xs
xsm
sm
md
lg

"ทีวีดิจิทัล" จมปลัก เปลี่ยนผ่านพังยับ เจอท้าทายไม่สิ้นสุด (Cyber Weekend)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



แม้กาลเวลาจะผ่านไปแค่ไหน แต่ประเทศไทยยังคงติดอยู่ในมหากาพย์การเปลี่ยนผ่านจาก "จานดาวเทียมเก่า" ไปสู่ "ทีวีดิจิทัลภาคพื้นดิน" ที่ดูเหมือนว่าจะไม่มีวันจบสิ้น ไม่ว่าภาครัฐและองค์กรที่เกี่ยวข้องจะพยายามอย่างหนักเพื่อกระตุ้นให้ประชาชนหันมาใช้ระบบใหม่ แต่ก็ต้องเผชิญกับความล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่า ปัญหาโผล่ไม่หยุด ตั้งแต่งบประมาณโครงสร้างพื้นฐานที่สูงถึงหลักพันล้านบาทที่ยังไม่มีทางออก ไปจนถึงปัญหาสัญญาณที่ไม่ครอบคลุมในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ

ทัศนคติของประชาชนที่ยังยึดติดกับระบบดาวเทียมเดิมอย่างเหนียวแน่น ยิ่งทำให้การเปลี่ยนแปลงนี้กลายเป็นฝันร้ายสำหรับผู้ประกอบการ ทีวีดิจิทัล ความพยายามล้มเหลวแบบหมดท่า การดึงดูดให้คนย้ายมาใช้ระบบดิจิทัลเป็นไปอย่างเชื่องช้า เพราะดาวเทียมยังคงให้ความมั่นคงในการรับชมที่ทีวีดิจิทัลไม่อาจเทียบเคียงได้

นายสมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ คณะกรรมการกิจการกระจาย กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านโทรคมนาคม กล่าวว่า ปัจจุบันทีวีดิจิทัลภาคพื้นดินครอบคลุมพื้นที่ได้เพียง 95% ของประเทศ ขณะที่จานดาวเทียมยังคงครองแชมป์ด้วยการครอบคลุม 100% ทั่วประเทศ การครอบคลุมสัญญาณในพื้นที่ชนบทและห่างไกลยังเป็นปัญหาใหญ่ของระบบดิจิทัล ทำให้ผู้ชมในพื้นที่เหล่านั้นยังคงต้องพึ่งพาระบบดาวเทียมอย่างไม่มีทางเลือก ระบบดิจิทัลจึงถูกมองว่าล้มเหลวในการให้บริการที่เสถียร สัญญาณขาดหาย สะดุด แถมยังครอบคลุมไม่ทั่วถึง

สมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ คณะกรรมการกิจการกระจาย กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านโทรคมนาคม
สถิติจาก กสทช. ในปี 2566 ยิ่งตบหน้าความพยายามเปลี่ยนแปลง ด้วยพบว่า 6-10 ล้านครัวเรือนยังคงเลือกใช้ "จานดาวเทียม" เพื่อรับชมโทรทัศน์ แม้ว่าจะมีการรณรงค์และกระตุ้นอย่างหนักเพื่อให้เปลี่ยนมาใช้ระบบดิจิทัล แต่ด้วยต้นทุนมหาศาลในการเปลี่ยนแปลง เช่น การเปลี่ยนฟิลเตอร์ หรืออุปกรณ์ที่รองรับสัญญาณดิจิทัล สำหรับครัวเรือนเหล่านี้ที่สูงถึง 8,000 ล้านบาท จากต้นทุนอุปกรณ์ประมาณ 1,000 บาทต่อครัวเรือน ทำให้ปัญหานี้ยากที่จะได้รับการแก้ไขได้อย่างรวดเร็ว ผู้ประกอบการและภาครัฐยังไร้ความชัดเจนว่าการลงทุนมหาศาลนี้จะสามารถแก้ปัญหาที่ค้างคาอยู่ได้จริงหรือไม่ หรือจะกลายเป็นการลงทุนที่สูญเปล่า

***ดาวเทียม C-Band ยังครองใจ

แม้จะผ่านมากี่สิบปี แต่การรับชมทีวีของคนไทยยังคงพึ่งพาดาวเทียมเป็นหลัก โดยเฉพาะจาก "ไทยคม" ที่ครองตลาดอย่างยาวนาน ใช้ทรานสปอนเดอร์จากดาวเทียม ไทยคม 4 และไทยคม 6 ในการส่งสัญญาณทั้ง C-Band และ Ku-Band ทั่วประเทศ


C-Band เป็นระบบได้รับความนิยมสูงสุด เพราะสามารถครอบคลุมพื้นที่กว้างมาก สัญญาณแข็งแรงและเสถียร ชนิดที่ว่า ฝนตกหนักแค่ไหนก็ไม่มีผลต่อการรับชม ทำให้ประชาชนกว่า 7 ล้านครัวเรือน ยังคงใช้บริการนี้อย่างเหนียวแน่น เพราะความเสถียรเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับการรับชมโทรทัศน์ประจำวัน

ขณะที่ Ku-Band ใช้จานขนาดเล็กกว่า แต่ต้องเจอปัญหาใหญ่ คือ การรบกวนสัญญาณในวันที่ฝนตกหนัก ทำให้ไม่สามารถแข่งขันกับ C-Band ได้ ทำให้ C-Band กลายเป็นฮีโร่ ของการรับชมทีวีในประเทศไทยอย่างไม่มีข้อโต้แย้ง


แต่สถานการณ์ไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด เทคโนโลยี LNB (Low Noise Block) ซึ่งเป็นหัวใจของระบบดาวเทียมกำลังเผชิญกับความจำเป็นในการอัปเกรดให้เข้ากับมาตรฐานใหม่ อุปกรณ์มีราคาสูงและต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญในการติดตั้ง ทำให้การเปลี่ยนแปลงกลายเป็นงานช้าง ทั้งซับซ้อนและยากลำบาก ภาครัฐ เอกชนต้องเข้ามามีบทบาทในการผลักดันเรื่องนี้อย่างจริงจัง และไม่จบแค่ใช้เงินแก้ปัญหา เพราะยังต้องต่อสู้กับกฎหมายในการใช้คลื่นความถี่ ซึ่งต้องได้รับการอนุมัติจาก กสทช. การเปลี่ยนผ่านครั้งนี้จำเป็นต้องวางแผนอย่างรอบคอบ เพื่อให้ระบบทีวีดิจิทัลที่หวังจะเดินหน้าควบคู่กับ 5G ไม่ล้มลงกลางทาง หากผิดพลาด อาจพังทั้งระบบ

***ทีวีดิจิทัลทรุด โฆษณาหาย รายได้หด

การที่ผู้ชมจำนวนมากยังยึดติดกับดาวเทียม ทำให้ทีวีดิจิทัลต้องดิ้นรนสุดตัว การดึงดูดผู้ชมให้ย้ายไปใช้ระบบใหม่ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง ส่งผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจโทรทัศน์ รายได้จากค่าโฆษณาที่เคยเป็นเส้นเลือดหลักของสถานีโทรทัศน์ หดตัวต่อเนื่องอย่างน่ากลัว ปัจจุบันค่าโฆษณาทางโทรทัศน์ในประเทศไทยมีมูลค่ารวมกว่า 60,000 ล้านบาทต่อปี หากจำนวนผู้ชมน้อยลง รายได้โฆษณาก็จะร่วงลงไปอย่างไม่แตะเบรก การคาดการณ์ชี้ว่า หากสถานีโทรทัศน์ไม่สามารถปรับตัวได้ทันกับเทคโนโลยีใหม่ๆ หรือการเข้ามาของบริการสตรีมมิ่งออนไลน์ สถานีเหล่านี้อาจสูญเสียรายได้โฆษณาถึง 5-10% ต่อปี นี่คือสัญญาณแห่งหายนะสำหรับอุตสาหกรรมโทรทัศน์ไทย

**กสทช.ปล่อยหมัดน็อก "ทีวีดิจิทัล"

ไม่เพียงแต่ต้องเจอกับ "แพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง" ที่เข้ามาสรา้งความท้าทายใหม่ที่อาจทำลายสมดุลทั้งวงการ ความรุนแรงครั้งนี้อาจเปลี่ยนทิศทางของตลาดสื่อไทยไปตลอดกาล เนื่องจากพฤติกรรมผู้ชมเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ผู้คนหันมาใช้สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต และคอมพิวเตอร์ในการเสพสื่อมากขึ้น โดยไม่ต้องพึ่งพาทีวีอีกต่อไป "ทีวีดิจิทัลที่เคยเป็นอนาคต กลับกลายเป็นอดีตในพริบตา"

แฟ้มภาพ รายละเอียดมูลค่าการประมูลทีวีดิจิทัล ปี 2556
ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลยังต้องเผชิญกับ "แผนประมูลคลื่นใหม่จาก กสทช." ที่เตรียมนำคลื่นความถี่ที่ใช้ในกิจการดาวเทียมไปใช้ในกิจการโทรคมนาคม เพื่อรองรับ 5G Private Network ในภาคอุตสาหกรรม คลื่นความถี่ย่าน 3500 MHz (3300-4200 MHz) จะถูกนำไปจัดประมูลใน 2 ระยะคือ 3300-3700 MHz ในปี 2570 และ 3700-4200 MHz ในปี 2572 ซึ่งการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อทีวีดิจิทัล "การประมูลนี้อาจเป็นจุดจบของทีวีดิจิทัลหรือไม่?" คำถามนี้ยังคงค้างคาอยู่ในใจของผู้ประกอบการทั้งหลาย

ขณะที่โลกกำลังหมุนไปอย่างรวดเร็ว เทคโนโลยีก้าวล้ำไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง ทีวีดิจิทัลไทยเสี่ยงล้มเหลวหากปรับตัวไม่ทัน อนาคตจึงต้องเผชิญหน้ากับทางเลือกที่ไม่ค่อยมีหวัง ผู้ประกอบการต้องดิ้นรนหาทางรอด จากการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นี้


กำลังโหลดความคิดเห็น