xs
xsm
sm
md
lg

กูเกิลประกาศลงทุน 36,000 ล้านบาท ตั้งดาต้าเซ็นเตอร์ในไทย กระตุ้นเศรษฐกิจ 1.4 แสนล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กูเกิล (Google) ประกาศลงทุนโครงสร้างพื้นฐานระบบคลาวด์ (Cloud Region) พร้อมสร้างดาต้าเซ็นเตอร์ในพื้นที่กรุงเทพฯ และ ชลบุรี ด้วยเม็ดเงินลงทุนกว่า 36,000 ล้านบาท คาดช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจประมาณ 1.4 แสนล้านบาท สร้างงาน 70,000 ตำแหน่งใน 5 ปี

แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลของกูเกิล จะช่วยผลักดันให้ไทยก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางด้านดิจิทัลของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้อย่างรวดเร็ว และขอขอบคุณความพยายามในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาในการฝึกอบรมทักษะดิจิทัลที่จำเป็นให้แก่คนไทยหลายล้านคน

“การลงทุนในศูนย์ข้อมูล และโครงสร้างพื้นฐานระบบคลาวด์ ของกูเกิลในกรุงเทพฯ และชลบุรี ควบคู่ไปกับการพัฒนาความเชี่ยวชาญด้านการประมวลผลคลาวด์ และ AI สอดกล้องกับนโยบายคลาวด์เป็นหลักของรัฐบาล และจะช่วยปลดล็อกโอกาสทางเศรษฐกิจ พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยทุกคน”



รูธ โพรัท ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการลงทุน Alphabet และ Google กล่าวว่า การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของกูเกิลในประเทศไทย จะช่วยขยายโอกาสให้คนไทยในยุคดิจิทัล โดยการลงทุนนี้จะช่วยส่งเสริมธุรกิจไทย นวัตกร และชุมชน ให้เข้าถึงประโยชน์ของเทคโนโลยีคลาวด์ และปัญญาประดิษฐ์ (AI)

ทั้งนี้ จากการศึกษาของดีลอยท์ คาดว่าการลงุทนโครงสร้างพื้นฐานจะมีส่วนช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจประมาณ 1.4 แสนล้านบาท แก่จีดีพีประเทศไทยภายในปี 2572 พร้อมสร้างตำแหน่งงานโดยเฉลี่ย 14,000 ตำแหน่งต่อปีในช่วงปี 2568-2572 หรือกว่า 70,000 ตำแหน่ง ในช่วง 5 ปีข้างหน้า

สำหรับจุดเริ่มต้นของการประกาศเข้ามาลงทุนตั้งศูนย์ข้อมูล (Data Center) และโครงสร้างพื้นฐานระบบคลาวด์ (Cloud Region) ของกูเกิล เกิดขึ้นตั้งแต่การประกาศในปี 2565 ต่อเนื่องด้วยการทำข้อตกลงร่วมกับรัฐบาลในเดือนพฤศจิกายน 2566 ซึ่งเป็นผลมาจากการที่รัฐบาลเร่งผลักดันนโยบายการใช้งานระบบคลาวด์เป็นหลัก (Cloud-First Polocies) รวมถึงการลงทุนพัฒนาทักษะดิจิทัลให้แก่ทั้งบุคลากรภาครัฐ และประชาชนอย่างต่อเนื่อง

โดยโครงสร้างพื้นฐานระบบคลาวด์จะตั้งขึ้นในกรุงเทพฯ และศูนย์ข้อมูลตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ (WHA) ในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor - EEC) จังหวัดชลบุรี ซึ่งจะมาช่วยรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นของการใช้งานกูเกิลคลาวด์ (Google Cloud) และ AI รวมถึงบริการต่างๆ ของกูเกิลซึ่งเป็นที่นิยมในไทยทั้งกูเกิล เสิร์ช กูเกิลแมปส์ และกูเกิล เวิร์กสเปซ

ขณะเดียวกัน การเข้ามาลงทุนในครั้งนี้นับเป็นการต่อยอดการลงทุนของกูเกิลตลอดระยะเวลาเกือบ 13 ปีที่เข้ามาดำเนินการในประเทศไทย ซึ่งในปี 2565 ผลิตภัณฑ์ และโครงการต่างๆ ของกูเกิล สนับสนุนให้เกิดการจ้างงานในประเทศถึง 250,000 ตำแหน่ง และสร้างผลประโยชน์ทั้งทางตรง และทางอ้อมให้ภาคธุรกิจไทยไปแล้วกว่า 4,300 ล้านเหรียญ (ราว 1.38 แสนล้านบาท)

นอกจากนี้ ยังมีการลงทุนต่อเนื่องในโครงการด้านความรู้เท่าทัน AI (AI Literacy) ซึ่งในช่วง 5 ปีที่ผ่านมากูเกิล ฝึกอบรมคนไทยทั้งในกลุ่มของนักเรียน นักการศึกษา ผุ้ประกอบการ SME และนักพัฒนาซอฟต์แวร์ไปมากกว่า 3.6 ล้านคน

พร้อมกันนี้ กูเกิลได้วางแผนลงทุน และสนับสนุนในการทำให้ทักษะดิจิทัลเป็นสิ่งที่ทุกคนเข้าถึงได้ อย่างการร่วมพัฒนาทักษะด้าน AI ในไทย ผ่านองค์กรในประเทศ เพื่อร่วมมุ่งผลักดันประเทศไทยสู่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างไปสู่ระบบดิจิทัล ด้วยการส่งเสริมคนไทย 150,000 คนภายในปี 2569

รวมถึงการทำงานร่วมกับพันธมิตรในไทย ในการฝึกโมเดลภาษาขนาดใหญ่ (Large Language Model - LLM) ด้วยการเข้าถึงชุดข้อมูลภาษาไทยแบบโอเพ่นซอร์ส ที่จะช่วยพัฒนาโมเดลภาษาให้เข้าใจบริบททางวัฒนธรรม ภายใต้โครงการซีลด์ (SEALD) ที่ถูกริเริ่มโดย AI Singapore เพื่อศึกษาภาษาที่ใช้ในอาเซียนร่วมกัน


อย่างไรก็ตาม กูเกิลนับเป็นบริษัทเทคโนโลยีระดับโลกรายที่ 2 ที่ประกาศถึงเม็ดเงินลงทุนดาต้าเซ็นเตอร์ในประเทศไทย ต่อจากอเมซอน เว็บ เซอร์วิส (AWS) ที่ประกาศลงทุนในไทย 1.9 แสนล้านบาทภายในปี 2580 เมื่อช่วงกลางปี 2567 ที่ผ่านมา ก่อนจะเริ่มให้บริการ AWS Asia Pacific (Bangkok) Region ในช่วงต้นปี 2568

ขณะที่ฝั่งของไมโครซอฟท์ (Microsoft) แม้จะมีการมาเยือนประเทศไทยของซีอีโอ ไมโครซอฟท์ สัตยา นาเดลนา เมื่อวันที่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมา และประกาศตั้งดาต้าเซ็นเตอร์ในไทย แต่ยังไม่มีการเปิดเผยเม็ดเงินลงทุนที่ชัดเจน เนื่องจากยังอยู่ระหว่างการศึกษาโมเดลเช่าใช้งานแทน ไม่ใช้การลงทุนสร้าง ทำให้ไม่สามารถประกาศรายละเอียดที่ชัดเจนออกมาได้


กำลังโหลดความคิดเห็น