Gogolook ผู้ให้บริการ ‘Whoscall’ ตั้งสำนักงานใหญ่ในไทย ดำเนินการคู่ไต้หวัน ใช้ไทยเป็นศูนย์กลางบุกตลาดทั่วโลก พร้อมเพิ่มช่องทางหารายได้จากบริการฝั่งองค์กรธุรกิจที่ต้องร่วมกันปกป้องผู้บริโภคจากมิจฉาชีพ เผยคนไทยดาวน์โหลดใช้งานกว่า 25 ล้านครั้ง
นายเจฟฟ์ กัว ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทโกโกลุก กล่าวถึงการตั้งสำนักงานใหญ่แห่งที่ 2 ในประเทศไทยว่า มีขึ้นบนจุดประสงค์ที่จะใช้เป็นศูนย์กลางในการทำตลาดบริการในภูมิภาค รวมถึงการพัฒนา และขยายบริการไปทั่วโลก
“สำนักงานในไต้หวันส่วนใหญ่แล้วจะเป็นกลุ่มนักพัฒนา และทีมวิศวกรที่อยู่เบื้องหลังการพัฒนาแอป ขณะที่สำนักงานในไทยจะเปิดรับทีมงานที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการขยายไปสู่ตลาดโลกของโกโกลุก”
นายแมนวู จู ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โกโกลุก ประเทศไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ทางโกโกลุก วางแผนที่จะใช้เงินลงทุนในสัดส่วน 10% ของงบประมาณมาใช้ในประเทศไทย ซึ่งนับว่าเป็นการลงทุนระดับสูงที่สุดในกลุ่มประเทศที่ทำตลาดอยู่ เนื่องจากในตลาดไทยถือว่ามีผู้ใช้งานบริการเป็นลำดับต้นๆ ของโลก รองจากในไต้หวันที่เป็นประเทศบ้านเกิดในการพัฒนา
โดยเป้าหมายหลักในการเข้าไปให้บริการของ Gogolook ในแต่ละประเทศ จะครอบคลุม 4 ส่วนหลักๆ คือ เข้าไปให้ความรู้ สร้างการตระหนักรู้ถึงรูปแบบภัยจากมิจฉาชีพให้แก่ชุมชนในแต่ละท้องถิ่น พร้อมทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐในการยกระดับป้องกันมิจฉาชีพ
พร้อมกับมุ่งเน้นในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่จะมาช่วยปกป้องผู้ใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นในฝั่งของผู้บริโภคทั่วไป รวมถึงการขายธุรกิจใหม่ไปในกลุ่มองค์กร ซึ่งนอกจากช่วยสร้างรายได้แล้ว จะช่วยเสริมการเฝ้าระวังการหลอกลวงที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อแบรนด์ธุรกิจด้วย
ขณะที่สัดส่วนรายได้จากการให้บริการของ Gogolook ในปัจจุบันกว่า 86% จะมาจากบริการแจ้งเตือน และป้องกันการหลอกลวงทางโทรศัพท์ อย่าง Whoscall Scamadviser และ Watchman ซึ่ง 2 บริการหลังจะเป็นในฝั่งของภาคธุรกิจที่มีสัดส่วนอยู่ราว 4% จากบริการทั้งหมด ส่วนรายได้อีก 14% มาจากการให้บริการ Fintech ในไต้หวัน
ทั้งนี้ บริการ Whoscal ที่ทั่วโลกมียอดดาวน์โหลดมากกว่า 100 ล้านครั้ง มีฐานข้อมูลเลขหมายกว่า 2.6 พันล้านเลขหมาย และมีการแจ้งเตือนไปแล้วกว่า 2.5 หมื่นล้านครั้ง ในจำนวนนี้กว่า 25 ล้านดาวน์โหลดเกิดขึ้นในประเทศไทย โดยกว่า 4% มีการสมัครสมาชิกแบบเสียค่าบริการ ซึ่งนับเป็นสัดส่วนการสมัครที่มีนัยสำคัญต่อการให้บริการแล้ว
พร้อมกันนี้ ยังเตรียมที่จะเพิ่มฟีเจอร์ใหม่ ช่วยให้ผู้ใช้ค้นหาข้อมูลว่า บัญชีที่ใช้งานมีรหัสหลุดออกสู่สาธารณะหรือไม่ รวมถึงเครื่องมือตรวจสอบลิงก์เว็บไซต์ว่าปลอดภัยหรือไม่ และแหล่งรวบรวมข้อมูลแจ้งเตือนภัยจากมิจฉาชีพ
ส่วนในฝั่งของภาคธุรกิจ จะมีบริการยืนยันเลขหมาย หรือช่องทางติดต่อของแบรนด์ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือระหว่างที่ติดต่อผู้บริโภค รวมไปถึงการนำเสนอเครื่องมือเพิ่มเติมที่จะช่วยให้แบรนด์สามารถเฝ้าระวังการแอบอ้างชื่อจากมิจฉาชีพในการปลอมแปลงเลขหมาย หรือเว็บไซต์ ที่จะทำการแจ้งเตือนไปยังองค์กรธุรกิจที่เกี่ยวข้องเพื่อหาทางป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้น