xs
xsm
sm
md
lg

'ดีป้า' เปิดตัว 'OTOD ทุเรียนดิจิทัล' ดันไทยแชมป์ส่งออกโลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ทุเรียนไทยไม่แพ้ใคร! 'ดีป้า' เปิดตัวโครงการ 'OTOD ทุเรียนดิจิทัล' ปรับมาตรฐานใหม่ ใช้บิ๊กดาต้า-เทคโนโลยี ยกระดับทุเรียนไทยขึ้นแชมป์ส่งออกโลก

เมื่อวันที่ 12 พ.ย.67 นายพรรณธนู วรรณกางซ้าย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า กระทรวงดีอี โดยดีป้า เปิดตัวโครงการ 1 ตำบล 1 ดิจิทัล (OTOD ทุเรียนดิจิทัล) ซึ่งเป็นโครงการนำร่อง เพื่อเสริมศักยภาพเกษตรกรไทยด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ยกระดับการผลิตทุเรียนคุณภาพสูงและส่งเสริมให้เป็นพืชเศรษฐกิจหลักในการส่งออก โดยเน้นการใช้บิ๊กดาต้า สำหรับการจัดการข้อมูลและมาตรฐาน GAP ในการผลิต ตั้งเป้าผลักดันการผลิตและส่งออกทุเรียน ซึ่งมีมูลค่าสูงและเป็นที่ต้องการในตลาดต่างประเทศ

ทั้งนี้ ปัจจุบันพบว่า ประเทศไทยมีเกษตรกรทั้งหมดประมาณ 7.7 ล้านครัวเรือน หรือราว 8.85 ล้านราย โดยเป็นเกษตรกรที่ปลูกทุเรียนจำนวน 162,293 ครัวเรือน ใช้พื้นที่การเพาะปลูกประมาณ 1.02 ล้านไร่ และมีปริมาณผลผลิตถึง 1.53 ล้านตัน โดย 69% หรือ 991,557 ตัน ของผลผลิตทั้งหมดส่งออกไปต่างประเทศ และ 97% ของทุเรียนที่ส่งออกนั้นส่งตรงไปตลาดจีน คิดเป็นมูลค่าส่งออกถึง 141,055 ล้านบาท หรือปริมาณ 928,976 ตัน แต่ทุเรียนไทยกำลังเผชิญความท้าทาย เพราะจีนสามารถปลูกทุเรียนเองได้ 60,235 ตัน ในปี 2567 ส่งผลให้การนำเข้าทุเรียนจากไทยลดลงเหลือ 67.98% เมื่อเทียบกับปี 2564

ดังนั้น โครงการจึงตั้งเป้าช่วยเกษตรกรไทยรักษาคุณภาพทุเรียนได้ตามมาตรฐานสากล และมีความยั่งยืนในระยะยาว ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มมูลค่าส่งออกได้ถึง 19,825 ล้านบาท และขยายปริมาณผลผลิตได้อีก 152,500 ตัน นอกจากนี้ ยังเปิดโอกาสให้เอสเอ็มอี และสตาร์ทอัปไทยสร้างแพลตฟอร์มดิจิทัล เพื่อสนับสนุนภาคเกษตรไทยอย่างยั่งยืน

นายพรรณธนู วรรณกางซ้าย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี)
ด้าน ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือดีป้า กล่าวว่า ดีป้า คาดหวังให้โครงการนี้ช่วยยกระดับการผลิตและเพิ่มมูลค่าทางการเกษตรด้วยเทคโนโลยี โดยเฉพาะพืชเศรษฐกิจสำคัญอย่างทุเรียน มะม่วง ลิ้นจี่ และลำไย ซึ่งในส่วนของทุเรียน เมื่อปี 2565 มีพื้นที่การเกษตรประมาณ 700,000 ไร่ มูลค่าการส่งออกอยู่ที่ราว 800,000 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจนแตะ 1.5 ล้านล้านบาท แต่ด้วยการขยายตลาดในประเทศจีนและการเพิ่มขึ้นของคู่แข่งใหม่ในอาเซียน อย่างเวียดนาม มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ทำให้เกษตรกรไทยต้องปรับตัว เพื่อรักษาตลาดและมาตรฐานสินค้า

ดังนั้น ดีป้าจึงเห็นถึงความสำคัญในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เช่น บิ๊กดาต้า และปัญญาประดิษฐ์ (IoT) ในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและคุณภาพทุเรียน ตั้งแต่การปลูก การเก็บเกี่ยว ไปจนถึงการส่งออก ใช้ดิจิทัลแพลตฟอร์มเพื่อการจดบันทึกข้อมูลและติดตามย้อนกลับการเพาะปลูก โดยเพิ่มพื้นที่ปลูกทุเรียนคุณภาพสูง จำนวน 6,100 ครัวเรือน ภายใน 2 ปี ด้วยงบประมาณ 90 ล้านบาท (ปี 2568-69)

โดยนำร่องใน 23 จังหวัด เช่น ระยอง จันทบุรี ตราด และปราจีนบุรี รวมถึงพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ ภาคเหนือ และภาคตะวันตก สำหรับเกษตรกรกว่า 12,000 ราย ขยายพื้นที่ปลูกทุเรียนที่ได้รับมาตรฐาน GAP หรือมาตรฐานเพื่อการส่งออก จากเดิมที่ครอบคลุมเพียง 10% ของพื้นที่ทั้งหมด (ประมาณ 70,000 ไร่) สนับสนุนให้เกิดแพลตฟอร์มกลางเพื่อการเกษตรของประเทศ และมีแผนลดขั้นตอนการขอมาตรฐาน เพื่อนำแพลตฟอร์มดิจิทัลมาใช้ในการตรวจสอบย้อนกลับและจัดการข้อมูลการผลิตอย่างสะดวก อีกทั้งขยายตลาดใหม่ไปยังตะวันออกกลาง โดยเฉพาะสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) และสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีความต้องการเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มชาวเอเชียที่อาศัยอยู่

ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า
"แพลตฟอร์มที่นำมาใช้พัฒนาโดยสตาร์ทอัปไทย ซึ่งผ่านการขึ้นทะเบียนบนบัญชีบริการดิจิทัลและได้รับตราสัญลักษณ์มาตรฐาน dSURE โดยเปิดโอกาสให้เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนเข้าร่วมโครงการโดยไม่มีค่าใช้จ่าย เพื่อส่งเสริมมาตรฐานและความปลอดภัยในวงการเกษตรไทย ทั้งนี้ เกษตรกรที่จะเข้าร่วมต้องขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร ป้องกันปัญหาการสวมสิทธิ ซึ่งโครงการนี้ตั้งเป้าให้ไทยขึ้นเป็นผู้นำส่งออกทุเรียนอันดับ 1 ของโลก หากประสบความสำเร็จจะเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับคุณภาพ และความน่าเชื่อถือของทุเรียนไทยในตลาดโลก" ผศ.ดร.ณัฐพล กล่าว

สำหรับเกษตรกรชาวสวนทุเรียนที่สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการ 1 ตำบล 1 ดิจิทัล (OTOD ทุเรียนดิจิทัล) สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในทุกช่องทางการสื่อสารของดีป้า ไม่ว่าจะเป็น Facebook Page: depa Thailand และ Line OA: depathailand โดยเปิดรับสมัครตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ร่วมกันยกระดับภาคเกษตรกรรมไทยด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อเพิ่มคุณค่าผลผลิตทุเรียนไทยให้มีมาตรฐาน ปลอดภัยต่อการบริโภคตามหลักสากล

โครงการ OTOD ทุเรียนดิจิทัล

โครงการ OTOD ทุเรียนดิจิทัล

โครงการ OTOD ทุเรียนดิจิทัล


กำลังโหลดความคิดเห็น