อาเซียนรวมพลังยกระดับภูมิภาค! สิงคโปร์นำทัพความร่วมมือใน SICW 2024 พัฒนาเทคโนโลยีและระบบความปลอดภัยไซเบอร์ ปิดช่องว่างดิจิทัล ผลักดันอาเซียนสู่ศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัลโลก
สิงคโปร์สร้างความประทับใจ ตอกย้ำบทบาทผู้นำด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ในภูมิภาคอาเซียน ปิดฉากงานใหญ่ Singapore International Cyber Week (SICW) 2024 และการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (ASEAN Ministerial Conference on Cybersecurity: AMCC) ระหว่างวันที่ 14-17 ต.ค.67 อย่างสมศักดิ์ศรี
ในโอกาสนี้ ดร.เกา กึมฮวน (H.E.Dr.Kao Kim Hourn) เลขาธิการสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN) คนปัจจุบัน ให้สัมภาษณ์พิเศษถึงกลยุทธ์และความร่วมมือของอาเซียน ที่มุ่งส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมของประเทศสมาชิก เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในเวทีระดับโลก ระบุว่า หนึ่งในกลไกหลัก คือ การประชุมระดับรัฐมนตรีด้านดิจิทัลของอาเซียน ซึ่งจัดขึ้นทุกปี โดยจะมีการประชุมในระดับรัฐมนตรีและระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส เพื่อหารือเกี่ยวกับนโยบายและแนวทางการพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรม และการจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นจากเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และเทคโนโลยีเกิดใหม่อื่นๆ
ประเด็นสำคัญที่หารือกันในที่ประชุมเหล่านี้ ได้แก่ การพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีอย่าง AI ที่มีผลกระทบต่อทุกภาคส่วน ตั้งแต่การศึกษา เกษตรกรรมอัจฉริยะ จนถึงภาคธุรกิจต่างๆ ซึ่งการประชุมในกลไกนี้มุ่งเน้นไปที่การวางแนวทางด้านจริยธรรม แนวปฏิบัติ และการกำกับดูแล AI
ทั้งนี้ อาเซียนไม่ได้จำกัดความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกเท่านั้น ยังทำงานร่วมกับพันธมิตรภายนอก เช่น จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ รวมถึงองค์กรระหว่างประเทศอื่นๆ อย่างสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) เป็นต้น ซึ่งช่วยยกระดับศักยภาพของอาเซียนในการใช้งานเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพ เช่น การชำระเงินดิจิทัลและการจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นหัวใจของเศรษฐกิจดิจิทัลสมัยใหม่
นอกเหนือจากความร่วมมือระหว่างภาครัฐแล้ว ยังหารือกับภาคเอกชน เช่น การประชุมกับบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่จากสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป (EU) ซึ่งช่วยส่งเสริมการลงทุนและการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้าสู่ภูมิภาคอาเซียน
◉ ยกระดับ สกัดภัยคุกคามไซเบอร์
ความปลอดภัยทางไซเบอร์เป็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่อาเซียนให้ความสำคัญ เนื่องจากการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลย่อมมาพร้อมกับความเสี่ยงด้านความปลอดภัย อาเซียนได้จัดตั้งคณะกรรมการอาเซียนด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ ซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญจากแต่ละประเทศสมาชิก เพื่อทำงานร่วมกันในการป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์ เช่น การหลอกลวงออนไลน์ การโจมตีทางไซเบอร์ และการป้องกันการใช้เทคโนโลยีในทางที่ผิด
การดำเนินงานที่สำคัญ เช่น อาเซียนได้จัดทำแนวทาง 9 ข้อ ที่เป็นกรอบแนวทางสำหรับประเทศสมาชิกในการจัดการและกำกับดูแลโครงสร้างพื้นฐานทางไซเบอร์ของตนเอง เพื่อให้มั่นใจว่ามีมาตรฐานความปลอดภัยที่สูงเพียงพอในการปกป้องข้อมูลและระบบดิจิทัล ขณะเดียวกัน ได้ร่วมมือกับองค์การสหประชาชาติ (UN) ในการจัดทำแนวปฏิบัติและข้อกำหนดการใช้ไซเบอร์สเปซอย่างเหมาะสม โดยเน้นให้รัฐต่างๆ ดำเนินการตามมาตรฐานที่กำหนดเพื่อให้การใช้งานทางไซเบอร์มีความปลอดภัยมากขึ้น
◉ ขยายบรอดแบนด์ ปิดช่องว่างดิจิทัล
หนึ่งในปัญหาที่สำคัญ คือ ช่องว่างทางดิจิทัล (Digital Divide) ที่เกิดขึ้นระหว่างประเทศสมาชิกที่พัฒนาแล้ว และประเทศที่ยังขาดแคลนการเข้าถึงเทคโนโลยีและอินเทอร์เน็ต อาเซียนได้หารือถึงแนวทางในการลงทุนระยะยาว เพื่อปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล เช่น การขยายเครือข่ายบรอดแบนด์ และการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลในโรงเรียนและชุมชน
การลงมือทำที่ชัดเจน เช่น รัฐบาลประเทศสมาชิกต้องลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยี เช่น การขยายเครือข่ายอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ในทุกพื้นที่ ขณะเดียวกัน ให้ความสำคัญกับการสนับสนุนธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม โดยเฉพาะธุรกิจที่นำโดยผู้หญิง ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจของภูมิภาค และจำเป็นต้องเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้น รวมถึง การฝึกอบรมและพัฒนาทักษะทางดิจิทัลสำหรับประชาชน เช่น ในโรงเรียนและสถานที่ทำงาน เพื่อให้สามารถใช้งานเทคโนโลยีได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย
◉ รีสกิล-อัปสกิลบุคลากรสู้โลกดิจิทัล
ในยุคที่เทคโนโลยีและนวัตกรรมเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การฝึกอบรมและพัฒนาทักษะใหม่ๆ จำเป็นอย่างยิ่ง การฝึกอบรมเพื่อเพิ่มทักษะ (Reskilling) และการพัฒนาทักษะใหม่ (Upskilling) เป็นกระบวนการที่ช่วยให้บุคลากรสามารถปรับตัวเข้ากับความต้องการของตลาดงานในยุคดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมและบริการที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีอัจฉริยะ เช่น หุ่นยนต์ AI และระบบอัตโนมัติ
โดยการ Reskilling ช่วยให้บุคลากรที่มีทักษะดั้งเดิม สามารถปรับตัวและเปลี่ยนแปลงไปสู่บทบาทงานใหม่ที่ต้องการทักษะที่แตกต่าง ขณะที่การ Upskilling เป็นการเสริมทักษะให้บุคลากรที่มีความสามารถเดิมอยู่แล้ว เพื่อให้สามารถนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้ในงานที่ทำอยู่ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
น่าสนใจที่อาเซียนพยายามเรียกสปอตไลต์จากทั่วโลก ด้วยการผลักดันเทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างไม่หยุดยั้ง ผสานความร่วมมือกับมหาอำนาจทางเทคโนโลยี เพื่อเสริมสร้างความปลอดภัยไซเบอร์ที่มั่นคง ปกป้องข้อมูลและโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลอย่างเข้มข้น พร้อมเตรียมรับมือทุกภัยคุกคามในยุคดิจิทัล
ขณะเดียวกัน ก็เร่งพัฒนาศักยภาพของบุคลากร ด้วยการรีสกิลและอัปสกิล เพื่อให้ทุกประเทศสมาชิกสามารถก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ไม่ได้เพียงแค่รองรับความท้าทาย แต่ยังเป็นก้าวสำคัญในการสร้างภูมิภาคให้เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัลที่ทรงอิทธิพลบนเวทีโลก