xs
xsm
sm
md
lg

ธุรกิจไทยต้องลงทุน AI ‘IBM’ มองปี 2025 จุดเริ่มต้นการแข่งขัน (Cyber Weekend)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ไอบีเอ็ม (IBM) แนะองค์กรต้องกล้าลงทุนกับ AI ที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้แก่ธุรกิจ ไม่ใช่ลงทุน AI ในเซฟโซนอย่างเข้ามาช่วยลดค่าใช้จ่ายหรือปรับวิธีการทำงาน ถ้าต้องการให้ธุรกิจสามารถเติบโตอย่างก้าวกระโดดบนคลื่นของเทคโนโลยีที่มีการทรานส์ฟอร์มอย่างรวดเร็ว

ข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับการนำ Generative AI หรือปัญญาประดิษฐ์ที่เข้ามาช่วยคิด วิเคราะห์ข้อมูล พบว่ากว่า 75% ขององค์กรธุรกิจเริ่มทดลองใช้ โดยในจำนวนนี้เกือบครึ่งได้เริ่มสำรวจถึงความเป็นไปได้ในการนำ AI เข้ามาใช้งานแบบทดลอง และมีราว 10% เท่านั้นที่เริ่มใช้งานจริง

ขณะที่ข้อมูลการใช้งาน AI ในไทย คาดว่ามีองค์กรธุรกิจราว 5-6% เท่านั้นที่เริ่มนำ AI มาใช้งาน ไม่นับรวมในฝั่งของคอนซูเมอร์ ที่การใช้งาน AI เกิดขึ้นสูงกว่าจากพฤติกรรมการใช้งานโดยเฉพาะสมาร์ทโฟนที่ช่วยเพิ่มช่องทางในการเข้าถึง AI ให้สะดวกขึ้น


อโณทัย เวทยากร กรรมการผู้จัดการใหญ่ ไอบีเอ็ม ประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ว่า ในปี 2025 จะเป็นปีที่ไอบีเอ็มจะมุ่งผลักดันให้เป็นจุดเริ่มต้นในการขับเคลื่อนการแข่งขัน AI ในประเทศไทย เนื่องจากปัจจุบัน แม้ว่าองค์กรธุรกิจจะให้ความสนใจใน AI แต่มีจำนวนน้อยมากที่ก่อให้เกิดประสิทธิผลออกมา

“การที่ขับเคลื่อนธุรกิจในยุคดิจิทัล นอกจากการนำ AI ไปใช้งานให้แพร่หลายมากขึ้น ก็คือต้องเปิดทางให้องค์กรร่วมกันแข่งขันเพื่อสร้างนวัตกรรม AI สิ่งที่เกิดขึ้นคือจะทำให้ไทยมีความสามารถในการแข่งขันในระดับภูมิภาค ไม่ตกขบวนเทคโนโลยีที่เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว”

มีการคาดการณ์ว่า AI จะสร้างมูลค่าให้ตลาด หรือ GDP โลก ในปี 2030 ถึง 4.4 ล้านล้านเหรียญ ที่แสดงให้เห็นว่า AI จะหลอมรวมไปกับทุกเรื่องที่เราทำ ซึ่งแม้ว่าจะเห็นถึงการเริ่มนำ AI มาใช้งานกว่า 75% แต่กลายเป็นว่า 30% ยุติการพัฒนาต่อเนื่อง จากความไม่พร้อมทางด้านเทคโนโลยี หรือ Use Case ไม่แข็งแรงพอที่จะเข้ามาตอบโจทย์ธุรกิจ

สำหรับผลการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริหารในไทย 76% ของซีอีโอเห็นว่าความสำเร็จขององค์กร ขึ้นอยู่กับความร่วมมือระหว่างฝ่ายการเงิน และฝ่ายเทคโนโลยี 53% กำลังทำงานร่วมกับฝ่ายการเงินเพื่อให้แน่ใจว่ากลยุทธ์มีความสอดคล้องกัน

โดยที่ 45% ขององค์กรในอาเซียนยังไม่มีโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมรองรับ AI เนื่องจากใช้งานเทคโนโลยีเก่าอยู่ทำให้ไม่สามารถนำมาใช้งานในยุคของ AI ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และยังมีความกังวลในเรื่องของการกำกับดูแล และข้อบังคับที่จะเป็นอุปสรรคต่อการนำ Gen AI มาใช้งาน

***ใช้ AI สร้างอิมแพกต์ให้ธุรกิจ


อโณทัย ให้มุมมองที่น่าสนใจว่า สิ่งสำคัญที่องค์กรต้องคำนึงถึงคือเรื่องการเลือกระหว่างลงทุนเทคโนโลยีใหม่ หรือพัฒนาเทคโนโลยีเดิมให้ดียิ่งขึ้น เพียงแต่ในการพัฒนาเทคโนโลยีอาจจะมีข้อจำกัดของโครงสร้างพื้นฐานเดิมทำให้มองไม่เห็นถึงแนวทางพัฒนาเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มเติม

“องค์กรที่กล้าโยนของเก่าทิ้ง และลงทุนใหม่ จะมีโอกาสในการประสบความสำเร็จแบบก้าวกระโดด เพราะการลงทุน AI ไม่มีใครพร้อมที่สุด แต่ถ้าองค์กรไม่ลงทุนก็จะทำให้ไม่สามารถแข่งขันได้ในอนาคต”

โดยปัจจัยที่ต้องกำหนดแนวทางในการลงทุน AI คือให้มองถึงการนำไปใช้งาน (Use Case) อย่าลงทุนใน AI ที่ทำแล้วได้ประโยชน์เพียงนิดเดียวอย่างการลดขั้นตอนการทำงานเพียงบางขั้นตอน เพื่อลดต้นทุนบางอย่าง แต่ให้มองถึง Use Case ที่มีความเสี่ยงสูง แต่สร้างผลกระทบให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างยิ่งใหญ่ในองค์กร

อย่างไรก็ตาม ทุกองค์กรต้องมองเห็นถึงภาพเดียวกันว่า ในการลงทุนเทคโนโลยีมีค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น แต่ถ้ามองในแง่ของการลดค่าใช้จ่ายผ่านการลงทุนเทคโนโลยี จะทำให้องค์กรกล้าลงทุนเพื่อลดค่าใช้จ่ายในองค์กร เนื่องจากสภาพการแข่งขันในเวลานี้ ถ้าอยู่เฉยๆ ไม่ทำอะไรเลยยิ่งเสี่ยง แต่ถ้าลงทุนในสิ่งที่ถูกต้องจะทำให้องค์กรฝ่าพายุทางด้านเศรษฐกิจไปได้


พร้อมกันนี้ ผู้บริหารไอบีเอ็ม ให้คำแนะนำว่า การลงทุนทางด้าน AI ที่เหมาะสมคือ Smaller fit to purpose หรือการเลือกใช้โมเดล AI ที่เหมาะกับการใช้งานของธุรกิจ ไม่จำเป็นต้องลงทุนใน AI ที่มีฐานข้อมูลขนาดใหญ่ ซึ่งจะยิ่งทำให้ค่าใช้จ่ายในการประมวลผลสูงขึ้นไปอีก

องค์กรควรเลือกโมเดลในการพัฒนา AI ที่เข้ามาตอบโจทย์การใช้งาน บนพื้นฐานของการนำข้อมูลมาใช้งานที่ปลอดภัย ไม่ละเมิดความเป็นส่วนตัวของข้อมูล และมีการกำกับดูแลข้อมูลที่ได้มาตรฐาน

สำหรับการใช้งาน AI ในประเทศไทย เชื่อว่าในปีนี้ทุกองค์กรเริ่มให้ความสนใจแล้ว เพียงแต่เป้าหมายของไอบีเอ็มในปีหน้าที่จะมุ่งผลักดันให้องค์กรไทยแข่งขันได้ จะต้องเริ่มจากการให้ความรู้ในการนำ AI ไปใช้งานเพื่อตอบโจทย์ธุรกิจ มีการแนะนำเครื่องมือที่เหมาะสมผ่านพันธมิตรที่ช่วยทำตลาดอย่างต่อเนื่อง

ภายใต้เป้าหมายในการผลักดันให้ภาคธุรกิจไทยใช้งาน AI เพิ่มมากขึ้นจากในปีนี้อาจจะอยู่ที่ 5-6% ถ้าปลายปี 2025 ขยับขึ้นไปได้ถึง 15-20% ก็นับเป็นทิศทางที่ดี และช่วยให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันได้แล้ว


กำลังโหลดความคิดเห็น