เดลล์ เทคโนโลยีส์ (Dell Technologies) ชี้กระแสปัญญาประดิษฐ์ (AI) วันนี้มีอิมแพกต์ในทางที่ดีต่อธุรกิจอินฟราสตรักเจอร์โซลูชันของเดลล์ในไทย มั่นใจทิศทางบวกยาวถึงปีหน้า 2025 เผยมีท่าไม้ตายคือคอนเซ็ปต์ "เดลล์ เอไอ แฟกทอรี่" (Dell AI Factory) ที่ครบวงจร การันตีลูกค้าสามารถนำมาใช้ผสม AI ในทุกกลุ่มธุรกิจได้รวดเร็ว
ฐิตพล บุญประสิทธิ์ กรรมการผู้จัดการ เดลล์ เทคโนโลยีส์ ในประเทศไทย แสดงจุดยืนว่า Dell Technologies พร้อมขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง AI ในประเทศไทยและอุตสาหกรรมโทรคมนาคมระดับโลก ล่าสุด Dell ได้เผยผลการวิจัยที่ย้ำถึงบทบาทสำคัญของ AI ในการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมโทรคมนาคมและตลาดในประเทศไทยเป็นพิเศษ พบว่าองค์กรในประเทศไทยถึง 99% เชื่อว่า AI จะปฏิวัติอุตสาหกรรม เป็นสถิติที่แซงหน้าค่าเฉลี่ยทั่วโลก (81%) รวมถึงภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและญี่ปุ่น (85%)
ในอีกด้าน Dell ได้ประกาศเปิดตัวโปรแกรมเดลล์ เอไอ ฟอร์ เทเลคอม (Dell AI for Telecom) ซึ่งออกแบบมาเพื่อเร่งการปรับใช้ AI สำหรับผู้ให้บริการด้านการสื่อสาร สอดคล้องกับการศึกษาที่พบว่าแม้ว่าผู้บริหารด้านโทรคมนาคม 48% จะมองว่า AI เป็นเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมมากที่สุดในอีก 5 ปีข้างหน้า แต่ 68% ยังคงดิ้นรนเพื่อให้ทันกับเทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างรวดเร็วและความต้องการของลูกค้า
***องค์กรไทยหวัง AI และ GenAI ช่วยพลิกอุตสาหกรรม
จากผลวิจัยที่ Dell สำรวจผู้มีอำนาจตัดสินใจด้านไอที และผู้มีอำนาจตัดสินใจทางธุรกิจจำนวน 6,600 คน ใน 40 ประเทศ พบว่า 99% ขององค์กรในไทยเชื่อว่า AI จะเข้ามาปฏิรูปอุตสาหกรรม โดย 27% ของผู้ร่วมสำรวจในไทย กำลังเปลี่ยนผ่านจากแนวคิดสู่การนำ GenAI มาใช้งานจริง และ 98% ขององค์กรไทยกล่าวว่าข้อมูลคือหัวใจสำคัญของความสำเร็จด้าน AI ขณะที่ 89% ของผู้ร่วมสำรวจในไทย กล่าวว่าเครื่องมือ AI ช่วยเพิ่มศักยภาพให้มนุษย์ และให้ผลลัพธ์สูงสุด
ฐิตพล บุญประสิทธิ์ กรรมการผู้จัดการ เดลล์ เทคโนโลยีส์ ในประเทศไทย ให้ข้อมูลเพิ่มว่าข้อมูลแสดงให้เห็นว่าบรรดาธุรกิจในประเทศไทยเริ่มตระหนักถึงพลังในการเปลี่ยนแปลงของ AI และ GenAI ที่ให้ศักยภาพสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ปรับปรุงเรื่องความปลอดภัยและยกระดับประสบการณ์ที่เหนือชั้นให้แก่ลูกค้า
"ความท้าทายในขณะนี้ คือ การเปลี่ยนจากแนวคิดสู่การใช้งานจริง และการสร้างระบบนิเวศของพันธมิตรที่เชื่อถือได้คือสิ่งสำคัญยิ่งที่ช่วยให้องค์กรสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ปลอดภัย สามารถปรับขยายเพื่อรองรับนวัตกรรมได้ อีกทั้งช่วยตอบโจทย์ความกังวลใจหลักอย่างความเป็นส่วนตัวของข้อมูล การขาดแคลนบุคลากรที่มีความสามารถที่เหมาะสม และการสร้างความยั่งยืน"
ผลการวิจัย Dell Technologies Innovation Catalyst Research ชี้ว่าใน 99% ขององค์กรไทยที่เชื่อมั่นใน AI นั้น กว่า 91% เป็นองค์กรที่รายงานการเติบโตของรายได้เพิ่มขึ้นในปี 2023 (เพิ่มขึ้น 25%) รายงานชี้ให้เห็นว่า แม้องค์กรส่วนใหญ่มีความเชื่อมั่นในศักยภาพของ AI และ GenAI แต่ระดับความพร้อมขององค์กรในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วล้วนแตกต่างกันไปมาก เช่น เกือบทุกองค์กรในประเทศไทย (98%) กล่าวว่าตัวเองมีจุดยืนที่ดีในการแข่งขันและมีกลยุทธ์ที่แข็งแกร่ง (เอเชียแปซิฟิกและญี่ปุ่น 80% ทั่วโลก 82%) ขณะเดียวกัน ครึ่งหนึ่งผู้เข้าร่วมสำรวจที่เป็นองค์กรในไทยต่างไม่แน่ใจว่าอุตสาหกรรมจะเป็นอย่างไรในอีก 3-5 ปีข้างหน้า (เอเชียแปซิฟิกและญี่ปุ่น 50% ทั่วโลก 48%)
ทุกองค์กร (100%) ยังรายงานถึงความยากลำบากในการตามให้ทันกับสถานการณ์ (เอเชียแปซิฟิกและญี่ปุ่น 59% ทั่วโลก 57%) โดย 40% ของผู้ร่วมการสำรวจในไทยกล่าวว่ายังขาดบุคลากรที่มีความสามารถ (เอเชียแปซิฟิกและญี่ปุ่น 41% ทั่วโลก 35%)
อีก 37% รายงานถึงความกังวลใจเรื่องความเป็นส่วนตัวของข้อมูลและความปลอดภัยทางไซเบอร์ (เอเชียแปซิฟิกและญี่ปุ่น 36% ทั่วโลก 31%) และ 34% ขององค์กรในประเทศไทยรายงานถึงการขาดงบประมาณ (เอเชียแปซิฟิกและญี่ปุ่น 31% ทั่วโลก 29%) ว่าเป็นความท้าทายที่ต้องเผชิญในการขับเคลื่อนนวัตกรรม
นอกจากนี้ 60% ของผู้ร่วมการสำรวจในไทย กล่าวว่า GenAI ให้ศักยภาพที่โดดเด่นในการปฏิรูปการทำงาน ช่วยสร้างคุณค่าในการปรับปรุงการรักษาความปลอดภัยไอที (เอเชียแปซิฟิกและญี่ปุ่น 51% ทั่วโลก 52%) และ 65% อ้างถึงการสร้างผลลัพธ์ที่ดี (เอเชียแปซิฟิกและญี่ปุ่น 53% ทั่วโลก 52%) ขณะที่ 62% ของผู้ร่วมการสำรวจในไทย อ้างถึงศักยภาพที่ช่วยปรับปรุงประสบการณ์ลูกค้าได้ดีขึ้น (เอเชียแปซิฟิกและญี่ปุ่น 51% ทั่วโลก 51%)
ที่สำคัญ ผู้ร่วมการสำรวจยังตระหนักดีถึงความท้าทายที่ต้องรับมือ 88% ขององค์กรในไทยกลัวว่า AI จะนำพาปัญหาใหม่ๆ ด้านความปลอดภัยภัยและความเป็นส่วนตัวมาด้วย (เอเชียแปซิฟิกและญี่ปุ่น 69% ทั่วโลก 68%) และ 90% ของผู้ร่วมการสำรวจในไทย (เอเชียแปซิฟิกและญี่ปุ่น 76% ทั่วโลก 73%) เห็นพ้องว่าข้อมูลและทรัพย์สินทางปัญญาในองค์กรตนมีค่ามากเกินกว่าจะเอามาไว้ในเครื่องมือ GenAI ที่บุคคลที่สามสามารถเข้าถึงได้
***ควง NVIDIA ปั้น Dell AI Factory บุกโทรคมนาคม
สำหรับโค้งสุดท้ายปี 2024 และเปิดปี 2025 เจ้าพ่อไอทีสัญชาติอเมริกันวางแผนขับเคลื่อนภาคโทรคมนาคมไทยสู่ยุค AI โดยแจ้งเกิดโปรแกรม Dell AI for Telecom หวังช่วยโอเปอเรเตอร์ลดความซับซ้อนและเร่งการนำ AI มาใช้งาน คู่กับการขยายความร่วมมือกับผู้ผลิตชิปอย่างเอ็นวิเดีย (NVIDIA) เพื่อปฏิรูปการดำเนินงานของเครือข่ายโทรคมนาคมด้วยโซลูชัน AI ที่สร้างบน Dell AI Factory ร่วมกับ NVIDIA
การพุ่งเป้าที่ตลาดโทรคมนาคมของ Dell สอดคล้องกับการศึกษาล่าสุดของ MeriTalk study ที่พบว่า 48% ของผู้บริหารด้านโทรคมนาคม มองว่า AI เป็นเทคโนโลยีที่สร้างการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมได้มากที่สุดภายใน 5 ปีข้างหน้า แต่กว่า 68% รู้สึกว่าองค์กรของตัวเองยังต้องดิ้นรนเพื่อก้าวให้ทันเทคโนโลยีและความต้องการของลูกค้าที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว
โปรแกรม Dell AI for Telecom ที่เป็นส่วนหนึ่งของ Dell AI Factory จึงหวังช่วยตอบโจทย์ความท้าทายเหล่านี้ ด้วยการนำความเชี่ยวชาญด้าน AI มาผสมกับระบบโครงสร้างพื้นฐานและงานบริการไอที แล้วเติมซอฟต์แวร์ และชิปที่ครอบคลุมระบบนิเวศ AI ทั้งหมดมารวมไว้ด้วยกัน โดยโปรแกรมนี้จะพัฒนาและนำโซลูชัน AI มาใช้ภายในองค์กร เพื่อให้ผู้ให้บริการด้านการสื่อสารสามารถใช้โซลูชัน AI เพิ่มประสิทธิภาพเครือข่าย ปรับปรุงการให้บริการลูกค้าและสร้างคุณค่าจากเครือข่ายเอดจ์ปลายทางได้มากยิ่งขึ้น
สำหรับประเทศไทย Dell AI Factory ถูกมองว่าจะเป็นแกนหลักที่เพิ่มความสามารถในการแข่งขันของ Dell ในตลาด AI Infrastructure ตลอดช่วงปีหน้า 2025
"เรามีคอนเซ็ปต์ของ Dell AI Factory แบบครบครัน ให้ลูกค้าสามารถนำมาใช้ และอิมพลีเมนต์เทคโนโลยี AI ในกลุ่มธุรกิจต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว"