สำนักงานสถิติแห่งชาติ เผยแรงงานนอกระบบทะลุ 21.1 ล้านคน ค่าจ้างต่ำไม่พอใช้ ความปลอดภัยวิกฤต สารเคมีเล่นงาน 61.8% เกษตรกรเจอหนัก 11 ล้านชีวิตต้องสู้
เมื่อวันที่ 20 พ.ย.67 นายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) รักษาราชการแทน ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) เปิดเผยว่า สสช.ได้ทำการสำรวจแรงงานนอกระบบเป็นประจำทุกปี เพื่อให้ทราบข้อมูลเกี่ยวกับลักษณะการทำงาน และปัญหาที่เกิดจากการทำงานของแรงงานนอกระบบ โดยแรงงานนอกระบบ หมายถึง ผู้มีงานทำที่ไม่ได้รับการคุ้มครองหรือไม่มีหลักประกันทางสังคมจากการทำงาน ซึ่งผลการสำรวจในปี 2567 สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
สถานการณ์แรงงานนอกระบบปีนี้ พบว่า จำนวนผู้มีงานทำทั้งหมดอยู่ที่ 40 ล้านคน โดยเป็นแรงงานนอกระบบถึง 21.1 ล้านคน หรือ 52.7% ซึ่งมากกว่าแรงงานในระบบที่มีเพียง 18.9 ล้านคน หรือ 47.3% ทั้งนี้ แรงงานนอกระบบเพศชายมีจำนวนมากกว่าเพศหญิง แรงงานนอกระบบกว่า 54.2% หรือ 11.4 ล้านคน ทำงานในภาคเกษตรกรรม รองลงมาเป็นภาคบริการและการค้า 36.2% และภาคการผลิต 9.6% ในขณะที่แรงงานในระบบส่วนใหญ่กระจุกตัวในภาคบริการและการค้า
ขณะที่แรงงานนอกระบบ 29.9% หรือ 6.3 ล้านคน เผชิญปัญหาในการทำงาน โดยเกือบครึ่ง 47.7% รายงานว่ามีปัญหาเรื่องค่าตอบแทน ส่วนปัญหาจากสภาพแวดล้อมในการทำงาน เช่น การทำงานในอิริยาบถซ้ำๆ พบที่ 36.5% ขณะที่ปัญหาด้านความปลอดภัย เช่น การสัมผัสสารเคมี พบสูงถึง 61.8% ระหว่างปี 2563-67 สัดส่วนแรงงานนอกระบบลดลงในช่วง 3 ปีแรกจาก 53.8% ในปี 2563 เหลือ 51.0% ในปี 2565 ก่อนจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 52.7% ในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม การพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบต้องมุ่งเน้นการดูแลและส่งเสริมการเข้าถึงหลักประกันทางสังคมอย่างทั่วถึง เพื่อให้แรงงานกลุ่มนี้มีความมั่นคงและความปลอดภัยในการทำงานมากขึ้น