสพสื่อที่หลากหลายผ่าน Creator Economy ส่งผลให้ทีวีดิจิทัลสูญเสียผู้ชมและเม็ดเงินโฆษณา การลดลงของรายได้ทำให้การรักษาคุณภาพของสื่อเป็นไปได้ยาก แม้องค์กรทีวีดิจิทัลพยายามปรับตัวอย่างหนักในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา แต่หลายแห่งไม่สามารถอยู่รอดได้
สิ่งที่น่าเศร้าคือ การสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องยังขาดความชัดเจน ทั้งที่อุตสาหกรรมสื่อสามารถสร้างรายได้มหาศาล และส่งเสริม Soft Power ของประเทศ หากภาครัฐไม่เร่งจัดทำแผนสนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรม ระบบนิเวศสื่อไทยจะเผชิญวิกฤตครั้งใหญ่และอาจไม่สามารถเดินหน้าต่อได้ในระยะยาว