เกมชิงวงโคจรร้อนแรง! กสทช.สมภพ ปักหมุด 7 ต.ค.67 เปิดทางเอกชนชิงวงโคจรดาวเทียม เล็งประกาศผล 17 ต.ค.67 ก่อนวงโคจร 50.5 สิ้นสุดสิทธิ 27 พ.ย.67
นายสมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ คณะกรรมการกิจการกระจาย กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านโทรคมนาคม เปิดเผยว่า กสทช. เตรียมเปิดรับคำขอจัดสรรวงโคจรดาวเทียมในตำแหน่ง 50.5, 51 และ 142 องศาตะวันออก จากภาคเอกชนที่สนใจในวันที่ 7 ต.ค.67 หลังจากประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตลงในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 26 ก.ย.67 โดยผู้ที่สนใจสามารถยื่นคำขอรับอนุญาตได้ในช่วงระยะเวลาดังกล่าว
◉ ขั้นตอนการพิจารณาและการคัดเลือก
วันที่ 8-10 ต.ค.67 กสทช. จะตรวจสอบคุณสมบัติและข้อเสนอจากผู้ที่ยื่นคำขอ
วันที่ 11 ต.ค.67 คณะกรรมการจะประเมินและเจรจาข้อเสนอ
วันที่ 16 ต.ค.67 ผลการพิจารณาจะถูกนำเสนอในที่ประชุม กสทช. เพื่อคัดเลือกผู้ได้รับอนุญาต
วันที่ 17 ต.ค.67 ประกาศรายชื่อผู้ได้รับใบอนุญาต
ทั้งนี้ หากไม่สามารถประกาศรายชื่อได้ทันวันที่ 16 ต.ค.67 การประกาศจะถูกเลื่อนไปที่วันที่ 24 หรือ 25 ต.ค.67
◉ ตำแหน่งวงโคจร 50.5 องศา เสี่ยงหลุดสิทธิ
นายสมภพ กล่าวว่า วงโคจรในตำแหน่ง 50.5 องศาตะวันออก มีเวลาสิ้นสุดสิทธิในวันที่ 27 พ.ย.67 ตามที่สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) กำหนด หากไม่มีผู้ใช้สิทธิภายในเวลาดังกล่าว วงโคจรนี้จะหลุดไป กสทช. จึงเร่งดำเนินการทุกทางเพื่อไม่ให้สูญเสียวงโคจรนี้
◉ กระบวนการที่ผ่านมา
- คณะอนุกรรมการด้านกิจการดาวเทียมได้พิจารณาร่างหลักเกณฑ์ 2 ครั้ง ในการประชุมวันที่ 9 และ 16 ส.ค.67
- กสทช. พิจารณาร่างหลักเกณฑ์ในการประชุมวันที่ 29 ส.ค.67
- รับฟังความเห็นสาธารณะระหว่างวันที่ 4-10 ก.ย.67
- ร่างหลักเกณฑ์ฉบับแก้ไขได้รับการพิจารณาในการประชุมวันที่ 16 ก.ย.67 และ กสทช. เห็นชอบในการประชุมวันที่ 18 ก.ย.67
"การจัดสรรวงโคจรนี้จะต้องดำเนินการอย่างโปร่งใสและทันเวลา เพื่อลดความเสี่ยงที่จะสูญเสียตำแหน่งวงโคจรที่สำคัญนี้" นายสมภพ กล่าว
◉ สาระสำคัญของประกาศ
สำหรับประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม ในตำแหน่ง 50.5, 51 และ 142 องศาตะวันออก เปิดโอกาสให้ผู้สนใจเข้าร่วมเสนอแผนงานเพื่อรับสิทธิสำคัญนี้ โดยไม่กำหนดราคาขั้นต่ำในการอนุญาต และไม่มีการจัดชุดของข่ายงานดาวเทียม
การอนุญาตจะดำเนินการผ่านการพิจารณาเปรียบเทียบข้อเสนอของผู้สมัคร โดยต้องผ่านเกณฑ์การพิจารณาอย่างเข้มงวด ซึ่งมีเงื่อนไขสำคัญดังนี้
- ความพร้อมในการรักษาสิทธิใช้วงโคจรดาวเทียม (40%)
- ประสบการณ์ในการดำเนินโครงการที่เกี่ยวข้อง (25%)
- ความสามารถด้านการเงินและข้อเสนอการวางหลักประกัน (20%)
- ข้อเสนอผลตอบแทนให้แก่รัฐ (15%)
ทั้งนี้ ผู้ได้รับอนุญาตต้องเสนอผลตอบแทนให้แก่รัฐไม่น้อยกว่าร้อยละ 0.25 พร้อมจัดให้มีดาวเทียมของตัวเองหรือมาตรการเพื่อรักษาสิทธิตามระยะเวลาที่ได้รับอนุญาต ขณะที่ การพิจารณาแต่ละเกณฑ์จะต้องได้คะแนนไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของแต่ละหัวข้อ เพื่อให้ผ่านการคัดเลือก ผู้สนใจสามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติม และเงื่อนไขการสมัครได้จากประกาศของ กสทช.