ทรู คอร์ปอเรชั่น นำแนวคิด ‘3Zero’ ยกระดับเครือข่ายให้ทันสมัย ด้วยการนำ AI สร้างเครือข่ายอัจฉริยะ บริหารจัดการการพลังงาน ปรับแต่งเครือข่ายตามการใช้งานลูกค้า และช่วยวิเคราะห์เพื่อวางแผนบำรุงรักษา บนพื้นฐานการเพิ่มความพึงพอใจลูกค้า หลังพบประสิทธิภาพเน็ตทรู-ดีแทคเร็วขึ้น
นายประเทศ ตันกุรานันท์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านเทคโนโลยี บริษัท ทรูคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมา ทรู และดีแทค ได้มีการยกระดับโครงข่ายสู่ความทันสมัย (Network Modernization) แล้วกว่า 10,800 สถานีฐาน คิดเป็น 64% ของแผนงานทั้งหมด และคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2568
“การพัฒนาครั้งนี้ส่งผลให้ประสิทธิภาพเครือข่ายเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยความเร็ว 5G เพิ่มขึ้น 48% ความเร็ว 4G เพิ่มขึ้น 13% และแบนด์วิดท์เพิ่มขึ้น 35% ในพื้นที่ที่ได้รับการอัปเกรด พร้อมรองรับการเติบโตของผู้ใช้บริการ 5G ที่มีจำนวน 12.4 ล้านราย เพิ่มขึ้น 5.4% จากไตรมาสก่อน”
โดยมีการมุ่งเน้นขยายคลื่น 700 MHz และ 2600 MHz พร้อมเพิ่มประสิทธิภาพคลื่น 2100 MHz ส่งผลให้ลูกค้าทรูและดีแทคได้ใช้งานเครือข่ายที่ครอบคลุมพื้นที่ และมีความเร็วมากยิ่งขึ้น พร้อมไปกับการพัฒนาเครือข่ายอัจฉริยะที่ขับเคลื่อนด้วย AI ภายใต้กลยุทธ์ 3Zero เพื่อประสิทธิภาพสูงสุดอีกด้วย
สำหรับแนวคิด "3Zero" ที่วางไว้รองรับ 3 ปีข้างหน้า ประกอบด้วย Zero Touch - นวัตกรรมเครือข่ายอัตโนมัติขั้นสูงที่นำ AI และ Machine Learning มาตรวจจับ วิเคราะห์ แก้ไข และยืนยันการแก้ปัญหาแบบอัตโนมัติ มุ่งยกระดับประสิทธิภาพการบริหารโครงข่ายให้สูงขึ้น 80% พร้อมลดการใช้พลังงานลง 30% และป้องกันความผิดพลาดจากการปฏิบัติงานได้ถึง 80%
ตามด้วย Zero Wait - ระบบ AI ที่ปรับแต่งเครือข่ายแบบเรียลไทม์ตามพฤติกรรมผู้ใช้งานแบบไร้รอยต่อ เพิ่มประสิทธิภาพเครือข่ายทันทีเพื่อประสบการณ์สูงสุดในทุกสถานการณ์ เช่น กรณีมีการรวมตัวใช้งานของกิจกรรมต่างๆ เช่น พื้นที่จัดคอนเสิร์ต หรือกิจกรรมที่มีผู้ใช้งานหนาแน่น โดยตั้งเป้าเพิ่มความเร็วในการปรับแต่งเครือข่าย 50%พร้อมแก้ไขปัญหาลูกค้าได้เร็วขึ้น 3-4 เท่า
สุดท้าย Zero Trouble - ระบบ AI วิเคราะห์ข้อมูลเครือข่ายแบบเรียลไทม์เพื่อคาดการณ์และป้องกันปัญหา พร้อมวางแผนบำรุงรักษาเชิงป้องกัน (Proactive Maintenance) โดยตั้งเป้าลดเวลาเครือข่ายขัดข้อง 40% ลดข้อร้องเรียน 40% และเพิ่มความพึงพอใจลูกค้า (NPS) 30% ภายใน 3 ปี
ทรู คอร์ปอเรชั่น ไม่ได้มุ่งเน้นเพียงขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลและสังคมเมืองเท่านั้น แต่ยังคำนึงถึงความยั่งยืนและการพัฒนาชุมชน สังคม พร้อมนำโครงข่ายไปผสาน “Tech For Good” สู่การถอดรหัส Empathy-Insights-Technology สร้างนวัตกรรมเทคโนโลยียกระดับคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน เช่น โครงการ True Smart Early Warning System (TSEWS) ที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี ซึ่งใช้โครงข่ายสมรรถนะสูงในการเฝ้าระวังช้างป่าและลดความขัดแย้งระหว่างคนกับช้าง