บิ๊กดีลแห่งอวกาศ! NT x OneWeb พลิกวงการบรอดแบนด์ไทย-ครองอาเซียน ตั้งเป้าโกยรายได้ 200 ล้านในปีแรก ดันขึ้นแท่นศูนย์กลางอวกาศ
เมื่อวันที่ 5 พ.ย.67 พ.อ.สรรพชัยย์ หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT กล่าวในงานประชุมและสัมมนา APSCC 2024 Satellite Conference & Exhibition (APSCC 2024) เปิดเผยถึงความร่วมมือกับ OneWeb ผู้ให้บริการดาวเทียมวงโคจรต่ำ (LEO) เพื่อขยายการเข้าถึงบริการบรอดแบนด์ในประเทศไทยและต่างประเทศ โดยการให้บริการนี้จะเริ่มทดลองในช่วงต้น เดือน ธ.ค.67 และคาดว่าจะเริ่มให้บริการเชิงพาณิชย์ในเดือน ม.ค.68
ทั้งนี้ ตั้งเป้ารายได้จากการให้บริการนี้สูงถึง 200 ล้านบาทภายในปีแรก และคาดว่าจะเติบโตเป็น 600 ล้านบาทภายใน 3 ปี แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ รายได้จากการให้บริการสถานีภาคพื้นดิน และรายได้จากการขายความจุอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียม ซึ่ง NT มีแผนจะขายบริการเหล่านี้ในรูปแบบขายส่ง ให้ผู้ให้บริการรายอื่นด้วย ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ โดยมีการวางแผนขยายตลาดไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เช่น พม่า ลาว และกัมพูชา ซึ่งพบว่ามีความต้องการใช้งานบรอดแบนด์ในพื้นที่ห่างไกลสูงขึ้นมาก นอกจากนี้ NT ได้ตั้งเป้าขยายการให้บริการในไทยเต็มรูปแบบ เมื่อได้รับการอนุมัติด้านกฎหมายและการกำกับดูแลจาก คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)
◉ เปิดโอกาสใหม่ในตลาดบรอดแบนด์
เทคโนโลยีดาวเทียม LEO จะเข้ามาเสริมศักยภาพการให้บริการของ NT ทำให้สามารถส่งสัญญาณอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ที่เข้าถึงยาก เช่น พื้นที่ห่างไกล พื้นที่ที่เกิดภัยพิบัติ หรือพื้นที่ที่สัญญาณอินเทอร์เน็ตมีปัญหา โดยคาดว่าดาวเทียม LEO จะช่วยให้บริการบรอดแบนด์มีประสิทธิภาพสูงขึ้น และลดต้นทุนการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตในระยะยาว นอกจากนี้ ยังสามารถรองรับการใช้งาน IoT (Internet of Things) เช่น เซ็นเซอร์สำหรับการเกษตรอัจฉริยะและการแจ้งเตือนภัยพิบัติในอนาคต
พ.อ.สรรพชัยย์ กล่าวว่า การพัฒนาข้อมูลภายในประเทศ หรือ Localization เพื่อรักษาข้อมูลที่สำคัญให้อยู่ในไทย ขณะนี้ NT ร่วมมือกับสถาบันวิจัยและมหาวิทยาลัยในประเทศในการพัฒนาแอปพลิเคชันต่างๆ ที่ใช้ข้อมูลจากดาวเทียม LEO เช่น การติดตามการเกษตร การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และการจัดการภัยพิบัติ เพื่อให้ข้อมูลเหล่านี้เป็นทรัพยากรที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศในระยะยาว
◉ เตรียมแผนรองรับการเติบโต
ทั้งนี้ NT ได้จัดตั้งสถานีภาคพื้นดิน (เกตเวย์) จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ กรุงเทพฯ ศรีราชา และอุบลราชธานี และมีแผนขยายสถานีเพิ่มเติมในอนาคตหากมีความต้องการสูงขึ้น โดย NT มีแผนเตรียมฝึกอบรมบุคลากรเพิ่มเติมเพื่อเสริมทักษะในการใช้เทคโนโลยีอวกาศ ซึ่งรวมถึงความเชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์ข้อมูลและการพัฒนาแอปพลิเคชันที่ใช้ประโยชน์จากดาวเทียม
การร่วมมือกับ OneWeb ครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการวางรากฐานเศรษฐกิจอวกาศในประเทศไทย โดย NT ตั้งเป้าให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีอวกาศและบรอดแบนด์ในภูมิภาคอาเซียน การลงทุนและการพัฒนาบริการบรอดแบนด์ผ่านดาวเทียมนี้ จะช่วยเสริมศักยภาพให้ไทยสามารถแข่งขันในเวทีระดับโลกได้
◉ เปิดตัวเกตเวย์รับการเชื่อมต่อ
ด้าน Mr.Bala Balamurali, Vice President, Southeast and East Asia, Eutelsat OneWeb กล่าวว่า การเปิดตัวเกตเวย์ในไทย ซึ่งจะช่วยให้ดาวเทียม LEO ของ OneWeb เชื่อมต่อกับพื้นที่ต่างๆ ทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ดียิ่งขึ้น เกตเวย์นี้ถือเป็น "ศูนย์เชื่อมต่อเครือข่ายดาวเทียม" ซึ่งจะนำสัญญาณลงมายังพื้นดินเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้งาน OneWeb ปัจจุบันมีดาวเทียมที่พร้อมให้บริการทั้งหมด 634 ดวง และเพิ่งเปิดตัวดาวเทียมอีก 20 ดวงที่คาดว่า จะเริ่มปฏิบัติการเต็มรูปแบบในสิ้นเดือน ม.ค.68
เนื่องจากดาวเทียมต้องลงจอดสัญญาณที่เกตเวย์ท้องถิ่นเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ ปัจจัยนี้ทำให้เกตเวย์ในไทยมีความสำคัญมาก ไม่เพียงแค่สำหรับประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมตลาด CLMV (กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม) และขยายไปถึงไต้หวัน ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซียตอนเหนือ มาเลเซีย และสิงคโปร์ การสร้างและการได้รับใบอนุญาตที่จำเป็นทั้งหมดเสร็จสมบูรณ์แล้ว ทำให้การเปิดตัวบริการนี้พร้อมดำเนินการในภูมิภาค
◉ เตรียมขยายบริการเชิงพาณิชย์
OneWeb จะเริ่มให้บริการในตลาดนอกไทยก่อนตามที่กล่าว ภายใต้การอนุมัติด้านกฎระเบียบขั้นสุดท้าย คาดหวังว่าภายใน 3 เดือน OneWeb จะเริ่มให้บริการในประเทศไทยได้เช่นกัน ซึ่งเป็นบริการที่ NT จะเป็นพันธมิตรด้านการจัดจำหน่ายในระดับภูมิภาค
◉ ความแตกต่างของ OneWeb และ Starlink
เพื่อชี้แจงให้เข้าใจชัดเจนเกี่ยวกับความแตกต่างของ OneWeb และ Starlink Mr.Bala กล่าวว่า Starlink เน้นการให้บริการแก่ลูกค้าปลายทางโดยตรง โดยแข่งกับผู้ให้บริการท้องถิ่นในหลายประเทศ เช่น NT, AIS หรือไทยคม ขณะที่ OneWeb เน้นการสร้างพันธมิตรกับผู้ให้บริการท้องถิ่น อย่าง NT ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการลงทุนภายในประเทศ โดย OneWeb ได้นำเงินลงทุนเข้ามาหลายล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในประเทศไทย การสร้างความร่วมมือทางธุรกิจนี้เป็นการเสริมศักยภาพของผู้ให้บริการในท้องถิ่นผ่านการเพิ่มผลิตภัณฑ์ใหม่โดยไม่เป็นการแย่งธุรกิจจากผู้ให้บริการรายเดิม
◉ ตอบโจทย์การใช้งานหลายประเภท
Mr.Bala ระบุว่า บริการดาวเทียม LEO เหมาะสำหรับการเชื่อมต่อในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งไม่สามารถติดตั้งเสาสัญญาณได้ เนื่องจากอาจมีประชากรไม่เพียงพอสำหรับลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน NT สามารถนำสถานีเชื่อมต่อของ OneWeb ไปติดตั้งในพื้นที่ดังกล่าวเพื่อให้ชุมชนสามารถเข้าถึงสัญญาณได้ อีกทั้งยังให้ความสำคัญกับตลาดการบินและเดินเรือ โดยคาดว่า ธุรกิจการเชื่อมต่อบนเครื่องบินจะเติบโตเป็น 2 เท่าภายในปี 2575 และมีการคาดการณ์ว่าบริการในภาคการทหารจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากต้องการโครงข่ายที่ไม่พึ่งพาสัญญาณภาคพื้นดิน