xs
xsm
sm
md
lg

ประเสริฐสั่ง สกมช.คุมข้อมูลรัฐรั่วไหล เสริมแกร่งไซเบอร์รับทุกภัยคุกคาม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ประเสริฐ สั่ง สกมช.เสริมเกราะป้องกันข้อมูลรัฐรั่วไหล ยกระดับมาตรฐานความมั่นคงไซเบอร์ ตอบสนองภัยคุกคามทุกรูปแบบ

เมื่อวันที่ 30 ต.ค.67 นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (กมช.) ครั้งที่ 3/2567 ได้สั่งการสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ เร่งขับเคลื่อนแผนเสริมความมั่นคงไซเบอร์ให้หน่วยงานรัฐ เน้นป้องกันข้อมูลส่วนบุคคลจากการรั่วไหล วางมาตรการตรวจสอบ-ประเมินผลความปลอดภัยระบบอย่างสม่ำเสมอ ควบคุมมาตรฐานความปลอดภัย เพื่อป้องกันภัยร้ายทางไซเบอร์ และบังคับใช้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ไซเบอร์ รวมถึงกฎหมาย PDPA อย่างเคร่งครัดกับบริษัทภายนอกที่รับงานจากรัฐ พร้อมเร่งอบรมบุคลากรผู้พัฒนาในหน่วยงานเกี่ยวกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ พร้อมแนะนำการนำหลัก Cloud Security Standards และ Cloud First Policy มาใช้เสริมความปลอดภัยดิจิทัล ร่วมติดตามรายงานเหตุการณ์ภัยคุกคามไซเบอร์ที่อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ

พล.อ.ต.อมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) ในฐานะกรรมการและเลขานุการการประชุม กล่าวเพิ่มเติมถึงการประชุมในวันนี้ว่า ที่ประชุมมอบหมายให้นำรายงานสรุปผลการดำเนินงานด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ที่มีผลกระทบสำคัญในปี 2567 เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป และรับทราบการเตรียมความพร้อมของระบบสารสนเทศเข้าสู่ยุคควอนตัม โดยสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ นอกจากนี้ NCSA ยังได้รับรางวัลเลิศรัฐ ประจำปีงบประมาณ 2567 ประเภทนวัตกรรมการบริการภาครัฐ กับผลงาน "Proactive Protection X Total Defense by NCSA" ตอกย้ำความก้าวหน้าในการเสริมความมั่นคงไซเบอร์

"สั่งการให้ สกมช.ผนึกกำลังกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เสริมแผนป้องกันข้อมูลส่วนบุคคลไม่ให้รั่วไหล ปิดช่องโหว่การทุจริตและหลอกลวงประชาชน เช่น กรณีหลอกลวงเรื่องเงินบำนาญ การแจ้งคืนค่าประกันมิเตอร์ไฟฟ้า และการกระทำอื่นๆ ที่อาจสร้างความเสียหายอย่างกว้างขวาง โดยเร่งกำหนดมาตรการป้องกันด้านความปลอดภัยของข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ และได้สั่งการให้กำกับดูแลแพลตฟอร์มออนไลน์ที่มีพฤติกรรมเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จ หรือนำข้อมูลคอมพิวเตอร์บิดเบือนเข้าสู่ระบบ โดยเฉพาะกรณีที่กระทบต่อความมั่นคงของประเทศ เศรษฐกิจ และความปลอดภัยของประชาชน ถือเป็นก้าวสำคัญในการสร้างแนวทางป้องกันภัยไซเบอร์ในอนาคต ผ่านความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อผลักดันความมั่นคงไซเบอร์ของประเทศอย่างเป็นรูปธรรม" นายประเสริฐ กล่าว






กำลังโหลดความคิดเห็น