xs
xsm
sm
md
lg

ดีป้าเผยเชื่อมั่นอุตฯ ดิจิทัลเซ! เอกชนกุมขมับ ร้องรัฐหนุนเข้าถึงทุน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ดีป้าเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมดิจิทัล ไตรมาส 3/2567 ร่วง! ผู้ประกอบการกังวลหนัก สะท้อนบาทแข็ง-งบรัฐช้า ฉุดอุตสาหกรรมชะลอตัว จี้รัฐเร่งแก้เกมด่วน สนับสนุนทุน-ปรับนโยบายการค้าเสรีดันไทยสู่ตลาดโลก

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือดีป้า เผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมดิจิทัล (Digital Industry Sentiment Index) ไตรมาส 3/2567 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นยังคงอยู่ในระดับ 52.0 ซึ่งลดลงเล็กน้อยจาก 52.4 ในไตรมาสก่อน แต่ยังอยู่ในระดับเชื่อมั่น โดยสำรวจใน 5 กลุ่มอุตสาหกรรมย่อย ประกอบด้วย กลุ่มอุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะ (Hardware and Smart Device) กลุ่มอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ (Software) กลุ่มอุตสาหกรรมบริการด้านดิจิทัล (Digital Service) กลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ (Digital Content) และกลุ่มอุตสาหกรรมโทรคมนาคม (Telecommunication) โดยปัจจัยด้านผลประกอบการ ปริมาณการผลิต คำสั่งซื้อ การจ้างงาน และการลงทุนปรับตัวลดลง ขณะที่ต้นทุนการประกอบการเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน ซึ่งชี้ให้เห็นถึงความท้าทายของอุตสาหกรรมดิจิทัลในช่วงนี้

ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ดีป้า เปิดเผยว่า ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมดิจิทัลกังวลเศรษฐกิจชะลอตัว สาเหตุจากหนี้ครัวเรือนและดอกเบี้ยสูง กระทบการบริโภคและสินเชื่อ อีกทั้งยังเผชิญกับปัญหาอุทกภัยในภาคกลางและภาคเหนือ ซึ่งกดดันความเชื่อมั่นผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนผ่านรัฐบาลที่สร้างเสถียรภาพทางการเมืองได้ช่วยฟื้นฟูความเชื่อมั่นผู้ประกอบการและนักลงทุน ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวต่อเนื่องยังช่วยพยุงเศรษฐกิจให้ไม่ทรุดตัวไปมากนัก ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมดิจิทัลยังอยู่ในระดับเชื่อมั่น หากแยกตามกลุ่มอุตสาหกรรม พบว่า 3 กลุ่มดัชนีสูงกว่า 50 ได้แก่ ฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะที่ 52.2 ซอฟต์แวร์ที่ 52.6 และบริการดิจิทัลที่ 54.1 ส่วน 2 กลุ่มที่ต่ำกว่า 50 คือ ดิจิทัลคอนเทนต์ที่ 47.7 และโทรคมนาคมที่ 49.5

ผศ.ดร.ณัฐพล กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมดิจิทัล ไตรมาส 3/2567 ปรับตัวลดลงจากไตรมาส 2 แต่ยังคงอยู่ในระดับเชื่อมั่น สาเหตุจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว สร้างความกังวลแก่ผู้ประกอบการ การบริโภคภาคเอกชนลดลง อัตราดอกเบี้ยที่สูงกระทบการปล่อยสินเชื่อ รวมถึงเหตุอุทกภัย กลับกันปัจจัยบวกคือ เสถียรภาพทางการเมือง และตัวเลขภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวต่อเนื่อง ระบุผู้ประกอบการคาดหวังให้ภาครัฐปรับแนวทางการส่งเสริมอุตสาหกรรมดิจิทัล ผลักดันผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ออกมาตรการสนับสนุนสินค้าและบริการดิจิทัลของผู้ประกอบการไทยภายในประเทศ และเพิ่มขีดความสามารถสู่ตลาดโลก ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยมีส่วนร่วมในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และควรตรวจสอบผู้ประกอบการต่างชาติที่ทำธุรกิจโดยไม่เสียภาษี


นอกจากนี้ ผศ.ดร.ณัฐพล ยังระบุว่า 

◉ งบรัฐล่าช้า-ค่าบาทแข็ง ฉุดส่งออก

- การลงทุนในภาคอุตสาหกรรมดิจิทัลไทยมีความล่าช้าจากการใช้งบประมาณภาครัฐที่ยังไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง ทำให้ภาคเอกชนและผู้ประกอบการขาดความมั่นใจในการใช้เงินและการลงทุนอย่างเต็มที่ในภาคอุตสาหกรรมนี้
- ค่าเงินบาทที่แข็งค่าเป็นอุปสรรคสำคัญในการส่งออก ส่งผลให้ผู้ประกอบการไทยในอุตสาหกรรมดิจิทัลสูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก

◉ การค้าสหรัฐฯ-จีน บีบไทยเลือกข้าง

- การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ผู้ประกอบการในไทยมีความกังวลว่านโยบาย "อเมริกันเฟิร์ส" กลับมาใช้อีกครั้ง อาจส่งผลให้เกิดการกีดกันทางการค้าผ่านมาตรการภาษีที่เข้มงวด ซึ่งจะมีผลกระทบอย่างชัดเจนต่อผู้ประกอบการไทยที่พึ่งพาตลาดสหรัฐฯ และจีน
- ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างสหรัฐฯ และจีนทำให้ไทยซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางในภูมิภาคเอเชีย ต้องเผชิญกับความกดดันในการเลือกข้างทางการค้าอย่างหนัก เพื่อรักษาความเป็นกลางไทยอาจต้องการนโยบายที่สนับสนุนการค้าเสรี เพื่อรักษาความสัมพันธ์กับทั้งสองประเทศ

◉ เจอจับตา ทุนจีนแห่ปั้นไทยฐานผลิต

- ด้วยที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ ไทยมีข้อได้เปรียบในด้านโลจิสติกส์ที่ดีสำหรับการเป็นศูนย์กลางการลงทุนในภูมิภาค รวมถึงโอกาสที่นักลงทุนจากจีนและประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ไต้หวันและเกาหลีใต้ จะเข้ามาใช้ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อหลีกเลี่ยงมาตรการกีดกันทางการค้า
- แต่อย่างไรก็ตาม ไทยต้องระวังการถูกมองว่าเป็นฐานการผลิตของประเทศจีนในสายตาของประเทศคู่แข่งทางการค้า เช่น สหรัฐฯ ซึ่งอาจก่อให้เกิดการคว่ำบาตรหรือมาตรการภาษีที่ไม่พึงประสงค์ได้

◉ เปิดค้าเสรี ดันไทยแข่งตลาดโลก

- ไทยควรคงความเป็นกลางในการค้า โดยสนับสนุนการค้าเสรีและการแข่งขันที่เป็นธรรมในทุกภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมดิจิทัล ซึ่งไทยยังต้องพัฒนาความสามารถในด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม
- การเปิดรับการค้าเสรี การส่งเสริม Business Matching ระหว่างผู้ประกอบการท้องถิ่นและนักลงทุนต่างชาติ การพัฒนา Local Digital Industry เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย รวมถึงการกำหนดนโยบายที่สนับสนุนการสร้างพันธมิตรทางการค้าในหลายมิติ

◉ รัฐเร่งสปีด เพิ่มขีดความสามารถ

- รัฐบาลไทยจำเป็นต้องปรับนโยบายให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะการจัดทำยุทธศาสตร์ทางการทูต การค้าระหว่างประเทศ และความสัมพันธ์เชิงภูมิรัฐศาสตร์ให้เหมาะสม เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน
- รัฐบาลต้องเตรียมโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีดิจิทัลที่เข้มแข็ง รองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมดิจิทัลและเทคโนโลยี รวมถึงการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อให้ไทยยังคงความสามารถในการแข่งขันและเป็นมิตรกับประเทศคู่ค้าได้ในระยะยาว

ดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมดิจิทัล (Digital Industry Sentiment Index) ไตรมาส 3/2567

ดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมดิจิทัล (Digital Industry Sentiment Index) ไตรมาส 3/2567


กำลังโหลดความคิดเห็น