เลี่ยงซ้ำซ้อน! ไฟเขียว 90 ล้านบาท ทำหลังบ้าน ระบบเตือนภัยฉุกเฉิน (Cell Broadcast) อัปเกรด ส่งข้อความได้ยาวสะใจ 1,600 ตัวอักษร ครอบคลุมทุกมุมประเทศ
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการจัดทำระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินผ่านเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Cell Broadcast) ว่า รัฐบาลได้อนุมัติงบให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ตั้งต้นทั้งหมด 400 ล้านบาท เพื่อนำมาพัฒนาและปรับใช้ระบบแจ้งเตือนภัยแบบอัตโนมัติทั่วประเทศ ขณะที่กระทรวงดีอีจะใช้งบประมาณ 90 ล้านบาท ในงานดูแลระบบหลังบ้านและเชื่อมต่อระบบกับคลาวด์กลาง เพื่อหลีกเลี่ยงการซ้ำซ้อนกับงบประมาณที่จัดสรรให้ ปภ.
โดยระบบที่พัฒนาขึ้นเป็นเทคโนโลยีส่งข้อความแจ้งเตือนภัยแบบอัตโนมัติไปยังประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ที่กำหนดอย่างครอบคลุม ซึ่งสามารถส่งข้อความที่ยาวได้ถึง 1,600 ตัวอักษร เทียบกับ SMS ที่ส่งได้ 70 ตัวอักษร เพื่อให้การแจ้งเตือนถึงประชาชนทันทีเมื่อเกิดภัยพิบัติ เช่น น้ำท่วม ไฟป่า หรือแผ่นดินไหว โดยขณะนี้ภาคเอกชน เช่น AIS และ TRUE ได้พัฒนาระบบเชื่อมต่อเสร็จเรียบร้อย พร้อมที่จะสนับสนุน ซึ่งได้เจรจาขอให้บริการนี้เข้าถึงได้ฟรี เพื่อให้ประชาชนทุกคนสามารถรับข้อมูลการแจ้งเตือนภัยได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
การกำหนดระดับความรุนแรงในการแจ้งเตือน ตั้งแต่ระดับ 1 (ภัยเล็กน้อย) ไปจนถึงระดับ 5 (ภัยร้ายแรงสูงสุด) ที่จำเป็นต้องอพยพทันที การกำหนดระดับนี้ทำให้ประชาชนสามารถเข้าใจสถานการณ์ได้ง่ายขึ้นและสามารถเตรียมตัวได้ตามระดับความรุนแรงของเหตุการณ์ ซึ่งหน่วยงานของกระทรวงมหาดไทย จะเป็นผู้ประกาศสถานการณ์ตามระดับความรุนแรงที่เกิดขึ้น เช่น น้ำท่วม พายุไต้ฝุ่น หรือแผ่นดินไหว โดยบอร์ดบริหารจะทำการตัดสินใจร่วมกับภาครัฐในการประกาศเตือนภัยระดับสูงสุด เพื่อให้การเตือนภัยมีประสิทธิภาพและเข้าถึงประชาชนอย่างรวดเร็ว เช่น กรณีเขื่อนระบายน้ำที่อาจส่งผลให้พื้นที่ลุ่มต่ำท้ายเขื่อนเกิดน้ำท่วม ระบบจะส่งข้อความเตือนภัยไปยังประชาชนในพื้นที่นั้นทันที หรือกรณีพายุเข้า ระบบจะสามารถแจ้งเตือนให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงอพยพล่วงหน้าเพื่อความปลอดภัย
ส่วนกรณีที่ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT ขออนุมัติกรอบวงเงิน 261 ล้านบาท จาก กสทช. เพื่อจัดทำระบบ Cell Broadcast สูงกว่าผู้ให้บริการรายอื่นถึง 20 เท่า ทั้งที่ NT จะมีจำนวนผู้ใช้บริการและสถานีฐานน้อยกว่า โดย กสทช. ได้สั่งให้ทบทวนงบประมาณให้เหมาะสม ซึ่งอาจทำให้กระบวนการพิจารณาล่าช้า ส่งผลกระทบให้ลูกค้า NT อาจไม่ได้รับการแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินทันเวลา ตามที่รัฐบาลวางแผนให้เริ่มใช้กลางปี 2568 รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ไม่ทราบรายละเอียดส่วนนี้
ขณะที่ พ.อ.สรรพชัยย์ หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT กล่าวว่า ได้ส่งหนังสือชี้แจงไปยัง กสทช. แล้วว่า ค่าใช้จ่ายของ NT แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ 1.ซอฟต์แวร์ที่ไม่ขึ้นอยู่กับจำนวนเสา เป็นส่วนใหญ่ของค่าใช้จ่าย มีราคามาตรฐานเท่ากันในทุกผู้ให้บริการ และ 2.ซอฟต์แวร์ไลเซนส์ต่อเสา ซึ่ง NT มีน้อยมาก ไม่สามารถนำมารวมกันแล้วนำไปหารด้วยจำนวนเสาได้ ดังนั้น การสั่งซื้อน้อยเพียง 5,000 ไลเซนส์ ทำให้ราคาต่อหน่วยสูงกว่าเมื่อเทียบกับผู้ให้บริการรายอื่นที่สั่งซื้อถึง 20,000 ไลเซนส์
หาก กสทช. ต้องการให้ราคาเท่ากับผู้ให้บริการรายอื่น NT จำเป็นจะต้องลดงบประมาณลงในส่วนอื่นๆ ซึ่งทำได้ยาก เนื่องจากซอฟต์แวร์พื้นฐานหรือ Cell Broadcast Center (CBC) ที่ต้องดูแลโดยผู้ให้บริการ เพื่อนำเนื้อหาข้อความจาก CBC ส่งไปสถานีฐานตามพื้นที่ที่กำหนด แจ้งเตือนเข้าไปยังมือถือทุกเครื่องที่อยู่บริเวณนั้น มีสัดส่วนถึง 90% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด ขณะที่ไลเซนส์คิดเป็นเพียง 10% ดังนั้น การปรับลดในสัดส่วน 90% จะส่งผลให้ไม่สามารถจัดซื้อได้ แบบนั้น กสทช. ก็ไม่ต้องอนุมัติ แต่จะกฎระเบียบ เพราะมีการกำหนดไว้ชัดเจนว่า จะต้องมีระบบ CBC โดย กสทช. เป็นผู้รับผิดชอบ
"หากไม่ได้รับอนุมัติวงเงินสนับสนุน NT ก็ไม่สามารถดำเนินการได้ ลูกค้าของ NT ก็จะได้รับผลกระทบโดยตรง เราคงไม่ลงทุนเอง เป็นหน้าที่ของ กสทช. ที่ต้องดำเนินการ" พ.อ.สรรพชัยย์ กล่าว