xs
xsm
sm
md
lg

กสทช.กดดัน 'NT' ลดงบทำ 'Cell Broadcast'

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กสทช. สั่ง 'NT' ทบทวน Fixed Cost 179 ล้านบาท ทำระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉิน (Cell Broadcast) เสนอใช้โรมมิ่งลดงบ เล็งประชุมชี้ขาด 28 พ.ย.67

เมื่อวันที่ 20 พ.ย.67 ที่สำนักงาน กสทช. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุม กสทช. ครั้งที่ 26/2567 มีวาระต่อเนื่อง เรื่องอนุมัติกรอบวงเงินการจัดทำระบบการแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินผ่านเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Cell Broadcast) เฉพาะเงินสนับสนุนระบบ Cell Broadcast Center (CBC) และค่าบำรุงรักษาระบบ (MA) จำนวน 3 ปี ให้บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT ภายหลังเสนอวงเงินค่าใช้จ่ายใหม่ที่ 261 ล้านบาท ลดลงจากข้อเสนอเดิมซึ่งอยู่ที่ 278 ล้านบาท

โดยที่ประชุม กสทช. มีการพิจารณาวงเงินเกี่ยวกับซอฟต์แวร์ Fixed Cost ของ NT ซึ่งเสนอมาอยู่ที่ 179 ล้านบาท เปรียบเทียบแล้วใกล้เคียงกับ AWN ซึ่งอยู่ที่ 185 ล้านบาท และ TUC อยู่ที่ 186 ล้านบาท แม้ NT จะมีจำนวนสถานีฐานและจำนวนผู้ใช้บริการน้อยกว่ามาก อีกทั้งสัดส่วนค่า Fixed Cost ของ NT คิดเป็น 94% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด ขณะที่ผู้ให้บริการรายอื่นอยู่ที่ 72%

ทั้งนี้ ที่ประชุมมีการเสนอให้ NT ใช้โครงข่ายของผู้ให้บริการรายอื่น เช่น AIS หรือ True เพื่อลดต้นทุนโครงสร้างพื้นฐานแทนการลงทุนเอง แต่พบข้อจำกัดด้านเทคนิค เช่น การกระจายสัญญาณที่อาจไม่ครอบคลุมทั่วประเทศ รวมถึงเสนอให้สำนักงาน กสทช.ไปศึกษาตัวอย่างแนวทางการจัดการ Fixed Cost และโรมมิ่งของต่างประเทศ เพื่อให้มั่นใจว่าตัวเลขที่เสนอนั้นสมเหตุสมผล แม้ สำนักงาน กสทช. จะชี้แจงว่าค่าใช้จ่ายทั้งหมดจะถูกตรวจสอบโดยผู้สอบบัญชี เช่น สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ก่อนการอนุมัติสุดท้ายอีกแล้ว

ดังนั้น มติที่ประชุม กสทช. จึงสั่งการให้สำนักงานกลับไปศึกษาเพิ่มเติมถึงความเป็นไปได้ในการลด Fixed Cost ของ NT ผ่านการใช้โรมมิ่งหรือแนวทางอื่นที่เหมาะสม พร้อมนำเสนอข้อมูลเปรียบเทียบต้นทุนจากต่างประเทศ และให้ NT ชี้แจงรายละเอียดการใช้ Fixed Cost และ Variable Cost อย่างละเอียดอีกครั้งในรอบประชุมถัดไป ในวันที่ 28 พ.ย.67

ด้าน แหล่งข่าวจากสำนักงาน กสทช. ระบุว่า เสนอแนวทางที่ NT สามารถใช้ระบบโรมมิ่งบนคลื่นความถี่ที่มีอยู่ พร้อมแชร์การใช้งานโครงข่ายที่รองรับ Active Sharing ซึ่งช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านการลงทุนระบบใหม่ เพราะ NT มีคลื่นความถี่ย่าน 700 MHz อยู่แล้ว แต่ยังไม่สามารถจัดการโครงข่ายในพื้นที่ได้เต็มประสิทธิภาพ โดยปัจจุบันใช้โรมมิ่งผ่าน AIS ซึ่งช่วยให้บริการลูกค้าได้บางส่วน ดังนั้น NT สามารถเช่าการใช้งานโครงข่ายในลักษณะ Operational Cost โดยไม่จำเป็นต้องลงทุนเอง ซึ่งช่วยลดภาระงบประมาณลงได้อย่างมีนัยสำคัญ และหากมีค่าใช้จ่ายในการโรมมิ่งกับผู้ให้บริการรายอื่นๆ สามารถนำมาหักค่าใช้จ่ายกับกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กองทุน USO) ได้ แต่อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจขึ้นอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาด้านการบริหาร และการกำหนดเงื่อนไขระหว่างทั้งสองหน่วยงาน เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าต่อการใช้งบประมาณของรัฐ


กำลังโหลดความคิดเห็น