'ETDA' ชี้องค์กรไทย 73.3% ลุย AI แต่ไร้ธรรมาภิบาล เปิดเวที AlGovernance Webinar 2024 เตือนทุกภาคส่วนเร่งปรับตัว ดันจริยธรรม ลดวิกฤตความเชื่อมั่น กระทบอนาคตธุรกิจ
เมื่อวันที่ 26 พ.ย.67 ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ที่ปรึกษาอาวุโส ETDA กล่าวว่า การใช้ Generative AI ในภาคธุรกิจและองค์กรของไทยเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยผลสำรวจ AI Readiness Measurement 2024 ระบุว่า สัดส่วนองค์กรที่เริ่มประยุกต์ใช้ AI ในปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 17.8% จาก 15.2% ในปี 66 และอีก 73.3% ขององค์กรแสดงความพร้อมที่จะนำ AI มาใช้งานในอนาคต โดย 3 อุตสาหกรรมที่มีการใช้ AI สูงสุดได้แก่ 1.การศึกษา 2.การเงินและการค้า และ 3.โลจิสติกส์และการขนส่ง
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการใช้ AI จะเติบโตต่อเนื่อง แต่ประเด็นเรื่อง AI Ethics หรือจริยธรรมการใช้งาน AI ยังเป็นจุดที่ต้องให้ความสำคัญอย่างมาก ผลสำรวจชี้ว่า มีเพียง 16.5% ขององค์กรไทยที่ได้นำแนวคิดด้านจริยธรรม AI มาปรับใช้จริง และอีก 43.7% อยู่ในขั้นตอนการวางแผน อีกทั้ง AI สามารถสร้างเนื้อหาหลากหลาย เช่น ข้อความ โค้ดโปรแกรม รูปภาพ วิดีโอ และเสียง ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ซึ่งถือเป็นการปฏิวัติวงการดิจิทัลครั้งสำคัญ Generative AI จึงเปรียบเหมือนพลังพิเศษในมือผู้ใช้งาน ไม่ต่างจากประโยคเด็ดของสไปเดอร์แมนที่ว่า พลังที่ยิ่งใหญ่ มาพร้อมกับความรับผิดชอบอันใหญ่ยิ่ง
แต่การใช้ AI ในปัจจุบันยังขาดความระมัดระวัง อาจนำไปสู่ความเสี่ยงที่ควบคุมไม่ได้ เพราะติดข้อจำกัด อาทิ 1.ข้อมูลผิดพลาด อาจสร้างคำตอบที่ดูน่าเชื่อถือ แต่ไม่ถูกต้อง 2.การเรียนรู้จากข้อมูลที่มีอคติ ทำให้ AI ตอบสนองอย่างไม่เหมาะสม เช่น การมองว่าอาชีพแพทย์ต้องเป็นเพศชาย และ 3.ความปลอดภัยของข้อมูล ที่ห้ามนำข้อมูลส่วนบุคคลหรือความลับองค์กรไปใช้กับ AI เพราะอาจเกิดการรั่วไหลได้
ดังนั้น ETDA จึงเห็นว่า หน่วยงานและองค์กรไทยควรเร่งปรับตัว โดยมีแนวทางดังนี้ 1.ตั้งนโยบายชัดเจน พร้อมกลไกตรวจสอบข้อมูลที่ AI สร้าง 2.พัฒนาโมเดล AI เฉพาะองค์กร เพื่อป้องกันการรั่วไหล และ 3.เสริมความรู้และวิจารณญาณให้กับบุคลากร ในการตรวจสอบผลลัพธ์ที่ AI สร้าง เพราะการอัปเดต AI เกิดขึ้นทุกสัปดาห์ ทำให้ผู้ใช้งานต้องเรียนรู้และปรับตัวต่อเนื่อง AI ไม่ได้เก่งเฉพาะเรื่องภาษา แต่ยังช่วยสร้างภาพ วิดีโอ และเสียงได้ ด้วย AI กำลังมุ่งสู่ยุคที่สามารถทำงานหลายรูปแบบได้พร้อมกัน เช่นเดียวกับเทคโนโลยี จาร์วิส (JARVIS) จากภาพยนตร์เรื่องไอรอนแมน (Iron Man) ที่ตอบคำถามและช่วยวิเคราะห์ได้ในหลายมิติ
"การใช้ AI อย่างมีประสิทธิภาพต้องอาศัยความรู้และความรอบคอบ แม้ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายควบคุม AI โดยตรง แต่หน่วยงานและองค์กรควรพัฒนากลไกธรรมาภิบาล เช่น หลีกเลี่ยงการใช้ข้อมูลลับในการเทรน AI และตรวจสอบผลลัพธ์อย่างถี่ถ้วน Generative AI จะเป็นเครื่องมือสำคัญในอนาคตหากใช้อย่างเหมาะสม แต่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันลดความเสี่ยง เพื่อให้เทคโนโลยีนี้นำประโยชน์มากกว่าโทษเข้าสู่สังคมไทยอย่างยั่งยืน" ดร.ศักดิ์ กล่าว
ทั้งนี้ เวทีเสวนา AI Govemance Webinar 2024 ในหัวข้อ "จับเทรนด์ Gen AI พลิกโฉมทุกภาคส่วน...ใช้อย่างไรให้มีธรรมาภิบาล ?" โดยผู้เชี่ยวชาญ ด้าน AI หลากหลายมิติทั้งภาครัฐ นักพัฒนา นักกฎหมาย อาทิ ดร.ภูมิศิริ ดำรงวุฒิ รองคณบดีด้านงานวิรัชกิจและนิตินวัตกรรม คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ AIGC Fellow, รศ.ดร.วิริยะ เตชะรุ่งโรจน์ อาจารย์ประจำสาชาวิชาการตลาด วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล และ AIGC Fellow, คุณชัชวาล สังคีตตระการ นักวิจัย กลุ่มวิจัยปัญญาประดิษฐ์ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC), สำนักงานพัฒนาวิทยาศาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และคุณรจนา ล้ำเลิศ ที่ปรึกษา ETDA และหัวหน้าศูนย์ AIGC by ETDA ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองและสะท้อนถึงเทรนด์และความสำคัญของจริยธรรมและธรรมาภิบาล AI ในเวทีโลก
โดยผู้เชี่ยวชาญ ระบุว่า การใช้งาน Generative AI ในปัจจุบัน สำหรับภาครัฐและงานบริการประชาชน AI ช่วยจัดการข้อมูลบิ๊กดาต้า ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สาธารณสุข การแพร่ระบาดของโรค รวมถึงการให้บริการประชาชน เช่น ระบบจ่ายภาษีออนไลน์ และการออกวีซ่า รวมถึงใช้ AI ช่วยตรวจสอบเอกสาร วิเคราะห์ข้อมูลสำคัญ และเพิ่มความโปร่งใสในกระบวนการ เช่น การจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานรัฐ
ภาคการศึกษา AI สร้างโอกาสให้ครูและนักเรียนพัฒนาการเรียนการสอน เช่น การแปลภาษา ช่วยจัดทำเอกสารวิจัย ลดอุปสรรคด้านภาษาสำหรับการศึกษาระดับสูง แต่ทักษะการอ่านและการเขียนอาจถูกลดทอน หากพึ่งพา AI มากเกินไป ขณะที่ ภาคธุรกิจและเทคโนโลยี AI ถูกใช้ในงานวิจัย การตลาด และสร้างสรรค์ผลงาน เช่น การออกแบบภาพ เสียง และเนื้อหา ส่งเสริมประสิทธิภาพการทำงานในระดับองค์กร ส่วนด้านกฎหมายและจริยธรรม AI มีบทบาทในกระบวนการยุติธรรม เช่น การประเมินคดีเล็กๆ แต่ยังมีข้อกังวลด้านจริยธรรมและอคติ (Bias) เช่น เพศ ศาสนา และข้อมูลส่วนบุคคล ที่อาจไม่ได้รับการปกป้องอย่างเหมาะสม
อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงของ Generative AI ทักษะพื้นฐาน เช่น การอ่าน การเขียน และการคิดวิเคราะห์ อาจลดลงหากพึ่งพา AI ในการทำงานมากเกินไป รวมถึง AI ไม่สามารถเข้าใจอารมณ์และความละเอียดอ่อนของมนุษย์ได้ดี เช่น เรื่องอารมณ์ขัน หรือความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้ง การใช้งาน AI ในบางประเทศอาจมีปัญหา Bias ด้านเพศ ศาสนา หรือข้อมูลส่วนบุคคล โมเดล AI อาจใช้งานข้อมูลที่ไม่ได้รับอนุญาต หรือข้อมูลที่มีลิขสิทธิ์โดยไม่ได้รับความยินยอม การใช้ AI ในอนาคตจะต้องพิจารณาเรื่องการพัฒนาทักษะใหม่ๆ เพื่อรับมือกับเทคโนโลยี เช่น Emotional Intelligence และการจัดการอารมณ์
สำหรับทิศทาง AI ในปี 2568 ผู้เชี่ยวชาญมองว่า AI จะถูกนำมาใช้ในชีวิตประจำวันมากขึ้น ทั้งในธุรกิจ เกษตร การแพทย์ และการศึกษา ในประเทศไทย โมเดล AI เฉพาะด้านอย่าง "ปทุมมา LLM" ถูกพัฒนาเพื่อใช้งานในบริบทไทย เช่น งานเอกสารราชการ การพัฒนา AI จะเน้นไปที่การสร้างความเป็นส่วนตัว (Personalization) และลดข้อผิดพลาด เช่น ความเอนเอียงในคำตอบ การใช้งาน AI จะอยู่ภายใต้กรอบกฎหมายที่เข้มงวดขึ้น เช่น PDPA และกฎหมายลิขสิทธิ์
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยเตรียมจัดงานประชุมนานาชาติด้านจริยธรรม AI ครั้งแรกในเอเชียแปซิฟิก Motion ระหว่างวันที่ 24-27 มิ.ย.68 ณ กรุงเทพฯ นำโดย อว., ศธ. และ UNESCO พร้อมแถลงข่าวความร่วมมือ 4 ธ.ค.67 ติดตามถ่ายทอดสดได้ที่เพจเฟซบุ๊ก ETDA Thailand