ไทยบุกเวที SICW 2024 ผนึกกำลังสิงคโปร์-อาเซียนสู้ภัยไซเบอร์ ท่ามกลางการแข่งขันภูมิรัฐศาสตร์ที่รุนแรง หวังสร้างความมั่นคงดิจิทัลรับมือภัยคุกคามในอนาคต
พล.อ.ต.อมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) นำทีมผู้แทนไทยร่วมงาน Singapore International Cyber Week (SICW) 2024 และการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ครั้งที่ 9 (AMCC) ระหว่างวันที่ 14-17 ต.ค.67 ณ Sands Expo & Convention Centre ประเทศสิงคโปร์ ภายใต้หัวข้อ การสร้างความไว้วางใจและความปลอดภัยในยุคดิจิทัล (Trust and Security in the Digital Era) ซึ่งมีจุดมุ่งหมายสำคัญในการเสริมสร้างความร่วมมือด้านไซเบอร์ซิเคียวริตี เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นและความมั่นคงในโลกดิจิทัล ท่ามกลางสภาพแวดล้อมทางภูมิรัฐศาสตร์ที่การแข่งขันเข้มข้น เสี่ยงถูกแทรกแซงในระบอบประชาธิปไตยและเศรษฐกิจโลก ความเปราะบางของห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกยังคงเป็นปัจจัยหลักที่ต้องคำนึงถึงในการรักษาความปลอดภัยไซเบอร์
พล.อ.ต.อมร กล่าวว่า สิงคโปร์ก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคง ด้วยแผน "Smart Nation 2.0" ต่อเนื่องจากความสำเร็จของ Smart Nation 1.0 ที่เสริมสร้างความแข็งแกร่งให้สิงคโปร์ ในฐานะศูนย์กลางด้านไซเบอร์ซิเคียวริตี ด้วยการจัดตั้ง "ASEAN CERT" ศูนย์กลางเฝ้าระวังภัยคุกคามไซเบอร์ระดับภูมิภาค เชื่อมโยงความร่วมมือประเทศสมาชิกอาเซียนในการเตือนภัยล่วงหน้าและเตรียมความพร้อมรับมือกับภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้น การดำเนินงานเช่นนี้จะช่วยให้การป้องกันภัยคุกคามไซเบอร์ทำได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
สำหรับเวอร์ชัน 2.0 นี้ สิงคโปร์ยกระดับด้วยการนำปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาผสานกับระบบดิจิทัล ไม่เพียงแค่เสริมความปลอดภัยทางไซเบอร์ แต่ยังเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการภาครัฐให้ประชาชนใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยการพัฒนา AI Security เพื่อป้องกันปัญหาจากการใช้งาน AI ที่อาจเป็นภัยจากการโจมตีทางไซเบอร์ที่ใช้ AI เป็นช่องทาง ทำข้อมูลรั่วไหลหรือกระทบต่อการให้บริการสาธารณะ ดังนั้น การวางมาตรการป้องกันที่เข้มงวดจึงเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อให้ AI ทำงานได้อย่างปลอดภัยและเป็นประโยชน์สูงสุด โดยมีการผลักดันความร่วมมือกับประเทศอาเซียน ในการสร้างแนวทางป้องกันภัยไซเบอร์ที่เกี่ยวข้องกับ AI ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาความมั่นคงทางไซเบอร์ในอนาคต
◉ ดันกฎหมาย เชือดหลอกออนไลน์
ฟาก 'ประเทศไทย'ที่มีพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลอย่างก้าวหน้า โดยเฉพาะการขยายเครือข่าย 5G ที่ครอบคลุมกว่า 90% ของประเทศ พร้อมกับการพัฒนาแอปพลิเคชัน "ไทยดี" (ThaiD) สำหรับพิสูจน์ตัวตนดิจิทัล ช่วยให้ประชาชนทำธุรกรรมและใช้บริการภาครัฐได้อย่างปลอดภัย ปัจจุบันมีผู้ใช้งานกว่า 20 ล้านคน อีกทั้งรัฐบาลเร่งดำเนินนโยบาย Cloud First Policy เพื่อย้ายระบบข้อมูลภาครัฐขึ้นสู่คลาวด์ พร้อมโครงการจัดทำระบบดิจิทัลและเทคโนโลยี เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพทั่วประเทศ (Health Link) ที่นำบิ๊กดาต้ามาพัฒนาระบบสุขภาพ
แต่ความท้าทายด้านการป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์ยังคงมีอยู่ โดยเฉพาะการหลอกลวงบนโซเชียลมีเดีย ซึ่งสร้างความเสียหายแก่ประชาชนจำนวนมาก รัฐบาลจึงออกมาตรการ เช่น การอายัดบัญชีฉ้อโกงอัตโนมัติ และเสริมสร้างความรู้เรื่องภัยไซเบอร์ รวมถึงออกกฎหมายใหม่ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 3 ต.ค.67 ให้ผู้บริโภคที่สั่งซื้อของออนไลน์ สามารถเปิดพัสดุเพื่อตรวจสอบสินค้าได้ก่อนจ่ายเงิน ซึ่งจะช่วยลดปัญหาสินค้าไม่ตรงปก รวมถึงการได้รับสินค้าทั้งที่ไม่ได้สั่งได้ สินค้าไม่ตรงกับที่สั่งซื้อ ชำรุดบกพร่อง ไม่ต้องรับ ไม่ต้องจ่าย
"หนึ่งในความสำเร็จของประเทศไทย ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา คือ การออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ.2562 ซึ่งเป็นกฎหมายที่วางแนวทางในการป้องกันและจัดการภัยคุกคามไซเบอร์ ส่งผลให้ดัชนีความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Global Cybersecurity Index) หรือ GCI ที่จัดทำโดยสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) พบว่า ไทยขยับตำแหน่งจากอันดับที่ 44 ของโลกก่อนช่วงโควิด ขึ้นมาเป็นอันดับที่ 7 ของโลกในปีล่าสุด
ซึ่งการประเมินนี้จะพิจารณาจากหลายปัจจัย เช่น การบริหารจัดการทางกฎหมาย การพัฒนาเทคโนโลยีไซเบอร์ การฝึกอบรมบุคลากรที่เกี่ยวข้อง และการทำงานร่วมกับหน่วยงานระหว่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังมีงานอีกมากที่ต้องทำ เช่น การปิดช่องว่างด้านการใช้เทคโนโลยีที่สะดวกสบายแต่มีความเสี่ยงทางไซเบอร์ ซึ่งต้องใช้การพัฒนาทั้งในด้านกฎหมายและการให้ความรู้แก่ประชาชนควบคู่กันไป" พล.อ.ต.อมร กล่าว
◉ โรแมนซ์สแกมป่วน หลอกโอนเงิน ขู่แฉข้อมูลลับ
อีกการหลอกลวงทางไซเบอร์ที่ไทยยังหนีไม่พ้นคือ "บัญชีม้า" ซึ่งเป็นบัญชีธนาคารที่มิจฉาชีพใช้ในการรับเงินจากการฉ้อโกง เหยื่อมักถูกหลอกให้โอนเงินเข้าบัญชีเหล่านี้ ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อระบบธนาคาร อีกทั้งมีการหลอกลวงผ่านการกู้เงินออนไลน์ โดยมิจฉาชีพมักสร้างแอปพลิเคชันหรือแพลตฟอร์มที่อ้างว่าให้บริการกู้เงินด่วน โดยใช้ดอกเบี้ยต่ำเป็นเหยื่อล่อ หลังจากที่ผู้เสียหายกู้เงินผ่านแอปดังกล่าว ข้อมูลส่วนบุคคล เช่น เบอร์โทรศัพท์ และข้อมูลติดต่อ จะถูกนำไปใช้ในการทวงหนี้หรือใช้ในการหลอกลวงครั้งถัดไป อีกทั้งผู้กู้ยังมักถูกคิดดอกเบี้ยที่สูงกว่าที่โฆษณาไว้ และต้องเจอกับค่าธรรมเนียมซ่อนเร้น ทำให้เกิดการกู้หนี้ยืมสินที่ไม่เป็นธรรม
นอกจากนี้ โรแมนซ์สแกม (Romance Scam) ยังเป็นอีกหนึ่งรูปแบบของการหลอกลวงที่พบมากขึ้น โดยมิจฉาชีพจะใช้โปรไฟล์ปลอมในโซเชียลมีเดีย หรือเว็บไซต์หาคู่เพื่อหลอกลวงเหยื่อให้หลงเชื่อว่า ตนเองมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับเหยื่อ มักจะเป็นการชักชวนให้ส่งเงินหรือของขวัญ โดยอ้างว่า มีปัญหาทางการเงินหรือมีเหตุผลที่ต้องการความช่วยเหลือ หลังจากที่ได้รับเงิน มิจฉาชีพจะหายตัวไปทันที ซึ่งในบางกรณี โรแมนซ์สแกมจะพัฒนาไปสู่การขู่เข็ญเมื่อมิจฉาชีพได้รับภาพถ่ายหรือข้อมูลส่วนตัวของเหยื่อ หากเหยื่อไม่ยอมทำตามคำสั่ง เช่น โอนเงินเพิ่ม มิจฉาชีพจะขู่เผยแพร่ข้อมูลส่วนตัวหรือภาพที่เป็นความลับ โรแมนซ์สแกมเป็นปัญหาที่สร้างความเสียหายไม่เพียงแต่ด้านการเงินเท่านั้น แต่ยังทำให้เหยื่อสูญเสียความเชื่อมั่นและศักดิ์ศรี
ขณะที่ 'สิงคโปร์' เจอการหลอกลวงมากที่สุดผ่าน ฟิชชิ่ง (Phishing) ซึ่งเป็นการโจมตีที่มิจฉาชีพส่งอีเมลหรือข้อความปลอม เพื่อหลอกให้เหยื่อกรอกข้อมูลสำคัญ เช่น รหัสผ่าน บัตรเครดิต หรือข้อมูลธนาคาร การโจมตีเหล่านี้สามารถสร้างความเสียหายให้ทั้งบุคคลและองค์กรขนาดใหญ่ได้
◉ เศรษฐกิจชะลอตัว จุดไฟอาชญากรรมไซเบอร์
ในยุคดิจิทัลที่เทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน ปัญหาอาชญากรรมทางไซเบอร์ได้กลายเป็นประเด็นที่มีความเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและการขาดความรู้เท่าทันของประชาชน หลายคนที่เคยเดินทางผิด เช่น ค้ายาเสพติดหรือขโมยของ ได้หันมาสู่การก่ออาชญากรรมผ่านระบบออนไลน์ เนื่องจากมองว่ามีความปลอดภัยมากกว่า ไม่ต้องเผชิญหน้ากับเหยื่อโดยตรง และยากต่อการติดตามของเจ้าหน้าที่
พล.อ.ต.อมร เล่าว่า หนึ่งในเครื่องมือที่ช่วยให้การก่ออาชญากรรมทางไซเบอร์มีประสิทธิภาพมากขึ้นคือ คริปโตเคอเรนซี่ สกุลเงินดิจิทัลนี้ไม่เพียงแต่ช่วยปกปิดตัวตนของอาชญากร แต่ยังทำให้การติดตามเส้นทางการเงินทำได้ยากขึ้น การโจมตีทางไซเบอร์ เช่น แรนซัมแวร์ หรือการหลอกลวงผ่านโซเชียลมีเดีย เพิ่มจำนวนมากขึ้นตามการเติบโตของคริปโต ทำให้อาชญากรมีโอกาสในการสร้างรายได้สูงขึ้น ขณะที่ความเสี่ยงในการถูกจับกุมกลับต่ำลง
สถานการณ์นี้ไม่ได้เป็นเพียงปัญหาระดับประเทศ แต่ยังเป็นปัญหาระดับโลกที่ส่งผลกระทบในวงกว้าง โดยมีประเด็นหลัก 5 ด้านที่เชื่อมโยงกัน ได้แก่ การหลอกลวงผ่านช่องทางออนไลน์ ภัยพิบัติที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น สังคมที่เริ่มแตกแยก ความไม่มั่นคงทางไซเบอร์ และการขาดโอกาสทางเศรษฐกิจ
การแก้ไขปัญหานี้จำเป็นต้องใช้แนวทางที่คล้ายกับการจัดการโรคระบาด เช่นเดียวกับที่เคยทำในการรับมือกับโควิด-19 โดยเน้นไปที่การป้องกันล่วงหน้า การเพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจให้แก่ประชาชน ควบคู่ไปกับการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด การสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับภัยไซเบอร์และการหลอกลวงออนไลน์เป็นสิ่งสำคัญเพื่อให้ประชาชนสามารถป้องกันตัวเองได้
ในระยะยาว การลดอาชญากรรมทางไซเบอร์จำเป็นต้องอาศัยการพัฒนาความรู้ของประชาชนให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี การรณรงค์ให้ตระหนักถึงภัยคุกคามที่มาพร้อมกับความสะดวกสบายในยุคดิจิทัล และการปรับปรุงกฎหมายให้เข้มงวดและครอบคลุมทุกด้าน เพื่อปิดช่องโหว่ทางดิจิทัลที่อาชญากรอาจใช้ในการก่อเหตุ
จะเห็นได้ว่า ทั้งสิงคโปร์และไทยต่างต้องเผชิญกับความท้าทายด้านความมั่นคงทางไซเบอร์และการพัฒนาเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ในการรับมือกับภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต จำเป็นต้องมีการวางแผนและปรับใช้มาตรการรักษาความปลอดภัยที่เหมาะสมและทันสมัย
นอกจากนี้ การสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนยังเป็นกุญแจสำคัญในการลดความเสี่ยงจากการถูกหลอกลวงทางไซเบอร์ การผสมผสานระหว่างการพัฒนาเทคโนโลยีและการเสริมสร้างความรู้ให้กับสังคมจะช่วยให้เราก้าวสู่อนาคตที่เทคโนโลยีและความปลอดภัยดำเนินควบคู่กันไปอย่างยั่งยืน