xs
xsm
sm
md
lg

เจาะลึก "กล้องถ่ายรูปสีทอง" ในพระหัตถ์เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รู้จัก “กล้องถ่ายรูปสีทอง” ในพระหัตถ์สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่มาของชุดภาพถ่ายขบวนพยุหยาตราทางชลมารคฝีพระหัตถ์

กล้องสีทองนี้คือ Leica M10-P รุ่น Royal Limited Edition ซึ่งมีการประมูลไปทั้งหมดจำนวน 21 ตัวในปี 2565 จนสามารถระดมทุนได้เบาๆ 214 ล้านบาท และถูกนำส่ง 22 มูลนิธิและองค์กรการกุศลหลักทั่วไทย

กล้อง Leica M 10-P รุ่นบรมราชาภิเษกนี้มีจำกัดเพียง 30 ชุดทั่วโลกเท่านั้น เป็นความคิดริเริ่มของ "ฐาปน สิริวัฒนภักดี" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด บริษัทเครื่องดื่มที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย และอดีตนายกสมาคมการถ่ายภาพแห่งประเทศไทย


กล้อง Limited Edition นี้จัดทำขึ้นทั้งหมด 2 แบบ ได้แก่ แบบชุดสองเลนส์และชุดหนึ่งเลนส์ โดยรุ่นในพระหัตถ์เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีนั้นเป็นแบบชุดสองเลนส์ ประกอบด้วยกล้องดิจิทัล Leica M 10-P ชุบทองคำ หุ้มด้วยหนังจระเข้สีเหลือง พร้อมเลนส์​ APO Summicron-M1:2/50 ASPH และเลนส์​ Summilux M1:1.4/35 ASPH ซึ่งมีจำนวน 10 ชุดบนโลก

ขณะที่แบบชุดหนึ่งเลนส์ นั้นประกอบด้วยกล้องดิจิทัล Leica M10-P ชุบทองคำ หุ้มด้วยหนังจระเข้สีเขียว พร้อมเลนส์​ Summilux M1:1.4/35 ASPH จำนวน 20 ชุด


ความพิเศษของกล้อง Leica M 10-P รุ่นบรมราชาภิเษก คือ ตัวกล้องและเลนส์เป็นชุบทองคำแท้แบบไม่มันวาว สลักตราสัญลักษณ์พระราชพิธีบรมราชาภิเษก หุ้มด้วยหนังจระเข้ที่แต่ละชิ้นมีความเฉพาะตัวสูง และเป็นครั้งแรกของเทคนิคการหุ้มหนังที่ต้องผ่านกระบวนการทดสอบหนังไม่ให้ยืดหดหรือแตกร้าว เพื่อให้ตรงตามมาตรฐานของ Leica


คุณค่าของกล้องนี้ยังอยู่ที่การใช้เลนส์ APO50 ที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นเลนส์​ 50 mm. ที่ดีที่สุดในโลก โดยมีหมายเลขกำกับ 1/10 ถึง 10/10 และ 1/20 ถึง 20/20

ข้อมูลจากไทยเบฟ ระบุว่า การจัดทำกล้อง Leica M 10-P รุ่นบรมราชาภิเษกนี้เริ่มต้นวางแผนเตรียมการกับ Leica ประเทศเยอรมนีตั้งแต่ปี 2560 จนในปี 2562 รัฐบาลไทยได้กำหนดตราสัญลักษณ์และงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเรียบร้อย จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้บริษัท ไทยเบฟ ได้รับอนุญาตนำตราสัญลักษณ์มาประดิษฐานบนตัวกล้อง พร้อมกันกับการเริ่มต้นลงรายละเอียดการจัดทำกล้อง และถึงแม้จะล่าช้าจากสถานการณ์โควิด-19 แต่กล้องทั้งหมดก็สำเร็จลุล่วงในปี 2565 จนกระทั่งเป็นตัวกล้องที่สมบูรณ์


กล้องถ่ายภาพรุ่นพิเศษนี้ ส่วนหนึ่งขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินี และพระบรมวงศานุวงศ์ตามลำดับ และอีกส่วนหนึ่งนำออกจำหน่ายเพื่อนำรายได้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยกำหนดราคาชุดสีเหลือง 1,500,000 บาท และชุดสีเขียว 1,000,000 บาท เพื่อสร้างประโยชน์สูงสุดให้สังคมไทย

หลังจากนำเงินรายได้จากการนี้ขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายตามวัตถุประสงค์ตั้งต้นเรียบร้อยแล้ว ไทยเบฟได้นำกล้องถ่ายภาพจำนวน 22 ชุด ประกอบด้วยกล้องสีเหลือง 4 ชุด และสีเขียว 18 ชุด มอบให้องค์กรการกุศล 22 องค์กรเพื่อร่วมจัดการประมูลขึ้นภายในงาน SX2022 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เมื่อวันศุกร์ที่ 30 กันยายน 2565 ผลปรากฏว่า นักธุรกิจชาวฮ่องกง “เทอเรนซ์ เชียง” เป็นผู้เสนอราคาสูงสุดในเวลานั้น โดยเสนอราคากล้อง 2 ตัวที่ 30 ล้านบาท ผ่านการประมูลรุ่นสีเหลืองราคา 25 ล้านบาท และรุ่นสีเขียวราคา 5 ล้านบาท


















กำลังโหลดความคิดเห็น