xs
xsm
sm
md
lg

AIS-True ผนึกกำลังทดสอบ 'Cell Broadcast' ที่ภูเก็ต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



AIS-True ผนึกกำลัง กสทช. ชิงนำระบบเตือนภัย 'Cell Broadcast' ทดสอบภูเก็ต ปูทางรับมือภัยพิบัติระดับโลก เพิ่มความมั่นใจนักท่องเที่ยว

เมื่อวันที่ 19 พ.ย.67 นายวรุณเทพ วัชราภรณ์ หัวหน้าฝ่ายงานธุรกิจสัมพันธ์ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS เปิดเผยว่า AIS ร่วมกับ กสทช. กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พัฒนาระบบเตือนภัย "Cell Broadcast Service" ที่ส่งข้อความแจ้งเตือนฉุกเฉินตรงถึงมือถือทุกเครื่องในพื้นที่ที่กำหนด ผ่านการแสดงผลแบบ Pop-Up Notification ทำงานแบบ Near Real-Time รองรับมือถือ 4G ขึ้นไป เพิ่มประสิทธิภาพในการแจ้งเตือนเหตุฉุกเฉินอย่างทันท่วงที ซึ่งล่าสุด กสทช. สนับสนุนงบประมาณจากกองทุน กทปส. เพื่อทดสอบระบบในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตบนเครือข่ายจริง (LIVE Network) โดยการทดลองระบบ Proof of Concept ประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย พร้อมเชื่อมต่อศูนย์บัญชาการกลางของภาครัฐ เตรียมขยายการใช้งานทั่วประเทศ สร้างความมั่นใจด้านความปลอดภัยให้ประชาชนและนักท่องเที่ยว

นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ รักษาการแทน เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) กล่าวว่า ที่ผ่านมา สำนักงาน กสทช.ได้มีการหารือร่วมกับกระทรวงดีอี ปภ. และผู้ประกอบการโทรคมนาคมทุกราย เกี่ยวกับการดำเนินการในการพัฒนาระบบเตือนภัยฉุกเฉินผ่านเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Cell Broadcast) โดยแต่ละหน่วยงานจะมีการแบ่งหน้าที่การจัดการเพื่อให้เกิดระบบ Cell Broadcast และอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน ซึ่งคาดว่าในโตรมาสที่ 2/2568 ระบบ Cell Broadcast จะพร้อมใช้งานจริงได้ในบางพื้นที่ของประเทศ

การพัฒนาระบบเตือนภัยฉุกเฉิน Cell Broadcast ผ่านเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ มีการแบ่งหน้าที่รับผิดชอบอย่างชัดเจนระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดย ปภ.รับหน้าที่กำหนดเนื้อหาและพื้นที่ส่งข้อความเตือนภัยในระบบ Cell Broadcast Entity (CBE) ส่วน กระทรวงดีอี ดูแลระบบ Cloud Server และการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่าง CBE กับ Cell Broadcast Center (CBC) ที่บริหารโดยผู้ให้บริการเครือข่าย ขณะที่ กสทช. สนับสนุนงบประมาณจากกองทุน กทปส. ให้ผู้ให้บริการโทรคมนาคม 3 ราย ได้แก่ AWN, TUC และ NT เพื่อผลักดันการพัฒนาระบบนี้

"AIS มีความพร้อมในการเชื่อมโยงระบบเตือนภัย CellBroadcast กับศูนย์บัญชาการกลางของภาครัฐ พร้อมประกาศแผนขยายเครือข่ายให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง จากปัจจุบันที่ครอบคลุมแล้วกว่า 95% ของพื้นที่ประชากร โดยเน้นพื้นที่ห่างไกลเป็นพิเศษ เป้าหมายหลัก คือ การสร้างความเท่าเทียมและความทั่วถึงในการแจ้งเตือนสถานการณ์เสี่ยง เพื่อปกป้องประชาชนและช่วยเตรียมรับมือภัยพิบัติอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด" นายวรุณเทพ กล่าว


ทั้งนี้ ข้อมูลล่าสุดของสำนักงานสถิติจังหวัดภูเก็ต ระบุว่า ปี 2566 มีนักท่องเที่ยวเยือนภูเก็ตกว่า 11.3 ล้านคน แบ่งเป็นชาวต่างชาติ 8.4 ล้านคน และนักท่องเที่ยวไทย 2.9 ล้านคน สร้างรายได้สูงถึง 388,017 ล้านบาท ครองตำแหน่งจังหวัดท่องเที่ยวอันดับ 2 ของประเทศ รองจากกรุงเทพฯ

ภูเก็ตยังได้รับการจัดอันดับจากเว็บไซต์ Bounce ให้เป็น "เกาะท่องเที่ยวที่ดีที่สุดในโลก" ประจำปี 2566 ด้วยความสำคัญนี้ ทรู ร่วมกับ กสทช. กระทรวงดีอี และ ปภ. เลือกภูเก็ตเป็นพื้นที่ทดสอบระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉิน Cell Broadcast เพื่อเพิ่มความปลอดภัยและสร้างความเชื่อมั่นให้นักท่องเที่ยว

นายจักรกฤษณ์ อุไรรัตน์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านกิจการองค์กร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ภูเก็ตถูกเลือกเป็นจังหวัดที่ 2 สำหรับการทดสอบเสมือนจริง หลังประสบความสำเร็จในกรุงเทพฯ เมื่อเดือน ก.ค.67 ที่ผ่านมา การทดสอบครั้งนี้เน้นรับมือภัยธรรมชาติ เช่น คลื่นสูง พายุ และสึนามิ โดยระบบ CBS สามารถส่งข้อความแจ้งเตือนทันทีถึงมือถือทุกเครื่องในพื้นที่เสี่ยง โดยไม่ต้องลงทะเบียน

นอกจากนี้ ทรูยังเสริมความพร้อมด้วยการจัดตั้ง ศูนย์ปฏิบัติการเครือข่ายอัจฉริยะ (BNIC) หรือ War Room เพื่อบริหารจัดการสถานการณ์ฉุกเฉินตลอด 24 ชั่วโมง มุ่งสร้างความมั่นใจให้ชาวภูเก็ตและนักท่องเที่ยว ตอกย้ำความสำคัญของการยกระดับความปลอดภัยในเมืองท่องเที่ยวระดับโลก

ระบบ CBS ที่นำมาทดสอบใช้งานมีจุดเด่นสำคัญ 5 ประการ ได้แก่ 1.รวดเร็ว สามารถส่งข้อความเตือนภัยได้ทันทีที่เกิดเหตุ 2.แม่นยำ สามารถกำหนดพื้นที่เป้าหมายในการส่งข้อความได้อย่างแม่นยำ 3.ครอบคลุม ส่งข้อความถึงผู้ใช้บริการทุกคนในพื้นที่เสี่ยงภัยโดยไม่ต้องลงทะเบียน 4.มาตรฐานสากล เป็นระบบที่ได้รับการยอมรับและใช้งานในหลายประเทศทั่วโลก และ 5.รองรับทุกภาษา สามารถออกแบบการแจ้งเตือนได้ทุกภาษาและส่งพร้อมกันได้ทันที






กำลังโหลดความคิดเห็น