xs
xsm
sm
md
lg

บอย ปกรณ์ โผล่ทุกอุปกรณ์! ทำไมหลายคนเห็นโฆษณาเกมแบบ 24 ชั่วโมง?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผ่าปรากฏการณ์ “บอย (โผล่ทุกอุ) ปกรณ์” ไม่ว่าจะเช้า สาย บ่าย หรือเย็น โฆษณา เกมมือถือ "Last War:Survival Game" ที่ดึงเอาหนุ่มบอยมาเป็นพรีเซ็นเตอร์ นั้นถูกโชว์ให้ชาวเน็ตได้เห็นผ่านตาแบบถี่ยิบ ภาวะการครองทุกอุปกรณ์เราของบอย ปกรณ์ สามารถสะท้อนความหมายในวงการดิจิทัลได้หลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องอนาคตของสมรภูมิโฆษณาออนไลน์

หลายสัปดาห์ที่ผ่านมา บอย ปกรณ์ ฉัตรบริรักษ์ ปรากฏตัวแบบมาราธอนผ่านโฆษณาเกมบนหน้าจอแทบทุกขนาด ทำให้ผู้ใช้สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต หรือทีวีได้เห็นใบหน้าของบอย ปกรณ์ที่ดูเหมือนจะไปอยู่ทุกที่ทุกแพลตฟอร์ม บางคนได้เห็นบอยระหว่างการเล่นเกม หรือแม้กระทั่งในช่วงพักชมวิดีโอออนไลน์ ซึ่งทั้งหมดไม่ใช่ความผิดปกติ แต่เป็นวงลูปของการโฆษณาในโลกยุคใหม่ที่ทุกสิ่งเชื่อมต่อกัน

ก่อนหน้านี้ การเห็นนักแสดงที่มีชื่อเสียงในโฆษณานั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะดาราดังจะมอบใบหน้าและบุคลิกของตัวเองให้แก่แบรนด์ต่างๆ มานานแล้ว อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ทำให้การตลาดรูปแบบใหม่นี้แตกต่างออกไป คือ *ความถี่* และ *ความแพร่หลาย* ที่ผู้บริโภคได้รับจากโฆษณาเหล่านี้ ทำให้ใบหน้าของนักแสดงชื่อดังไม่ได้ปรากฏแค่ในโฆษณาทางทีวีหรือสื่อสิ่งพิมพ์แบบดั้งเดิมเท่านั้น แต่ไปปรากฏอยู่ทุกหนทุกแห่งในแพลตฟอร์มต่างๆ

บอย ปกรณ์ ในโฆษณาเกม Last War:Survival Game ที่ทำรายได้รวมกว่า 900 ล้านเหรียญ (ประมาณ 29
การไปทั่วทุกแพลตฟอร์มของหนุ่มบอยชี้ให้เห็นถึงแนวทางการตลาดดิจิทัล นั่นคือ แบรนด์ต่างๆ ที่ต้องการหารายได้จากพลังเซเลบมักใช้ประโยชน์จากกลยุทธ์โฆษณาแบบกำหนดเป้าหมายขั้นสูงบนหลายแพลตฟอร์ม ซึ่งในปัจจุบันที่ข้อมูลกลายเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญในวงการโฆษณา นักการตลาดจะสามารถติดตามและกำหนดกลุ่มเป้าหมายผู้ใช้ในอุปกรณ์ต่างๆ รวมถึงปรับแต่งโฆษณาให้เหมาะสมได้

วิธีนี้ช่วยให้แบรนด์สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการ ด้วยนักแสดงคนเดียวกัน และข้อความแบบเดียวกัน ทำให้เกิดการ “ไปทั่วทุกหนทุกแห่ง” ของแบรนด์ ซึ่งเทคโนโลยีเบื้องหลังของปรากฏการณ์นี้ คือระบบตั้งโปรแกรมการโฆษณา ที่จะมีการทยอยเสนอราคาแบบอัปเดตเรียลไทม์ ให้นักการตลาดปรับแผนได้ตามพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ทำให้แสดงโฆษณาได้ตรงกับผู้บริโภคที่มีโอกาสเป็นลูกค้า ในเวลาที่เหมาะสม

***ทำไมจึงเห็น บอย ปกรณ์ บ่อยมาก?

ในโลกของโฆษณาดิจิทัล สิ่งที่ทำให้แคมเปญมีประสิทธิภาพเป็นพิเศษ คือความแม่นยำในการกำหนดเป้าหมายผู้ชม ดังนั้นเมื่อสตูดิโอ First Fun ต้นสังกัด Last War:Survival Game ต้องการเข้าถึงคนเล่นเกม เกมเมอร์ส่วนใหญ่ในไทยจึงมีโอกาสได้เห็นโฆษณานี้

วันนี้คนไทยใช้เวลามากมายกับเกมมือถือและเดสก์ท็อป ตามข้อมูลจากปับลิซิส เพลย์ (Publicis Play) ตลาดเกมมิ่งในไทยนั้นมีมูลค่า 33,000 ล้านบาท มีอัตราการเติบโตเร็วเป็นอันดับ 2 ของภูมิภาคอาเซียน และปัจจุบัน คนไทยกว่า 40 ล้านคนเล่นเกม

บอย (โผล่ทุกอุ) ปกรณ์
เม็ดเงินมหาศาลในวงการเกมทำให้ “โฆษณาเกม” แทรกซึมไปทั่วทุกมุมที่มีผู้บริโภคอยู่ ขณะเดียวกัน นักโฆษณาก็ทราบดีว่าผู้บริโภคมักใช้เวลาหลายชั่วโมงบนอุปกรณ์ของตัวเองในแต่ละวัน ไม่ว่าจะเล่นเกม ดูวิดีโอ หรือท่องโซเชียลมีเดีย การยิงโฆษณาในทุกจุดสัมผัสเหล่านี้จึงเกิดขึ้น ทำให้แบรนด์เพิ่มโอกาสที่ผู้บริโภคจะจดจำได้มากขึ้น รวมถึงเสริมสร้างการรับรู้ และกระตุ้นให้ผู้บริโภคคลิกหรือรับบริการในที่สุด

นี่จึงเป็นที่มาของปรากฏการณ์ “บอย (โผล่ทุกอุ) ปกรณ์” แน่นอนว่าจะไม่ใช่แค่เกมพี่บอย แต่หลายแบรนด์อาจพร้อมเทเงินเพื่อเข้าถึงผู้ชมแบบ 24 ชั่วโมงทุกวันในลักษณะเดียวกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น